Sme

‘ราชบุรีประชารัฐ’ ต้นแบบเกษตรกร GAP ใช้สารเคมีปลอดภัย ‘ไม่ตกค้าง’

จากกระแสข่าวเรื่องสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซ้ำเติมเกษตรกรเพิ่มจากปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง แถมด้วยต้นทุนพุ่งจากการกักตุนสารเคมี ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น 3 เท่า กระทบถึงเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ประเทศ และการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมในระยะยาว จึงเป็นที่มาของ “โครงการราชบุรีประชารัฐ พืชผักและผลไม้ปลอดภัย นำไทยสู่ครัวโลก”

rachburi2

โครงการดังกล่าว ริเริ่มโดย นายกฤษฎา บุญราช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบของการผลิตผักและผลไม้ด้วยการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย รวมทั้งให้มีการศึกษาผลกระทบจากการปฏิบัติจริง หลังจากเกษตรกรได้รับคำแนะนำให้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี โดยเปรียบเทียบและตรวจสอบผลอย่างต่อเนื่อง ก่อน ระหว่าง และหลังดำเนินโครงการ ทั้งในด้านสุขภาพเกษตรกรและการตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อยืนยันว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ ได้แก่ สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส ไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบดังที่เป็นข่าว

นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ผู้แทนเกษตรกรในโครงการฯ เปิดเผยว่า “โครงการราชบุรีประชารัฐ ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมอยู่ภายใต้การทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีเป้าหมายเกษตรกรของเครือข่ายผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP เป็นการทำงานภายใต้กลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เกษตรกร และภาคเอกชน เพื่อมุ่งเน้นการผลิตอาหารปลอดภัยไร้สารตกค้างแม้จะใช้สารเคมีซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกก็มีใช้กันในทุกประเทศ

anchulee
อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร

ทั้งนี้ อยากจะเน้นย้ำว่าการพัฒนาภาคการเกษตรกรรม คงต้องยึดหลักผสมผสานอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความสมดุลของระบบ สอดคล้องกับความเป็นจริง การผลิตอาหารปลอดภัยมี 2 ระบบ คือการเกษตรอินทรีย์ คือไม่ใช้สารเคมีเลย และการเกษตรมาตรฐาน GAP ใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย ไร้ผลตกค้าง มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ เกษตรปลอดภัยแต่ด้วยวิธีการที่ต่างกัน

สำหรับโครงการราชบุรีประชารัฐฯ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการรุ่นแรกทั้งสิ้น 50 รายจากผู้ปลูกพืช ผัก และผลไม้ ในพื้นที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันเกษตรกรดังกล่าวปฏิบัติตนตามมาตรฐาน GAP เพาะปลูกและใช้สารเคมีอย่างถูกต้องเหมาะสม รู้จักป้องกันตนเอง และใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นกิจนิสัย โดยจะเสร็จสิ้นโครงการในเดือนธันวาคมนี้

spray

นอกจากนี้ วันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา เกษตรกรมาตรฐาน GAP รุ่นแรกได้เข้ารับการอบรมและการสอบผ่านตามมาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส และขอยืนยันว่า เกษตรกรยังจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืช รวมทั้ง มีการตรวจสอบน้ำ ดิน ผักและผลไม้ ตั้งแต่ปี 2560 ตลอดระยะเวลา 2 ปี ก็ไม่พบการตกค้างของสารพาราควอต

แผนการดำเนินงานต่อไป จะขยายผลไปสู่เกษตรกรในเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น พร้อมส่งผลผลิตสู่ตลาดโลกและส่งต่อผลิตผลคุณภาพสูงไปยังกลุ่มโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ท้ายที่สุด เกษตรมาตรฐาน GAP นี้ จะเป็นเครื่องยืนยันผลผลิตการเกษตรถึงคุณภาพ ความปลอดภัย และเหมาะสมต่อการบริโภค ด้วยการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและเหมาะสม ดีกว่าการแบนหรือยกเลิกใช้สารเคมี และปราศจากทางออกที่ยั่งยืน

Avatar photo