Business

ผงะ!! ‘มนัญญา’ บุกบริษัทเอกชนตรวจสต็อกสารพิษพบพิรุธอื้อ

“มนัญญา” เดินหน้าแบนสารพิษ ลุยบริษัทเอกชน ตรวจสต็อก ก่อนพบพิรุธอื้อ  เครือเดียวกันบริษัทหนึ่งมีสินค้า แต่กลับไม่ดำเนินการเป็นผู้ส่งออก ขณะที่อีกบริษัทไม่มีสินค้าแต่เป็นผู้ส่งออก  สั่งตรวจสอบการเสียภาษี เตรียมเสนอข้อมูลคณะกรรมการทั้ง 4 ฝ่าย 7 ต.ค.นี้ 

มนัญญา2

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบ บริษัทผู้ผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืช คือ พาราควอต ไกลโฟเซต ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน

โดยแห่งแรก คือ บริษัท ไทยเฮอบิไซด์ จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ได้มีการจดทะเบียนเป็นผู้ผลิต นำเข้า และจำหน่าย ซึ่งมีข้อมูลของปี 2561 นำเข้าพาราควอต จำนวน 5.8 แสนกิโลกรัม

 

มนัญญา1

ส่วนปี 2562 ไม่มีตัวเลขแจ้งการนำเข้าแต่อย่างใด เมื่อขอตรวจดูสต็อกสินค้า พบว่ามีสารพาราควอต อยู่จำนวน  300,000 กิโลกรัม โดยผู้จัดการอ้างว่าเป็นการซื้อมาจากบริษัทอื่น ส่วนปี 2562 ได้มีการนำเข้าไกลโฟเซต จำนวน  500,000 กิโลกรัม ปัจจุบันเหลืออยู่ในสต็อก  2.7 แสนกิโลกรัม

ขณะที่ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท ป.เคมีเทค จำกัด ที่ตั้งอยู่ ถนนสิรินธร กล่าวว่า แม้จะอยู่ในเครือเดียวกันกับ บริษัทไทยเฮอบิไซด์ จำกัด แต่จดทะเบียนเป็นผู้จำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ภายใต้ตราสินค้าเดียวกันเท่านั้น ซึ่งมีการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีสต็อกสารเคมีดังกล่าว แต่มีการนำสารเคมีเกษตรจากบริษัทแรกส่งออกโดยการดำเนินการส่งออกเหมือนนำเข้าคือไม่ต้องเสียภาษี

นางสาวมนัญญา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการดังกล่าว ที่บริษัทหนึ่งมีสินค้า แต่กลับไม่ดำเนินการเป็นผู้ส่งออก ขณะที่อีกบริษัทหนึ่งไม่มีสินค้า แต่เป็นผู้ดำเนินการส่งออก ข้อมูลต่างๆที่ได้เหล่านี้ จะต้องนำไปตรวจสอบอย่างละเอียดว่า ทั้งบริษัทและหน่วยงานที่อนุญาต คือกรมวิชาการเกษตรดำเนินการตามระเบียบ ตามกฎหมาย หรือไม่

มนัญญา4

ทั้งนี้ เห็นว่าการส่งออกเป็นรายได้ของบริษัทผู้ค้าสารเคมี แต่ไม่ได้มีการเสียภาษี คงจะต้องมีการทบทวน และเสนอจัดเก็บภาษีการส่งออกสารเคมี เพื่อนำมาเป็นกองทุนส่งเสริมเกษตรกร ลดใช้สารเคมี ทำเกษตรอินทรีย์ แต่อาจจะยังไม่ครอบคลุมเรื่องแนวทางการเก็บภาษีนำเข้าสารเคมีเกษตร เพราะจำเป็นที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ และรอบด้านต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรด้วย

ต่อกรณีที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าอยากให้มีการยกเลิก แต่ไม่ได้ชี้ชัดถึงระยะเวลาว่าจะยกเลิกให้ได้ภายในสิ้นปี 2562 เพราะต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย  นางสาวมนัญญา กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ก็ตอบแบบผู้ใหญ่ที่คิดแบบรอบด้าน

มนัญญา3

สำหรับตนเองที่มีหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานที่รับผิดชอบ เรื่องนี้ก็ต้องเดินหน้าต่อไปให้บรรลุเป้าหมายภายในสิ้นปี 2562 ตามที่ได้ประกาศไว้ แต่การจะไปให้ถึงตรงนั้น ข้อมูลต้องพร้อมครบถ้วนทุกด้านด้วยเช่นกัน

“วันที่ 7 ตุลาคมนี้ จะมีการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด รวมถึงข้อมูลที่ได้ลงพื้นที่วันนี้  เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการทั้ง 4 ฝ่าย ” นางสาวมนัญญา กล่าว

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight