Wellness

9 สัญญาณเตือนภัย ‘โรคซึมเศร้า’ 9 เทคนิคการช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

“โรคซึมเศร้า” ถือเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของประชาชน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขออกมาเตือนภัยและให้คำแนะนำบ่อยครั้งต่อเนื่อง เพราะมีผู้ป่วยที่ไม่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว และปล่อยให้เวลาผ่านไปจนนำมาสู่การฆ่าตัวตาย

ในปี 2560 องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการณ์ไว้ว่า ประชากรมากกว่า 300 ล้านคน หรือ 4 % ของประชากรโลก เป็นโรคซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง 20.4 % โดยพบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-19 ปี เสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ และคาดการณ์ว่า ในปี 2563 โรคซึมเศร้าจะเป็นสาเหตุการสูญเสียสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจหลอดเลือด

สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้ 1.5 ล้านคน หรือ 2.5 % ของประชากรไทย แม้จะพบว่ามีทั้งชายและหญิงที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า แต่ตามสถิติแล้ว พบว่าผู้หญิงเสี่ยงเป็นโรคมากกว่าผู้ชาย 1.7 เท่า

adult 1845814 640

มี 9 สัญญาณเตือนภัยให้ทุกคนสังเกตตัวเอง และคนรอบข้างว่าเป็นโรคซึมเศร้าแล้วหรือยัง เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างทันท่วงที  ดังนี้

1.มีอารมณ์ซึมเศร้า

2.ความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก

3.น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้นมาก เบื่ออาหาร หรือ เจริญอาหารมาก

4.นอนไม่หลับ หรือหลับมากเกินไป

5.กระวนกระวายอยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง

6.อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง

7.รู้สึกตนเองไร้ค่า

8.สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด

9.คิดเรื่องการตาย หรือคิดอยากตาย

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า หากพบอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ หรือมีอาการ 5 ข้อ หรือมากกว่า เป็นอยู่อยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และมีอาการตลอดเวลา แทบทุกวัน หมายถึงมีภาวะซึมเศร้า ควรได้รับบริการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือพบแพทย์เพื่อการบำบัดรักษา สามารถปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

desperate 2293377 640

แนวทางแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าที่สังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะช่วยกันได้มี 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่

1.ลดอคติ สร้างความตระหนัก สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
2.ลดการเกิดโรคในผู้ที่เสี่ยงโดยค้นหาและป้องกัน
3.ลดระยะเวลาและความรุนแรงโรค
4.ป้องกันการฆ่าตัวตาย
5.ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

ทั้งนี้กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ภาวะซึมเศร้า เป็นความเจ็บป่วย ไม่ใช่ความอ่อนแอทางจิตใจ จะมีความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ เศร้า ท้อแท้ ซึม เบื่อไม่อยากพูด หรือทำกิจกรรมเหมือนเดิม ถ้าไม่รีบรักษาอาการจะรุนแรงขึ้น

โดยการศึกษาวิจัยสรุปออกมาว่า ภาวะซึมเศร้าเกิดจาก “ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง”  ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับ “พันธุกรรม”  โดยมีความเครียดทางจิตใจ เป็นตัวกระตุ้นกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย

  • กลุ่มผู้ป่วยโรคทางกายเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง
  • กลุ่มหญิงตั้งครรภ์หลังคลอด
  • กลุ่มสูงอายุ
  • กลุ่มติดสุรา และสารเสพติด
  • กลุ่มสูญเสียคนที่รัก หรือสิ่งของที่รัก

people 3163556 640

อย่างไรก็ตามโรคซึมเศร้า ป้องกันได้ หากป่วยก็สามารถรักษาให้หายได้ โดยโรคนี้คนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิดสำคัญอย่างมากที่จะช่วยผู้ป่วยให้หายได้ โดยแนะนำ 9 เทคนิคการช่วยเหลือ ดังนี้

1.เข้าหา และยินดีช่วยเหลือ รับฟังอย่างตั้งใจและเข้าใจ
2. พาไปพบแพทย์ หรือจิตแพทย์
3.ดูแลให้รับประทานยาครบตามที่แพทย์สั่ง ส่วนใหญ่จะดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์
4.ดูแลการกินการนอนให้เป็นเวลา
5.ชวนออกกำลังกาย
6.ร่วมกิจกรรมในชุมชน
7.ให้มองสิ่งรอบข้างอย่างมีความสุข ไม่นึกถึงสิ่งบั่นทอนจิตใจ
8.หากมีอาการมาก บอกไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว ดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
9.เก็บสิ่งที่อาจเป็นอันตรายไม่ให้มีในบ้าน เช่น เชือก ของมีคม อาวุธปืน ยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง หรือยาอันตรายต่างๆ

สำหรับการรักษาทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพนั้น ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ มีทั้งการรักษาด้วยยาต้านเศร้าจิตบำบัด และสติบำบัด

จากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องที่ผ่านมา ทำให้อัตราการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นจาก 3.7% ในปี 2551 เป็น 51.49 % ในปี 2560 ล่าสุดในปี 2561 เพิ่มเป็น 55.40% แต่อีกกว่าครึ่งยังตกหล่น ขอให้กลับมามองตนเอง และคนใกล้ชิด ว่าเป็นอีกกว่า 50% ที่เข้าสู่โหมดโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัวหรือไม่?? 

Avatar photo