Branding

วิชั่น ‘ไทยเบฟ 2025’ ลุยอาเซียน+6 มุ่งพัฒนา ‘ไอที-คน-แบรนด์’

หลังจากก้าวเข้าสู่โค้งสุดท้ายของวิสัยทัศน์ 2563 ที่ประกาศไว้ในปี 2557 ที่สามารถขับเคลื่อนและประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ด้วยผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2562 ถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีรายได้รวมอยู่ที่ 205,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.2% และกำไรสุทธิ 21,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.1% ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มอันดับ 5 ในเอเชีย และอันดับ 1 ใน อาเซียน

1570097256418

ล่าสุด นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจเบียร์ ได้ออกมาประกาศวิสัยทัศน์ 2025 (ปี 2578) โดยกำหนดเป็นแผน 3 ปี 2 แผน แบ่งเป็น ปี 2020- 2022 เป็นแผน 3 ปีแรก และ ปี 2022 – 2025 เป็นแผน 3 ปีที่สอง ซึ่งจะเน้นความเชื่อมโยงของการก้าวผ่านจากวิสัยทัศน์ปี 2020 ไปยังปี 2025 โดยปี 2020 จะเป็นฐานในการสร้างศักยภาพให้ก้าวกระโดดเติบโตต่อไปในปี 2025

นายฐาปนกล่าวว่า การจะไปถึงวิสัยทัศน์ปี 2025 นั้น จะให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องหลักที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล และการพัฒนาคน โดยวางแผงานด้านไอทีไปจนถึงปี 2050 และกำหนดแผนพัฒนาคนไปจนถึงปี 2050 เพื่อพัฒนาระบบไอทีให้ทันกับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในยุคดิจิทัล

“โลกเปลี่ยนไป คนเราต้องพร้อม ที่ต้องกำหนดแผนพัฒนาคนไปถึงปี 2050 เพราะคนที่จะเป็นผู้บริหารในปี 2050 นับจากนี้ไปอีก 30 ปี คือคนที่เข้ามาทำงานอายุ 20 ปีในตอนนี้ และจะมีอายุ 50 ปี ในปร 2050 จึงต้องพัฒนากลุ่มคนเหล่านี้ตั้งแต่วันนี้ไปตลอด 30 ปี และมีคนอีก 60,000 คนที่ต้องเตรียมรองรับกับเทคโนโลยีที่จะเข้ามาในระบบงานของเรา ซึ่งคนเหล่านี้ต้องมีทั้งการเพิ่มทักษะใหม่ การพัฒนาทักษะงานเดิมที่ต้องเพิ่มความสามารถ”นายฐาปนกล่าว

นอกจากนี้ เป้าหมายของไทยเบฟฯ จากปัจจุบันที่เป็นผู้นำตลาดอาเซียน ตามวิชั่นปี 2020 จากนี้ไปจะมองไปไกลกว่าอาเซียนที่มีประชากร 700 ล้านคน นักท่องเที่ยวราว 120 ล้านคน นั่นคือการมองไปถึงอาเซียน + 6 หรืออาเซ็ป ที่รวมอินเดียและจีน ทำให้เป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรสัดส่วนราว 50% ของประชากรทั้งโลก และมีประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเช่น เมียนมาร์ 7.45%, กัมพูชา 7.2% ลาว 7.1% และเวียดนาม 6.2%

1570097257620

 

“แผน 5 ปีจากนี้ จะกลับมาเน้นตลาดที่คุ้นเคยและมีการเติบโต โดยจะซูมตลาดให้ชัดขึ้น โดยเฉพาะในไทย เวียดนาม และเมียนมาร์ ขณะที่ในปีนี้จะใช้งบลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท”นายฐาปนกล่าว

ขณะเดียวกัน การดำเนินงานเพื่อไปสู่เป้าหมายปี 2025 จะยังคงใช้ 5 แกนหลักจากวิสัยทัศน์ 2020 นั่นคือ Growth การเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ, Diversity ความหลากหลายของสินค้าและตลาด, Brand การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง และ Reach การเข้าถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งคู่ค้าและลูกค้า โดยฝ่ายการตลาดและการขายต้องทำงานควบคู่กันอย่างใกล้ชิด เพิ่มความเข้าใจผู้บริโภคและเข้าถึงลูกค้า สุดท้ายคือ Professionalism ความเป็นมืออาชีพ

พร้อมกันนี้ ยังมองเทรนด์ในอนาคตที่จะเข้ามามีผลต่อธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า, การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, การเปิดเสรีทางการค้า รวมถึงการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจของโลกฝ่ายโครงการสำคัญต่างๆ เช่น Belt Road Inititive ของประเทศจีน เพื่อจับตาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและพัฒนาธุรกิจในสอดคล้อง หนึ่งในนั้นคือ การเน้นธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และขยายตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมองโอกาสซื้อกิจการเครื่องดื่มใหม่ๆ เพื่อสานเป้าหมายการเป็นผู้นำตลาดเอเชีย เช่น การซื้อไซง่อนเบียร์ ในเวียดนามเมื่อปลายปี 2560 การซื้อสุราแกรนด์ รอยัล ของกลุ่มแกรนด์ รอยัล ในเมียนมาร์ เป็นต้น

ขณะที่ในแต่ละกลุ่มธุรกิจนั้น เริ่มจากกลุ่มธุรกิจสุรา ซึ่งในช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาผลิตภัณท์อย่างต่อเนื่อง โดยในประเทศไทย ได้เพิ่มความเป็นเอกลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์สุราขาวรวงข้าวในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเปลี่ยนมาใช้ขวดใหม่ที่มีการพิมพ์นูนคำว่า “รวงข้าว” ลงไปบนขวด เพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเพิ่มขึ้น ในส่วนของสุราสีหงส์ทอง จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ขนาดใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สุราหงส์ทองขนาด 1 ลิตรในเดือนนี้

1200px ThaiBev Logo.svg

นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มตราสินค้า Kulov ในช่วงต้นปีงบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่ KULOV Red Blast RTD และ KULOV Vodka ขนาด 700 ml และในปีงบประมาณหน้า จะเปิดตัวสินค้าใหม่สู่ตลาด ได้แก่ KULOV Lemon Pop RTD และ KULOV Vodka ขนาด 1 ลิตร ในส่วนตลาดเมียนมาร์ พบว่า แกรนด์ รอยัล มียอดขายทะลุ 10 ล้านลัง เช่นเดียวกันสำหรับตลาดสุราพรีเมี่ยมจากสกอตแลนด์ บริษัท อินเวอร์ เฮาส์ ที่ปรับโฉมสุราซิงเกิ้ลมอลต์ ให้ทันสมัยและพรีเมี่ยมยิ่งขึ้น

ในส่วนของสายธุรกิจเบียร์ พบว่าภาพรวมตลาดเบียร์ในประเทศไทยปี 2019 เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดทุ่มงบกว่า 1,100 ล้านบาท สนับสนุนสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2559 จนถึง ปี 2568) พร้อมเตรียมกิจกรรมฉลองช้างครบรอบ 25 ปี เปิดตัวเบียร์ “ช้าง 25 ปี โคลด์ บริว ลาเกอร์” นวัตกรรมการกรองเบียร์โดยใช้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 0 องศา และจะยัเดินหน้าลุยธุรกิจเบียร์และสานต่อกิจกรรมการตลาดและกิจกรรมด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

ก้าวสำคัญของเบียร์ช้างในรอบปีที่ผ่านมาคือ การเริ่มผลิตเบียร์ช้างในโรงเบียร์ Emerald Brewery ในสหภาพเมียนมาร์ เสริมสร้างจุดยืนที่แข็งแกร่งให้กับไทยเบฟฯ ในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยร่วมกับ บริษัท เฟรเซอร์ และนีฟ จำกัด สร้างโรงงานผลิตเบียร์ช้างที่เขตชุมชนเลกู เมืองย่างกุ้ง มีกำลังการผลิตปีละประมาณ 50 ล้านลิตร เพื่อจัดจำหน่ายทั่วประเทศใน 5 รูปแบบ คือ แบบขวดปริมาณ 320 มล. และ 620 มล. ,แบบกระป๋อง 330 มล. และ 500 มล. รวมทั้งแบบถังปริมาณ 30 ลิตร

ในส่วนของซาเบโก้ เบียร์ เบฟเวอเรจ คอเปอเรชั่น อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นบริษัทที่รวมข้อมูลเชิงลึกของท้องถิ่น มีความภาคภูมิใจในบริษัท และเคารพในวัฒนธรรมเวียดนาม และเปิดรับแนวทางปฏิบัติและนวัตกรรมสากล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ จะสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้กับฐานธุรกิจในเวียดนาม และเมื่อพร้อมแล้วก็จะสามารถสู่ตลาดโลกต่อไป โดยแนวทางธุรกิจของ ซาเบโก้ จะเน้นทั้งด้านการขาย, การลงทุนในตราสินค้า, การผลิต ที่ก่อสร้างโรงเบียร์แห่งที่ 26 เสร็จสิ้น, ด้านซัพพลายเชน, ต้นทุน และโครงสร้างเงินเดือนใหม่

72418

พร้อมกันนี้ ไซง่อนเบียร์ยังได้เปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 เพื่อฟื้นคืนภาพลักษณ์ให้ดูใหม่แก่เบียร์ไซง่อน เป็น Rising Spirit ของคนรุ่นใหม่ในเวียดนาม โดยใช้มังกรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเวียดนามที่กำลังเติบโต

สำหรับกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ พบว่ามีผลประกอบการดีขึ้น 42.6% จากปีต่อปี โดยเน้น 3 กลุยทธ์หลักคือ การขายสินค้าที่เพิ่มกำไรสูงขึ้น, การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางจำหน่ายที่ให้ผลกำไรเพิ่มขึ้น และ ระบบจัดการด้วยการมองหาวิธีการประหยัดต้นทุนที่สูงขึ้นทั่วทั้งระบบ และในส่วนของภายนอกเน้นเรื่องการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเห็นได้จาก ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลต่ำและไม่มีน้ำตาล ได้รับความนิยมมากขึ้น

ปิดท้ายที่สายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย ในปีงบประมาณที่ผ่านมา  ช่วง 9 เดือนของปี (ต.ค 61 – มิ.ย. 62) ผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งยอดขายและกำไร โดยปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโต ได้แก่ 1.การขยายสาขาอย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด ซึ่งในปีนี้กลุ่มธุรกิจอาหารเปิดสาขาใหม่ไปทั้งสิ้น 59 สาขา 2. การทำการตลาดและสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง 3. การให้ความคุ้มค่ากับผู้บริโภค  4. การให้บริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล แฃะ 5. มุ่งเน้นพัฒนาด้านต่าง ๆ ภายในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ของงานให้ดียิ่งขึ้น โดยเปิดสาขาใหม่ 59 สาขา จากแบรนด์ทั้งหมด 23 แบรนด์ จำนวนสาขารวม 620 สาขา

Avatar photo