Economics

เปิดเส้นทางปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ ร.10 ณ แปลงปลูกป่า FPT 49 โคราช

กรมอุทยานฯ – หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา – กลุ่ม ปตท. เปิดเส้นทางจักรยานศึกษาธรรมชาติในแปลงปลูกป่า FPT 49  จังหวัดนครราชสีมา เฉลิมพระเกียรติ ร.10

474297
วันนี้ (28 ก.ย.) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในงานกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ “เทิดไท้องค์ราชัน น้อมเกล้าศิระกราน” แปลงปลูกป่า FPT 49 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าเขาภูหลวง โดยมี นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย พันเอกโกศล กิจกุลธนันต์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ร่วมกันเปิดเส้นทางปั่นจักรยาน และเส้นทางศึกษาธรรมชาติในแปลงปลูกป่า FPT 49  ที่อำเภอ ปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมร่วมกิจกรรมปลูกต้นรวงผึ้ง และกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาโป่งเทียม เพื่อสืบสานความหวงแหนในผืนป่า ร่วมเป็นจิตอาสารักษ์โลก และสานต่อพระราชปณิธานโครงการจิตอาสาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 

474296

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 กลุ่ม ปตท. ได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ “เทิดไท้องค์ราชัน น้อมเกล้าศิระกราน” ต่อเนื่องตลอดปี ด้วยมุ่งมั่นสานต่อพระราชปณิธานโครงการจิตอาสาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

จึงได้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนชุมชนใน จังหวัดนครราชสีมา พัฒนาเส้นทางจักรยานระยะทาง 7 กิโลเมตร เชื่อมไปสู่เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 800 เมตร ในพื้นที่แปลงปลูกป่าประวัติศาสตร์

โดยมีแรงบันดาลใจจากต้นประดู่ป่าทรงปลูก “ต้นไม้ต้นที่ 100 ล้าน” ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ ของ ปตท. เมื่อปี 2540 ณ แปลงปลูกป่า FPT 49 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าเขาภูหลวง ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

474295

ในวันนี้ได้พร้อมเปิดเส้นทางอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง และชมนิทรรศการถาวร เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่มีต่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียวพลิกฟื้นแปลงปลูกป่า FPT 49 จากสภาพเขาหัวโล้น กลายเป็นผืนป่าบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ ปตท.

อันจะเป็นแหล่งเรียนรู้การฟื้นฟูป่า และระบบนิเวศ ซึ่งกลุ่ม ปตท. ชุมชนรอบพื้นที่ และหน่วยงานภาครัฐ ร่วมกันทำนุบำรุงจน ปัจจุบันเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้าน เป็นศูนย์กลางความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าโดยรอบ และเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน แปลงปลูกป่า FPT 49 เป็นส่วนหนึ่งของป่าต้นน้ำให้กับแม่น้ำสายหลักที่สำคัญหลายสาย จากการประเมินผลสัมฤทธิ์ พบว่า สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.003 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ชุมชนได้รับประโยชน์จากป่าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.55 ล้านบาทต่อหมู่บ้านต่อปี และฟื้นคืนความหลากหลายของสัตว์ป่าได้มากกว่า 150 ชนิด

จนได้รับการผนวกเป็นส่วนหนึ่งของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าเขาภูหลวงในปัจจุบัน ทั้งนี้ บริเวณโดยรอบผืนป่ายังเป็นจุดศูนย์กลางพื้นที่อนุรักษ์มรดกทางทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับการรับรองจาก UNESCO แล้วถึง 2 โปรแกรม คือ พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช และมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และอยู่ระหว่างการขอรับรองอีก 1 โปรแกรม คือ อุทยานธรณีโคราช

หากได้รับการรับรองครบทั้ง 3 โปรแกรมดังกล่าว จะได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก” หรือ The UNESCO Triple Crown แห่งที่ 4 ของโลก ซึ่งต้นประดู่ป่าทรงปลูก “ต้นไม้ต้นที่ 100 ล้าน” เป็นศูนย์กลางของพื้นที่ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ เพื่อเป็นมรดกตกทอดให้กับลูกหลานไทย ใต้ร่มพระบารมี สืบไป

นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรม “รวมใจจิตอาสา ฟื้นฟูพิทักษ์ป่า ถวายองค์ราชัน” ตลอดปีมหามงคลบรมราชาภิเษกนี้ ด้วยการเชิญชวนประชาชน ให้มาร่วมกันพัฒนาสภาพป่า เพื่อให้ระบบนิเวศ มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมบำรุงรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติ ซ่อมแซมแนวกันไฟ ทำโป่งเทียมและปลูกพืชอาหารให้สัตว์ป่า เป็นต้น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและตระหนักต่อความสำคัญของทรัพยากรน้ำ การฟื้นฟูป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศ สร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางอีกด้วย

ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ยังได้รับความร่วมมือจากชุมชนรอบพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำโครงการด้านการอนุรักษ์อื่นๆ อาทิ โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นนํ้า ปี 2552- 2556 กิจกรรม “เมล็ดพันธุ์แห่งความภักดี…ใต้ร่มพระบารมี” พลิกฟื้นคืนผืนป่า ปี 2560 งานวิจัยความหลายหลากทางชีวภาพในพื้นที่ ปี 2561 เป็นต้น

Avatar photo