Economics

‘เชฟรอน’ ระงับยื่นอนุญาโตฯ ยอมเจรจาไทยต่อ กรณี ‘แหล่งเอราวัณ’

ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐ “เชฟรอน คอร์ป” ระงับการยื่นอนุญาโตตุลาการ ยอมเดินหน้าเจรจากับไทย เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในเรื่องการจ่ายค่ารื้อถอนแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ กลางอ่าวไทย แต่ยังกั๊กถ้าไม่ได้ข้อยุติพร้อมเดินหน้าสู่อนุญาโตตุลาการ

21c4564115ac3afb0c36a402f7c1a6d70235f614

รอยเตอร์ส รายงานว่า บริษัทเชฟรอน คอร์ป ระบุออกมาว่า ทางการไทยต้องการให้เชฟรอนวางหลักประกันค่าใช้จ่าย และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนโครงสร้างแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติทั้งหมด บริเวณแหล่งเอราวัณ ในอ่าวไทย ที่มีกำหนดส่งมอบให้กับบริษัทปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ.ในเดือนเมษายน 2565 เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลง

แม้จะไม่มีการประกาศตัวเลขค่าใช้จ่ายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่สื่อไทยรายงานก่อนหน้านี้ว่า อาจมีมูลค่าสูงถึง 2,500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 76,575 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่าสุด

ความขัดแย้งระหว่างเชฟรอน กับรัฐบาลไทย ยังเกี่ยวข้องกับบริษัทพลังงานข้ามชาติรายอื่นๆ ด้วย อาทิ  มิตซุย แอนด์ โค ของญี่ปุ่น ที่ถือหุ้นในแหล่งเอราวัณ 23.75%  ร่วมกับเชฟรอนที่ถืออยู่  71.25%  ในนาม มิตซุย ออยล์ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด (MOECO)

รวมถึงโททาล ของฝรั่งเศส ที่ถือหุ้นในแหล่งบงกชเดิม 33.33% ในนาม บริษัทโททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด ที่จะต้องถอนออกมาเช่นเดียวกัน เพราะการประมูลแหล่งบงกชที่ผ่านมา ปตท.สผ.ถือหุ้นเอง 100%

“เราเห็นพ้องที่จะระงับกระบวนการอนุญาโตตุลาการไว้ชั่วคราว เพื่อให้มีเวลามากขึ้นสำหรับการหารือ หาทางออกในวิกฤติที่เกิดขึ้น” โฆษกเชฟรอน ระบุ

รายงานข่าว แจ้งด้วยว่า เชฟรอนตัดสินใจเช่นนี้ เพราะมองเห็นความพยายามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่จะหาข้อตกลงในเรื่องนี้ให้ได้ แต่ก็บอกด้วยว่า ยังมีความเป็นไปได้ถึงการยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ทั้งนี้ ปัญหาความขัดแย้งข้างต้นเกิดขึ้นในปี 2559 เมื่อกฎข้อบังคับใหม่ของกระทรวงพลังงาน กำหนดให้ผู้ดำเนินการแท่นขุดเจาะน้ำมัน จะต้องเป็นฝ่ายเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่ติดตั้งไว้ หากไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการอีกต่อไป

เอราวัณ ๑๘๑๒๐๒ 0009

กฎระเบียบใหม่ ยังต้องการที่จะให้เชฟรอนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับการรื้อถอนสินทรัพย์ทั้งหมด ที่เชฟรอนติดตั้งไว้ที่แหล่งเอราวัน รวมถึง สินทรัพย์ที่ยังใช้งานได้ และบริษัทจะส่งมอบต่อไปให้กับปตท.สผ. โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

เชฟรอนแย้งว่า เงื่อนไนในสัญญาฉบับแรกของบริษัทเมื่อปี 2514 บริษัทจะต้องรับผิดชอบเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่ลงความเห็นแล้วว่าจะไม่สามารถใช้งานอีกต่อไป ก่อนที่จะส่งมอบบ่อน้ำมันให้กับผู้ดำเนินงานรายอื่น โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทได้ปฏิเสธคำร้องขอจากกระทรวงพลังงาน ที่จะให้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเชฟรอนนี้ กำลังเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิดของผู้ประกอบการรายอื่นๆในไทย กรณีที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบในอนาคตต่อสินทรัพย์ที่อยู่ในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โททาล ที่นักวิเคราะห์ชี้ว่า น่าจะเป็นบริษัทอีกรายหนึ่งที่ติดตามเรื่องนี้อย่างมาก เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษา หากรัฐบาลไทยจะเคลื่อนไหวทำนองเดียวกันนี้กับบริษัท

บรรดานักลงทุนต่างชาติ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นๆของไทย ก็แสดงความกังวลว่า ต่อไปพวกเขาอาจจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเชฟรอน ซึ่งนักวิเคราะห์เตือนว่า ไม่ว่าการตัดสินใจในเรื่องนี้จะมีผลลัพธ์ออกมาอย่างไร ก็อาจส่งผลกระทบไปถึงกรณีอื่นๆ ตามมา

ที่ผ่านมาหลังเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งโต๊ะเจรจาแทนที่จะปล่อยให้เรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการของอนุญาโตตุลาการ อย่างไรก็ตามเจรจาอย่างที่นายสนธิรัตน์ให้การบ้านไว้ จะต้องให้แล้วเสร็จภายในตุลาคม 2562 หรือ 120 วันหลังกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ส่งหนังสือถึงผู้รับสัมปทานรายเดิมให้วางหลักประกันค่ารื้อถอนเต็มจำนวน

ทั้งนี้มีการประมาณการณ์จำนวนแท่นขุดเจาะที่จะต้องรื้อถอน ในแหล่งเอราวัณประมาณ 200 แท่น ส่วนแหล่งบงกชประมาณ 100 แท่นจากทั้งหมด 425 แท่น  โดยผู้บริหารกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ว่า กฎหมายที่เชฟรอนยึดถือกับกรมยึดถือเป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน คือ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 แต่กฎหมายมีการออกแก้ไขเพิ่มเติมมาตามลำดับ กรมเชื้อเพลิงดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ และพยายามเจรจามาตลอด แต่ทางเชฟรอนมีกฎระเบียบ หากมีข้อขัดแย้งจะต้องจบลงที่อนุญาโตตุลาการ

อย่างไรก็ตามกรมเชื้อเพลิงเห็นว่า สุดท้ายแล้วแท่นที่เหลือที่ยังใช้งานได้ ไม่ต้องรื้อถอน ทางกรมเชื้อเพลิงฯ เชฟรอน และปตท.สผ.สามารถเจรจาพูดคุย เพื่อบริหารจัดการประโยชน์ร่วมกันได้ในท้ายที่สุด

Avatar photo