General

‘อนุทิน’ ลุยคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สกัดแบรนด์ดังใช้ 0% โฆษณาเหล้า-เบียร์

วันนี้ (27 ก.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 2/2562 โดยมีนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามผลการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการพิจารณามาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงหลังเทศกาลออกพรรษาและช่วงปีใหม่ 2563 และมาตรการการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

S 6488090 1

นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอันตรายต่อร่างกายแน่นอน ซึ่งจากการทำเคสรับส่งหัวใจ ผู้บริจาคหัวใจ ล้วนประสบอุบัติเหตุอันเกิดจากเครื่องดื่มมึนเมา เช่นนี้แล้วในฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย่อมสนับสนุนไม่ได้

ล่าสุด ทราบมาว่ามีปัญหาในเรื่องของแบรนด์เสมือน หรือแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แตกไลน์ผลิตน้ำดื่ม โซดา เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ เพื่อหวังผลประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน่าจะได้ผล เพราะตามข้อมูลคือ ใช้งบทำโฆษณาน้ำดื่มเป็นหลัก 10 ล้าน แต่ขายน้ำดื่มจริงๆ ได้ไม่กี่ขวด แต่ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดีขึ้นเรื่อยๆ

ตรงนี้ต้องมีการหารือ โดยเฉพาะเมื่อทางพรรคภูมิใจไทยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ จะขอความร่วมมือให้ดูในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ที่ทำให้คนหลงผิด

“กรณีของการดื่มเหล้าจนเสียชีวิต ซึ่งเป็นข่าวดัง ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้คนบริโภคแอลกอฮอล์น้อยลง ภาครัฐก็ทำมาโดยตลอด สังคมเองต้องรับทราบว่า เหล้า เบียร์มีอันตรายอย่างไร ยิ่งดื่มมากยิ่งอันตราย ขนาดก๋วยเตี๋ยว รับประทานไปหลายๆ ชาม ยังมีผลกระทบ นับประสาอะไรกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

ข้อมูลที่มีอยู่ แสดงให้เห็นว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562  มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ที่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมากถึง 43.66% และพบว่าช่วงเทศกาลเข้าพรรษามีจำนวนอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตลดลง คณะกรรมการจึงมีแนวคิดที่จะรณรงค์ให้งานบุญประเพณีที่จะเกิดต่อเนื่องหลังจากออกพรรษา เช่น งานกฐิน ลอยกระทง ปีใหม่ เป็นงานที่ “ปลอดเหล้า”

งดเหล้าเข้าพรรษา lannastopdrink

นอกจากจะมีผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สุขภาพแข็งแรง” ของแต่ละครอบครัวได้ สร้างโอกาสในการไม่ดื่มเพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการเชิญชวนให้ผู้ที่สามารถ “งดเหล้า ครบพรรษา” ไปสู่การ “งดเหล้า ตลอดชีวิต” รวมทั้งเข้มมาตรการ “จัดโปร จับโชว์” บังคับใช้กฎหมายเรื่องการจำหน่ายโดยวิธี ลด แลก แจกแถม เพื่อลดการเข้าถึงที่ง่ายเกินไป และรณรงค์ให้ส่วนราชการจัดงานรื่นเริงโดยปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

พร้อมกันนี้ ยังจัดทำมาตรการการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คัดกรองเชิงรุกในชุมชน ส่งข้อมูลให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อส่งเข้ารับการบำบัดรักษาตามระบบในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งโรงพยาบาลได้เตรียมความพร้อมรับการคัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา โดยมีกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต สนับสนุนด้านวิชาการ และการบริหารจัดการตามมาตรฐาน Service plan สาขายาและสารเสพติด เพื่อลดปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการดื่มสุรา

Avatar photo