Wellness

5 สาเหตุ ‘โรครองช้ำ’ 3 วิธีแก้ไข

แพทย์ ระบุ 5 สาเหตุโรครองช้ำ ใส่รองเท้าไม่เหมาะรูปเท้า ออกกำลังกายหนัก  เดิน-ยืนนาน แนะ 3 วิธีแก้ไข 

570323
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า “โรครองช้ำ” หรือโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากไขมันส้นเท้าจะบางกว่า

นอกจากนี้เอ็น กล้ามเนื้อน่อง และฝ่าเท้าจะไม่แข็งแรงเท่าผู้ชาย นักวิ่งที่ต้องใช้เท้า และส้นเท้าเป็นเวลานาน และคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะที่มีน้ำหนักมาก ต้องยืนนาน เดินนาน ซึ่งจะมีอาการปวด และกดเจ็บบริเวณส้นเท้า

ระยะแรกอาจเกิดหลังการออกกำลังกาย เดิน หรือยืนเป็นเวลานาน แต่เมื่ออาการมากขึ้น จะรู้สึกปวดส้นเท้าตลอดเวลา ทั้งนี้อาการจะชัดเจนเมื่อลุกขึ้นเดิน 2-3 ก้าวแรก หลังจากตื่นนอนในตอนเช้า หรือหลังจากนั่งพักขาเป็นเวลานาน จะรู้สึกเจ็บบริเวณส้นเท้า เนื่องจากการกระชากของเอ็นฝ่าเท้าที่อักเสบอย่างทันทีทันใด

1524212562662 ตัด 1
นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์

นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรครองช้ำเกิดจาก 5 สาเหตุ

  1. ใช้งานฝ่าเท้ามากเกินไป เช่น การฝึกวิ่งที่หักโหม วิ่งในระยะทางที่ไกลเกินไป
  2. สวมรองเท้าที่ไม่มีพื้นบุรองส้นเท้า หรือบางเกินไป หรือสวมรองเท้าไม่เหมาะกับรูปเท้า
  3. คนที่มีน้ำหนักตัวมาก
  4. คนที่มีลักษณะเท้าแบน อุ้งเท้าสูง
  5. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือข้อสันหลังอักเสบ

จากสาเหตุดังกล่าว โรครองช้ำ สามารถดูแลด้วยตนเองได้ในเบื้องต้น

  • ยืดพังผืดฝ่าเท้าสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น ในรายที่พังผืดตึงมาก ควรแช่เท้าในน้ำอุ่นก่อนทำการยืดประมาณ 15-20 นาที จะช่วยลดอาการเจ็บขณะบริหาร
  • เลือกรองเท้าที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดแรงกดทับบริเวณที่อักเสบ
  • ลดน้ำหนัก โดยการออกกำลังกาย ที่ไม่มีการกระแทกบริเวณส้นเท้า เช่นว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน

ถ้าผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ ซึ่งปัจจุบันสามารถรักษา โดยฉีดสเตียรอยด์เฉพาะที่ลดการอักเสบ รักษาด้วยคลื่นกระแทกบริเวณที่ปวดโดยตรง และการผ่าตัด ซึ่งจะใช้วิธีนี้ ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล

plantar fasciitis

Avatar photo