CEO INSIGHT

‘พศิน ลาทูรัส’กับเป้าหมายอนาคต‘นารายา’สู่แบรนด์ระดับโลก

การก้าวสู่ปีที่ 29 ของบริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ก่อตั้งกระเป๋าผ้าแบรนด์ดัง “นารายา” ในปีนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ภายใต้แผนการขยายสาขาครั้งใหญ่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ  การรุกตลาด”อีคอมเมิร์ซ”เต็มรูปแบบ ภายใต้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท

อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่ นารายา เริ่มทำการตลาดทั้งออฟไลน์และดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ภายใต้การดูแลของ พศิน ลาทูรัส  ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร “ทายาท” วาสนา รุ่งแสนทอง ลาทูรัส เจ้าของแบรนด์นารายา

นารายา
วาสนา รุ่งแสนทอง ลาทูรัส -พศิน ลาทูรัส

จากเทรดดิ้งอะไหล่รถสู่ ‘กระเป๋ากรุงเทพฯ’

ก่อนจะมาเป็นแบรนด์“นารายา”ในวันนี้  “วาสนา” และ “วาสิลิโอส ลาทูรัส” เริ่มต้นจากการทำธุรกิจเทรดดิ้งส่งออกอุปกรณ์อะไหล่รถยนต์และจักรยานยนต์ ในปี 2532 แต่การทำธุรกิจเทรดดิ้งที่ไม่มีแบรนด์และสินค้าเป็นของตัวเอง เป็นการจำหน่ายภายใต้แบรนด์อื่นทำให้มีกำไรต่ำ หลังจากทำเทรดดิ้ง 4-5 ปี จึงเริ่มพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ตัวเอง นับเป็นจุดเริ่มต้นของกระเป๋าผ้า “นารายา”

โดยเปิดหน้าร้านแห่งแรกที่ห้างนารายณ์ภัณฑ์  ด้วยพื้นที่เพียง 2 ตารางเมตร ที่เลือกทำเลนี้ เพราะเป็นสถานที่ที่แอร์โฮสเตส ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จะต้องมาหาซื้อของฝาก  30 ปีก่อนถือได้ว่าเป็นแหล่งชุมนุมของคนต่างชาติ

จากนั้น 2 ปี จึงเปิดร้านในห้างนารายณ์ภัณฑ์อีกเช่นเดิม แต่ขยายพื้นที่ใหญ่ขึ้นเป็นสาขาที่2  ส่วนสาขาที่ 3 อยู่ที่พัฒน์พงศ์  และเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นสาขาที่ 4  โดยเปิดสาขาตั้งแต่ยุคเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ กว่า 10 ปีที่ผ่านมา

เซ็นทรัลเวิลด์ ถือเป็นสาขาที่มีความสำคัญ ล่าสุดนารายาได้ปรับโฉมสาขานี้ด้วยงบลงทุนกว่า 50 ล้านบาท เปิดให้บริการในวันที่ 1 กรกฏาคมที่ผ่านมา เพราะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ลูกค้ารู้จักสาขานี้  นักท่องเที่ยวยังรู้สึกว่า การซื้อสินค้าที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์เป็นของแท้ ทั้งที่ทุกสาขาคือของแท้  เป็นสาเหตุที่กลุ่มนักท่องเที่ยวนิยมมาที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์

วันนี้ “นารายา” ถือเป็น “เอเชีย แบรนด์” ที่นักท่องเที่ยวจีน ตลาดหลักรู้จักเป็นอย่างดี  เรียกว่ามาเมืองไทยต้องมาซื้อกระเป๋านารายา คนจีนเรียก “นารายา” ว่า “มั่งกู่เปา” หรือ กระเป๋ากรุงเทพ”  เพราะ “มั่งกู่”  คือ  กรุงเทพฯ  และ “เปา” คือ กระเป๋า นั่นเอง

นารายา

“นารายา” ที่เดินทางมาถึงปีที่29  “วาสนา”ผู้ก่อตั้งแบรนด์บอกว่า “แม่ได้ทำ นารายา ในอดีตและปัจจุบันแล้ว วันนี้ ลูก(พศิน) จะมาทำอนาคตให้กับนารายา”

ภารกิจขยายสาขา-รุกอีคอมเมิร์ซ

“พศิน”  ทายาทผู้ก่อตั้งนารายา เข้ามารับหน้าที่บริหารด้านการตลาดในปีนี้ เขาบอกว่ากลยุทธ์การทำงานของ นารายาปีนี้ ด้านแผนขยายสาขาในประเทศไทยวางไว้ 13 สาขา จากปัจจุบันมี 27 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเมืองท่องเที่ยว  สาขาใหญ่ที่สุดแฟลกชิพสโตร์จะเปิดในเดือนตุลาคมนี้ ที่ไอคอน สยาม ใช้งบลงทุน 200 ล้านบาท  พื้นที่ 1,450 ตารางเมตร ต้องเรียกว่าเป็นการขยายสาขามากที่สุด  จากเดิมที่เปิดเพียง 1-2 สาขา บางปีไม่เปิดเลยก็มี

นารายา
พศิน ลาทูรัส

ส่วนสาขาในต่างประเทศปัจจุบันมี 12 สาขา ในฮ่องกง ที่บริษัทลงทุนเอง นอกจากนี้มีตัวแทนจำหน่ายใน ไต้หวัน มาเลเซีย เวียดนาม และเมียนมา  ปัจจุบัน“นารายา”ได้จดทะเบียนแบรนด์ไว้ทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกา

ปีนี้ยังมุ่งขยายช่องทาง “อีคอมเมิร์ซ” จากเดิมจำหน่ายสินค้าผ่านร้านนารายาเพียงช่องทางเดียว ผ่านมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ ทั้ง ลาซาด้า ช้อปปี้  เจดีฯ  เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน และเป็นการขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น   โดยสินค้าจะมีราว 500 เอสเคยู คาดว่าในอีก 6-12 เดือน จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังขยายช่องทางอีคอมเมิร์ซในจีน เช่น  VIP.com

ปัจจุบันยอดขายร้านนารายาในไทยมาจากนักท่องเที่ยว 75-80% ตลาดหลักกลุ่มเอเชีย ส่วนลูกค้าคนไทย 20-25% แม้ นารายา เป็นแบรนด์ที่คนไทยคุ้นเคย แต่คนไทยยังไม่นิยมกระเป๋าผ้า แต่ชอบกระเป๋าหนัง หรือไนลอน  ที่ผ่านมาคนไทยซื้อ นารายา ไปฝากเพื่อนต่างชาติเป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีคนไทยใช้กระเป๋าในชีวิตประจำวันมากขึ้น จากเดิมที่ซื้อเป็นของฝาก ดังนั้นช่องทางอีคอมเมิร์ซ จึงถือเป็นการเริ่มต้นทำตลาดลูกค้าไทย นอกจากซื้อผ่านช็อปนารายาอีกทาง

หลังจากนี้ต้องการเห็นสัดส่วนลูกค้าไทยเพิ่มขึ้นเป็น  30% เพราะเป็นสินค้านารายาเป็นราคาที่จับต้องได้ทุกคน เริ่มต้นตั้งแต่ 30-40 บาท

สร้างประสบการณ์ New Retail

การเปิดเกมรุกทุกด้านของนารายา มาจากลูกค้าเปลี่ยนไป  พวกเขาต้องการความสนุกในการช้อปปิ้งออนไลน์  นารายา จึงพัฒนาช่องทางออนไลน์  แต่ยังเชื่อว่าพฤติกรรมน้กช้อป ยังต้องการสัมผัส หยิบจับสินค้า เพื่อดูคุณภาพและวัตถุดิบ  จึงเป็นสาเหตุที่ นารายา ยังเดินหน้าขยายสาขา เพื่อเป็นสถานที่ให้ลูกค้ามาสร้างประสบการณ์กับสินค้านารายาและแบรนด์ในเครือ

นาราย

ทั้งแบรนด์หลักนารายา,  “นารา” (NARA) เป็นแบรนด์กระเป๋าและเครื่องประดับตกแต่งสำหรับผู้ชาย, Aphrodite แบรนด์กระเป๋าและเครื่องประดับตกแต่งระดับพรีเมียมสำหรับผู้หญิง, LaLaMa เป็นแบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องประดับตกแต่งสไตล์โบฮีเมียน  และ Evangelisa แบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องประดับตกแต่งจากผ้าไหม ผ้าไหมไทยร่วมสมัย และปลายปีนี้เตรียมเปิดอีก 2 แบรนด์ใหม่

การขยายแบรนด์ใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางมาไทยปีที่ผ่านมากว่า 35 ล้านคน  โดย “กรุงเทพฯ” ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับโลก  การมีแบรนด์ใหม่ครอบคลุมทุกกลุ่มจะทำให้มีฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น

สินค้านารายา ครอบคลุมทั้งทุกเพศ ทุกวัย และสัญชาติ  เชื่อว่านักท่องเที่ยวประเทศใดเข้ามาเดินในร้านนารายา จะต้องซื้อสินค้า “นารายา” ไปได้สักชิ้น  เพราะสีสันสินค้ามีกว่า 100 สี จำนวน 3-4 หมื่นรายการ  เหมาะสำหรับลูกค้านักท่องเที่ยวทุกสัญชาติ

นารายา

“การที่สินค้านารายา ถูกนักท่องเที่ยวซื้อกลับไป 1 ชิ้น นั่นเท่ากับว่า ได้เผยแพร่ผสินค้าไทยไปด้วย และหากจำหน่ายสินค้าได้มาก เท่ากับว่าชาวบ้านที่เป็นเครือข่ายกว่า 4,000 คน มีงานทำไปด้วย”

สำหรับร้านนารายาโฉมใหม่ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ได้พัฒนาเครื่องมือสื่อสารและช่องทางการขายใหม่ โดยจะมี Digital Signage  และ Magic Mirror นวัตกรรมบวกกับความคิดสร้างสรรค์ของ ที่ผสมผสานความเชี่ยวชาญด้านการค้าปลีก และเทคโนโลยีล่าสุด เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถสัมผัสกับแบรนด์ได้อย่างง่ายดาย  เมื่อนำผลิตภัณฑ์ของนารายา ไปลองที่ Magic Mirror  สาขาเปลี่ยนสีกระเป๋าและเสื้อผ้าได้เอง แสดงภาพให้เห็น 360 องศา รวมทั้งแชร์รูปผ่านสื่อโซเชียล  อีกทั้งสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ด้วย หากร้านที่ลองและสั่งซื้อ ไม่มีสินค้า สามารถส่งของจากสาขาอื่นไปยังที่พักโรงแรมของนักท่องเที่ยวหรือต่างประเทศ  ส่วนลูกค้าไทยสามารถส่งของไปที่บ้านลูกค้าได้

นารายา

เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานทุกช่องทางทั้งออฟไฟน์และออนไลน์  เป็นช่องทางเดียวกัน ด้วยรูปแบบ “ออมนิ แชนแนล” เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคในทุกเส้นทางการช้อปปิ้ง

พศิน บอกว่าภารกิจในช่วง 3-5 ปีจากนี้ คือการนำนารายา ก้าวสู่ New Retail Experience  เพราะวันนี้ลูกค้าไม่ได้แค่ซื้อสินค้าแล้วกลับบ้าน  แต่มาหาประสบการณ์ที่แบรนด์นำเสนอ  สนุกกับการช้อปปิ้ง

ดังนั้น 3-5 ปีนี้ นารายา จะทำให้การซื้อสินค้าในร้านมีประสบการณ์ที่สนุก เปลี่ยนจาก  Old Retail  สู่ New Retail เพื่อทำให้ทุกช่องทางผสานกัน ทั้งการลงทุนด้านดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง  การให้บริการระบบเพย์เมนต์ที่นักท่องเที่ยวใช้งาน เช่น อาลีเพย์  วีแชท เพย์

“ช่วง3-5 ปีนี้ จะใช้มาร์เก็ตติ้งที่สนุก หลังจาก นารายา เปิดดำเนินการงานมา 29 ปี  ไม่เคยมีแผนกมาร์เก็ตติ้งและทำการตลาดมาก่อน เพราะสินค้าขายตัวเองมาตลอด”

 จากเอเชียแบรนด์สู่ Global Brand

วันนี้ นารายา อายุ 29 ปีแล้ว กำลังมีอนาคตใหม่ๆ ภายใต้การทำงานของคนรุ่นใหม่  เป็นการผสมผสานการทำงานระหว่างกลุ่มดั้งเดิมและเจนเนอเรชั่นใหม่

พศิน  วางเป้าหมายนำพา “นารายา” แบรนด์จากประเทศไทย ที่วันนี้อยู่ในฐานะ “เอเชียแบรนด์” เพื่อก้าวสู่ ก้าวสู่หนึ่งในแบรนด์ที่ดีสุดของโลก ที่ผู้บริโภครัก นับเป็นสเตปใหม่ของ นารายา ที่มีสิ่งต้องทำอีกมากในช่วง 3-5 ปีจากนี้  และจะเป็น Next Chapter ต่อไปของนารายา ที่ต้องการก้าวสู่ Global Brand

นารายา
พศิน ลาทูรัส

ภายใต้แผนการก้าวสู่แบรนด์ระดับโลก วางเป้าหมายขยายช็อปสู่ ยุโรปและอเมริกา  โดยเริ่มจากช่องทางอีคอมเมิร์ซ ผ่าน อเมซอน จากนั้นจะเป็นการเปิดช็อปในเมืองสำคัญ เช่น มิลาน อิตาลี, ลอนดอน อังกฤษ, นิวยอร์ก สหรัฐ  โดยไม่เน้นจำนวนสาขาหรืออาจจะเปิดเพียงช็อปเดียว เพื่อให้ลูกค้ามาแวะดูสินค้า  ส่วนการซื้อจะมีทั้งออฟไลน์และออนไลน์  ช่วงแรกมองการเข้าไปลงทุนเอง แต่ก็มองหาโอกาสการทำงานร่วมกับตัวแทนจำหน่ายด้วยเช่นกัน

การทำงานในช่วง 3-5 ปีจากนี้ จึงถือเป็นภารกิจที่ท้าทาย “พศิน” ทายาท นารายา กับเป้าหมายนำนารายสู่ Global Brand

‘นารายา’ลงทุน’พันล้าน’สูงสุดรอบ 29 ปี ปั้น 4 แบรนด์ใหม่-รุกต่างประเทศ

Avatar photo