COLUMNISTS

จากปฏิบัติการช่วย 13 ชีวิต สู่บทเรียน…

Avatar photo
403

ในที่สุดข่าวดีที่คนไทยทั้งชาติรอคอยก็มาถึง หลังจากทีมชุดประดาน้ำต่างชาติสื่อสารออกมาจากคลิปว่า พบตัวน้องๆ ทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่า  อะคาเดมี และโค๊ชรวม 13 ชีวิต ที่หายตัวไปในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เป็นเวลาเกือบ 10 วัน หรือ 222 ชั่วโมง 22 นาที ตามสถิติที่มีการระบุกันออกมา โดยหายตัวไปตั้งแต่วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน2561  และพบตัวเป็นๆ ราวสี่ทุ่มของวันที่ 2 กรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เชื่อว่าทุกคนคงถอนหายใจอย่างโล่งอก

แม้ปฏิบัติการค้นหาจะสิ้นสุดแล้ว แต่ภารกิจจะลุล่วงก็ต่อเมื่อนำตัวทั้งหมดกลับคืนสู่อ้อมกอดครอบครัวอย่างปลอดภัยในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

เหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากจะขอแสคงความยินดีกับน้องๆ 13  คนและครอบครัวแล้ว ยังต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่รัฐทุกท่าน อาสาสมัครทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ จนบรรลุผลที่น่ามหัศจรรย์ รวมทั้งชื่นชมในความเป็นนำ้หนึ่งใจเดียวกันของสังคมไทย ถือเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงน้ำใจของคนไทยที่ไม่เคยขาดหายแล้ว โดยส่วนตัวยังเห็นว่ามีประเด็นที่น่าเรียนรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าว 5 เรื่อง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดในอนาคต ดังนี้

1. ความรับผิดชอบของวนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน และกรมอุทยานแห่งชาติ

การเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมถ้ำได้ และมีการติดป้ายประกาศด้านหน้าว่า “อันตราย ห้ามเข้า ก่อนได้รับอนุญาต เนื่องจากเป็นฤดูน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งจะมีน้ำเข้าออกจากถ้ำปริมาณมากในระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน” พร้อมข้อความภาษาอังกฤษว่า “DANGER FROM JULY-NOVEMBER THE CAVE IS FLOODING SEASON” แสดงให้เห็นว่าทางอุทยานรับทราบถึงอันตรายจากธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว แต่มีสิ่งที่น่าจะนำมาคิดเพิ่มเติมอย่างน้อยสองประเด็นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยอีกคือ

– นอกจากการปิดป้ายประกาศเตือนแล้ว ควรมีรั้วกั้นในลักษณะปิดถ้ำ ป้องกันคนที่ไม่เชื่อคำเตือนแล้วเข้าไปจนเกิดอันตรายเพิ่มเติมหรือไม่

– การกำหนดเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ควรขยับเวลาออกมาไหม เพราะกรณีที่เกิดขึ้นเป็นช่วงปลายเดือนมิถุนายน จะบอกว่าน้อง ๆ ทีมฟุตบอลทำผิดไม่สนใจป้ายเตือนก็ไม่ถูก เนื่องจากยังไม่ถึงเดือนกรกฎาคม แต่ก็เกิดเหตุน้ำหลากจน 13 ชีวิตเสี่ยงต่ออันตราย และทำให้โกลาหลกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง

สิ่งที่ทางอุทยานควรพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาในอนาคตคือ ควรปิดถ้ำห้ามนักท่องเที่ยวเข้าตั้งแต่เข้าหน้าฝนเลยหรือไม่ ก็ห้ามเข้าหลังเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน เป็นต้น

– บุคลากรของอุทยานแห่งชาติ ควรมีการสำรวจ ศึกษาข้อมูล พื้นที่ทางกายภาพ รวมถึงภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่ตัวเองดูแลอย่างจริงจัง มีภูมิความรู้มากพอที่จะใช้ในการแก้ปัญหาในยามที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ เพราะเท่าที่เห็นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญคอยชี้แนะกลับกลายเป็นนักสำรวจจากภายนอก โดยเฉพาะปราชญ์ชาวบ้านและผู้ชำนาญการหรือนักสำรวจจากต่างประเทศ

– ป้ายบอกทาง คำเตือนทั้งด้านนอกและภายในถ้ำ ต้องมีการดูแล บำรุงรักษาให้ใช้งานได้ตลอดเวลา ไม่ปล่อยปละละเลยให้ชำรุดเสียหายจนใช้การไม่ได้

การดูแลอุทยานแห่งชาติที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม ต้องได้รับการสังคายนาทั้งระบบ ไม่ใช่ทำให้อุทยานแห่งชาติในแต่ละพื้นที่มีความหมายเพียงแค่เป็นสถานที่รับรองนาย หรือเพื่อรายได้ในระบบเพื่อนำส่งรัฐ หรือรายได้นอกระบบที่พึงมี เพราะเมื่อเปิดให้ท่องเที่ยวแล้ว ต้องมีความพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อชีวิตของนักท่องเที่ยวด้วย โดยเจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้ด้านภูมิศาสตร์ ฤดูกาลที่มีผลกระทบ ต้องมีการสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด เพื่อจะได้เข้าใจสภาพธรรมชาติ และดูแลให้การท่องเที่ยวเป็นไปอย่างปลอดภัย

2. สำนึกของนักท่องเที่ยว

ผู้ที่นิยมท่องเที่ยว รักธรรมชาติ ต้องตระหนักด้วยว่า ความสวยงามของธรรมชาตินั้น มีอันตรายซ่อนตัวอยู่ด้วย การไปเที่ยวในสถานที่ใดก็ตามควรศึกษาข้อมูลก่อนเดินทางและเชื่อฟังคำเตือนของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งป้ายเตือนภัยที่ติดไว้ด้านหน้า เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดใจกับตัวเองจนนำไปสู่ความโศกเศร้าของญาติพี่น้อง หรือกลายเป็นภาระที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือ ระบบและความรู้ต้องถูกปลูกฝังในระบบการศึกษาของเยาวชนไทย

3. สำนึกความรับผิดชอบของสื่อสารมวลชนในการนำเสนอข่าว

เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหญ่ลักษณะนี้ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดการแข่งขันระหว่างสื่อมวลชน เพื่อช่วงชิงการนำเสนอข่าว แต่สิ่งที่แตกต่างจากในอดีตคือปัจจุบันมีสื่อใหม่ คือโซเชียลมีเดีย ซึ่งบางครั้งไม่ได้มีแหล่งที่มาที่ไป

แต่มีประเด็นดราม่า หวือหวา post truth หรือ fake news แพร่กระจายออกมา เพื่อดึงดูดความสนใจของประชาชน สื่อหลักนอกจากต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของกระแสโซเชียลแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชนด้วย ไม่ใช่นำมาขยายผลต่อโดยไม่มีการตรวจสอบ จนทำให้เรื่องราวยิ่งบานปลายออกไป

นอกจากนี้ ต้องยึดถือเสมอว่าการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ลักษณะนี้ ต้องไม่เชื่อข่าวลือ และ ไม่มั่วข่าวเอง ทุกรายงานต้องให้น้ำหนักกับแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ รับผิดชอบโดยตรง เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โดยตรง ก่อนคำบอกเล่า แต่ก็ไม่ควรละเลยคำบอกเล่าจากชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งอาจมีประสบการณ์ตรงและคุ้นชินกับ ภูมิศาสตร์ในพื้นที่ โดยสามารถนำไปต่อยอดเพื่อขยายประเด็นการนำเสนอข่าวได้

ที่สำคัญควรระมัดระวังประเด็นสิ่งลี้ลับ การดราม่ากับญาติผู้สูญหาย ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของคนเหล่านี้มากกว่าแค่การขยายประเด็น เพื่อขายข่าว หากสื่อทุกสังกัดยึดหลักเช่นนี้ การนำเสนอข่าวก็จะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ตรงไปตรงมา เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง

4. สติของผู้เสพสื่อ

การรับข่าวสารของประชาชนต้องมีสติ ไม่แชร์มั่ว ต้องชัวร์ก่อนแชร์ เพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ข่าวลือ ที่สร้างความโกลาหล จนอาจกลายเป็นภาระของเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติงาน หรือไปซ้ำเติมความรู้สึกของญาติผู้สูญหายได้ ที่สำคัญคือต้องไม่หลงเชื่อมิจฉาชีพ ที่แฝงตัวเข้ามาหาประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ผ่านโลกออนไลน์ ก่อนตัดสินใจอะไรควรหาข้อมูลและใช้สติพิจารณาอย่างรอบคอบจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของคนเลว

5. การจัดการของภาครัฐ

เท่าที่เห็นภาครัฐมีการตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิดแบบเฉียบพลันนี้ได้ทันท่วงที แต่การตั้งศูนย์ข้อมูลกลางเพื่อเป็นฐานข้อมูลหลักให้กับสื่อมวลชน เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เท่าที่จำเป็น และตรงประเด็น

สิ่งที่ภาครัฐพึงทำเป็นอันดับแรกหลังเกิดเหตุคือ ประกาศให้ชัดเจนว่าใครจะเป็นคนให้ข่าว เพื่อสรุปปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในภาพรวมทั้งหมด และแยกย่อยให้ชัดว่า ใครจะให้ข่าวที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการในถ้ำ การสำรวจ การขุดเจาะ ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลที่เป็นทางการ

ส่วนสื่อจะไปสัมภาษณ์ใครเพิ่มเติมก็จะเป็นความรับผิดชอบของสื่อนั้น ๆ ในการนำเสนอ เพราะถือว่าไม่ใช่ข้อมูลที่ทางการให้ ที่สำคัญคือผู้ใหญ่ในบ้านเมืองถ้าไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง ไม่ควรโหนกระแสไปให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ที่ยุ่งอยู่แล้วต้องมาต้อนรับจนเสียเวลาในการปฏิบัติหน้าที่

อีกประเด็นหนึ่งที่ภาครัฐควรจะพิจารณาเพิ่มเติมคือ ที่ผ่านมาเรามักจะตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ จากโครงสร้างทางอำนาจตามความรับผิดชอบในพื้นที่ โดยไม่ได้คำนึงถึงลักษณะเฉพาะของปัญหา ที่อาจจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นผู้ตัดสินใจ ในแต่ละเหตุการณ์ เช่น ในอดีตไทยเคยเกิดโศกนาฏกรรมจากสึนามิ

ตอนนั้นเหตุการณ์วุ่นวาย การจัดการปัญหาของภาครัฐก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ในฐานะที่เป็นคนพื้นที่เห็นภาพชัดเจนว่า การกุมสถานการณ์แบบบูรณาการในยามเกิดภัยพิบัติ ถือได้ว่าอ่อนด้อยมาก

ขณะนั้นนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศไม่รับความช่วยเหลือจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจากสาเหตุใดก็ตาม แต่ถือเป็นการปิดกั้นโอกาสของประเทศ แตกต่างจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ที่เราเปิดรับความช่วยเหลือจากนานาชาติอย่างเต็มที่ ทำให้ได้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ

แต่เราจะหวังพึ่งพาภายนอกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ถึงเวลาแล้วที่ควรมีการจัดเตรียมบุคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะให้พร้อม สำหรับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติ

เมื่อเกิดเหตุสามารถส่งตรงลงพื้นที่ไปควบคุมสถานการณ์ ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์จากโครงสร้างอำนาจปกติ เพราะถือว่าเป็นสถานการณ์พิเศษ ซึ่งน่าจะช่วยให้กุมสภาพได้ดีกว่า คนในโครงสร้างอำนาจปกติที่ไม่มีความรู้เฉพาะด้าน

นอกจากนี้ ต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น การฝึกอบรม และซักซ้อมการป้องกันภัยอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำแบบไฟไหม้ฟาง พอเหตุการณ์จบก็ปล่อยปละละเลย เหมือนระบบเตือนภัยสึนามิ ที่ในวันนี้ก็หละหลวมไป จนน่าหวั่นใจว่าหากเกิดเหตุวิกฤตอีกครั้งประเทศไท ยจะผ่านพ้นไปได้ดีกว่าครั้งที่ผ่านมาอย่างไร

กรณี 13 ชีวิตที่สูญหายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อาจเรียกได้ว่า โชคดีที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายคนนี้ดูแล  ถือว่ามีภาวะผู้นำและการตัดสินใจที่ดี อีกทั้งมีความรู้ด้านวิศวกรรมด้วยก็ถือว่าช่วยได้มาก แต่การจัดการปัญหาเราไม่ควรอาศัยโชคอย่างเดียว เพราะเป็นเรื่องที่เราสามารถกำหนดและบริหารจัดการได้ เพียงแต่ต้องคิดนอกกรอบเพื่อรับกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงเอาไว้ล่วงหน้าด้วยเท่านั้น

นี่คือ 5 เรื่องหลักที่คิดว่าสังคมไทยควรจะได้เก็บเกี่ยวแล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จากสถานการณ์นี้ และหวังว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเครื่องเตือนใจทุกฝ่าย ให้ตระหนักถึงภัยจากธรรมชาติ รวมทั้งการวางแผนรับมือของภาครัฐ ที่ต้องดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีที่เกิดเหตุ เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่ปลอดภัยต่อไป

แต่สิ่งที่น่าจะกล่าวว่าเป็นปาฎิหาริย์ที่สุดคือ การร่วมมือร่วมใจที่ช่วยกับภาวนาและจิตใจที่เมตตาของคนไทย ที่มีมาอย่างท่วมท้นในทุกคราวที่ชาติบ้านเมืองมีภัยภิบัติเสมอนั่นเอง