Economics

‘อุตตม’ ลั่น ‘ชิมช้อปใช้’ คือหัวรถจักรกระตุ้นเศรษฐกิจ

“อุตตม” ลั่น “ชิมช้อปใช้” คือหัวรถจักรดึงการบริโภคในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

อุตตม298622

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า จากรายงานตัวเลขมาตรการ “ชิมช้อปใช้” 3 วันแรก ในช่วงวันที่ 27 – 29 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ไปใช้สิทธิ์แล้ว 370,523 คน มียอดการใช้จ่าย 294 ล้านบาท และกว่า 50% ของการใช้จ่ายหรือประมาณ 148 ล้านบาท เป็นการใช้จ่ายในร้าน “ช้อป” ซึ่งอยู่ในกลุ่มร้านค้าชุมชน โอท็อป ร้านวิสาหกิจชุมชน และร้านธงฟ้าประชารัฐ

รองลงมา คือร้าน “ชิม” หรือร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่มียอดใช้จ่ายประมาณ 60 ล้านบาท และร้าน “ใช้” เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ มียอดใช้จ่ายประมาณ 7 ล้านบาท ด้านร้านค้าทั่วไปซึ่งรวมถึงรายใหญ่ มียอดใช้จ่ายราว 79 ล้านบาท ถือว่าน้อยกว่าการใช้จ่าย 2 รายการแรกมาก

ทั้งนี้เป้าหมายของโครงการนี้ คือการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และเน้นไปที่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะเกิดประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อธิบายง่ายๆให้เห็นภาพเช่น ซื้อไอศกรีม 1 ถ้วย หมายถึง พ่อค้าได้รับเงิน พ่อค้าก็เอาเงินไปซื้อวัตถุดิบ ครีม เนย หรือผลไม้ มาเป็นวัตถุดิบขายต่อ ผู้ผลิตครีมเนย ก็ได้ขายวัตถุดิบ เงินหมุนไปเป็นค่าแรงคนงาน หรือผลไม้ ชาวสวนก็ได้รับเม็ดเงิน ฯลฯ

ทุกท่านคงเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า การกระตุ้นการบริโภคก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนอย่างไร และที่สำคัญโครงการแบบนี้ ส่งผลด้านจิตวิทยา เกิดความคึกคักในการจับจ่ายใช้สอย ผมเชื่อว่าเงิน 1,000 บาทต่อคน ที่ได้รับไป จะมีจำนวนไม่น้อยที่จ่ายเพิ่มเติมอีกมาก เม็ดเงินจะสะพัดเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว” นายอุตตม กล่าว

สำหรับผลที่ได้ในมาตรการนี้ ถือว่าประชาชนให้การตอบรับเป็นอย่างดี แม้จะมีปัญหาเชิงเทคนิคและการเรียนรู้ของผู้รับสิทธิบ้างเล็กๆน้อยๆ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้พยายามชี้แจง ปรับปรุง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ร่วมโครงการทั้งผู้ใช้สิทธิและร้านค้า อย่างเต็มที่

ล่าสุดท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษาแนวทางของการขยายมาตรการดังกล่าวออกไป เนื่องจากเห็นว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นอีก

โดยอาจจะมีการกำหนดเงื่อนไขและรูปแบบของมาตรการ ให้ง่ายต่อการเข้าถึงของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการศึกษาและนำเอาผลการดำเนินงานของมาตรการในระยะแรก มาวิเคราะห์ถึงข้อดี ข้อเสียอีกครั้งหนึ่ง เช่น การลงทะเบียนเพื่อใช้จ่ายในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ก็อาจกำหนดให้ใช้ได้ทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดที่ผู้ลงทะเบียนมีภูมิลำเนาอยู่ รวมทั้งสนับสนุนร้านค้าชุมชน วิสาหกิจชุมชน และการท่องเที่ยวในเมืองรอง เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตามมาตรการในระยะแรกนี้ ยังคงเปิดใช้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 โดยพี่น้องประชาชนที่ลงทะเบียน หากเงิน 1,000 บาท ในแอพฯ “เป๋าตัง” หมดแล้ว ยังสามารถเติมเงินในกระเป๋า 2 หรือ G-Wallet เพื่อใช้สิทธิ์ รับเงินคืน (Cash Back) 15% ของยอดเงินที่เติมและใช้จ่ายในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอพฯ ได้อีก เช่น เติมเงินจ่ายสินค้าและบริการ 1,000 บาท จะได้รับเงินคืน 150 บาท เป็นต้น โดยสามารถรับเงินคืนสูงสุด 4,500 บาท หรือจากยอดใช้จ่าย 30,000 บาท

“สุดท้าย ผมขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยกันอย่างเต็มที่ ทำให้มาตรการนี้สามารถตอบสนองเป้าหมายที่วางไว้ได้ ที่สำคัญขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่าน ที่ช่วยกันเดินหน้าต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้าจากปัจจัยภายนอกประเทศ หากเราสร้างความเข้มแข็งภายในสำเร็จ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตยั่งยืนได้อย่างแน่นอนครับ” นายอุตตม กล่าว

Avatar photo