World News

‘ผู้เลี้ยงวัวญี่ปุ่น’ โวย ‘รัฐมองข้าม-ธุรกิจจ่อพัง’ เหตุทำข้อตกลงการค้าสหรัฐ

แม้ทั้งสหรัฐ และญี่ปุ่น จะยืนยันว่า ข้อตกลงการค้าทวิภาคีเบื้องต้น ที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ลงนามกันไปเมื่อวานนี้ (25 ก.ย.) รอบนอกการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จะเป็นข้อตกลงที่ได้ประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย แต่บรรดาเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวญี่ปุ่น กลับมองว่า อาจเป็นข้อตกลงที่ทำให้ธุรกิจของพวกเขาต้องถึงจุดจบลง

000 Hkg4858695 940x580

ปัจจุบัน เหล่าเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวในญี่ปุ่น ต้องเจอกับความยากลำบากในการปรับตัวเข้ากับเงื่อนไขของข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) 2 ฉบับสำคัญ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นลงนามไว้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือ ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิค(ทีพีพี) และข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (อียู)

เกษตรกรเหล่านี้กังวลว่า ข้อตกลงการค้าที่ทำกับสหรัฐ จะยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับพวกเขา

“เราสามารถรักษาตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ของเรา ในการแข่งขันกับชาติสมาชิกทีพีพี เพราะว่าเนื้อเรามีคุณภาพที่ดีมากพอสำหรับการแข่งขัน ต่อให้เนื้อวัวที่นำเข้าจะมีราคาถูกกว่าก็ตาม แต่สำหรับเนื้อวัวอเมริกันแล้ว พวกเขาเป็นคู่แข่งของเราในแง่ของคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้พวกเรากังวล” ฮารุมิ โยชิกาวะ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านปศุสัตว์ ของสหกรณ์การเกษตรในฮอกไกโดกล่าว

ขณะที่อากิโอะ คาวาอิ วัย 61 เจ้าของฟาร์มเลี้ยงวัว ที่มีวัวอยู่ราว 4,300 ตัว ในเมืองชิคาโออิ ทางตอนเหนือของฮอกไกโด บอกว่า นักการเมืองไม่ได้คิดถึงเกษตรกรแบบพวกเขาเลยแม้แต่น้อย ซึ่งแม้เขาตัดสินใจที่จะเลี้ยงวัวต่อไป แต่ก็มีเกษตรกรรายอื่นๆ ที่อาจจะคิดออกจากธุรกิจนี้

“เนื้อวัวญี่ปุ่นอาจจะอร่อย และทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกปลอดภัย แต่เนื้อวัวสหรัฐถูกกว่าแน่นอน และสามารถดึงดูดความสนใจของคนบางกลุ่มได้”

ภายใต้ข้อตกลงที่ประกาศออกมานั้น ญี่ปุ่นจะยกเลิก หรือลด การจัดเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหาร และเกษตรจากสหรัฐมูลค่า 7,200 ล้านดอลลาร์

ไม่เพียงแต่ผู้เลี้ยงวัวเนื้อเท่านั้น กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมของญี่ปุ่น ก็วิตกถึงเรื่องนี้เช่นกัน แม้เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นจะประกาศให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้แล้วก็ตาม

000 1B59PU

เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมรายหนึ่ง ในเขตคานากาวะ ทางตอนใต้ของกรุงโตเกียว กล่าวว่า ข้อตกลงการค้าฉบับนี้ จะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับผู้เลี้ยงวัวรายย่อย ที่มีวัวอยู่ในครอบครองราว 30-50 ตัว ทั้งที่ในขณะนี้พวกเขาก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งราคาอาหารสัตว์ และค่าแรงคนงาน ซึ่งข้อตกลงนี้จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับพวกเขาในการทำธุรกิจนี้

แม้กระทั่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญ ก็ยังตั้งคำถามว่า คณะเจรจาญี่ปุ่นได้มีการกระทำที่มากพอที่จะปกป้องเกษตรกรในประเทศหรือไม่

“ญี่ปุ่นควรที่จะเรียกร้องผลประโยชน์จากสหรัฐให้ได้มากกว่านี้ เพราะเป็นฝ่ายสหรัฐเองที่ถอนตัวไปจากทีพีพี และต้องการที่จะเข้าตลาดให้มากกว่านี้” อากิโอะ ชิบาตะ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรธรรมชาติ อดีตนักวิจัยของมารุเบนิ บริษัทเทรดดิ้่งรายใหญ่ของญี่ปุ่น กล่าว

เขาบอกด้วยว่า ต่อให้การลดภาษีนำเข้าจะอยู่ในระดับเดียวกับข้อตกลงทีพีพี แต่ก็เป็นบั่นทอนกำลังใจของเกษตรกรญี่ปุ่น ที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดอยู่แล้ว ในการที่จะทำธุรกิจต่อไป

6c683801534da71a5b807af724f040c269506aee

ทั้งนี้ ข้อตกลงที่ประกาศออกมานัค้น ยังเป็นแค่ข้อตกลงในส่วนแรกของการเจรจา ซึ่งรัฐบาลสหรัฐ ระบุว่า ส่วนที่ 2 จะมีภาครถยนต์ของญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วย ซึ่งจนถึงขณะนี้ สหรัฐก็ยังขู่ที่จะจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ญี่ปุ่น ในอัตราสูงสุด 25% เพราะมองว่า จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การเจรจาเดินหน้าไปได้

โนบุฮิโระ ซูซูกิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าเกษตรกรรม จากมหาวิทยาลัยโตเกียว แสดงความเห็นว่า คณะเจรจาญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอด้านการเกษตรให้ เพราะต้องการที่จะปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์เอาไว้

ภาคการผลิต ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ ของญี่ปุ่น ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 20% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตรงกันข้ามกับภาคเกษตร ที่มีสัดส่วนเพียง 1% ของจีดีพีเท่านั้น

Avatar photo