Economics

‘มธ.’ ทวงถาม ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ ชงไอเดียเชื่อมทางด่วนเข้าศูนย์รังสิต

“ธรรมศาสตร์” บุกคมนาคมทวงถาม “รถไฟฟ้าสายสีแดง” เสนอไอเดียเชื่อมทางด่วนเข้ามาในศูนย์รังสิต “ศักดิ์สยาม” รับปากพร้อมช่วยผลักดัน สั่งศึกษาต่อขยาย “สายสีแดง” ถึงนวนคร สร้างฟีดเดอร์ไป “องครักษ์”

2MOT 2562 08 07 รวค.ประชุม งป.รัฐวิสาหกิจ by PP 19

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังหารือกับคณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) วันนี้ (27 ก.ย.) ว่า คณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้าพบเพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาจราจรรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตและพื้นที่ใกล้เคียง

นายศักดิ์สยามจึงได้ให้ข้อมูลว่า โครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 6,570 ล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 และปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำพระราชกฤษฎีเวนคืนเพื่อสร้างทางข้ามประมาณ 3 จุด คาดว่าจะประกาศเชิญชวนหาผู้รับเหมาได้ในช่วงต้นปี 2563 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566

3CC51254 6403 4F97 81E4 D906E8F5F2A2

นอกจากนี้ นายศักดิ์สยามมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษา ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ถึงนวนคร จังหวัดปทุมธานี ระยะทางประมาณ 1-2 กิโลเมตร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาจราจร ซึ่งหากพิจารณาแล้วว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์และคุ้มค่า ก็จะดำเนินการผลักดันต่อไป

รวมถึงให้ดำเนินการศึกษาขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder) จากรถไฟฟ้าสายสีแดงไปถึงอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดปัญหาจราจร และอำนวยความสะดวกประชาชนในการเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง

แต่ฟีดเดอร์ดังกล่าว คงไม่ใช่การลงทุนระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (heavy rail) เพราะมีพื้นที่จำกัด การลงทุนระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail) จึงมีความเหมาะสมมากกว่า โดยอาจจะแบ่งการลงทุนเป็นเฟสย่อยๆ เฟสละ 2 กิโลเมตร

ทางด่วน

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังหารือกับนายศักดิ์สยามว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ศึกษาออกแบบทางลาดขึ้น-ลงรถ (Ramp) จากทางพิเศษ (ทางด่วน) อุดรรัถยา ช่วงบางปะอิน-ปากเกร็ด เชื่อมต่อเข้ามาภายในมหาวิทยาลัย เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดรอบมหาวิทยาลัย เนื่องจากการตัดกระแสจราจร

เบื้องต้นนายศักดิ์สยามรับปากจะนำเรื่องดังกล่าวไปประสานกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่เป็นผู้บริหารทางด่วนอุดรรัถยา โดยคาดว่า การทางพิเศษฯ ต้องเป็นผู้ลงทุนด้วยวงเงินประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่ใช่งบประมาณจำนวนมากและการลงทุนดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องยาก รวมถึงจะสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย

Avatar photo