Sme

‘Veget Crisp’ จากคิดทอดกรอบให้ลูก สร้างรายได้เดือนละ ‘6 แสน’

หลังจาก สสว. ให้งบสนับสนุนช่วยผู้ประกอบการพัฒนาแบรนด์ผ่านมหาวิทยาลัยดังๆ ทั่วประเทศ จากนั้นสถาบันการศึกษาได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์มาแนะนำให้ผู้บริโภคทั่วประเทศได้รู้จักกันในรางวัล Product Champions 2019 รวมทั้งสิ้น 8 รายการฯ ผลิตภัณฑ์ “เห็ดนางฟ้าทอดกรอบ” จังหวัดพัทลุง ที่นำนวัตกรรมการผลิตจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาปรับใช้ สร้างแบรนด์ ทำการตลาดและส่งเสริมชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการปลูกเห็ดนางฟ้าเพื่อนำมาผลิตสินค้า

2N1A9907
บุษญพรรณ วงษ์พิไลวัฒน์

นางบุษญพรรณ วงษ์พิไลวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวจเจทฟู๊ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเห็ดนางฟ้าทอดกรอบ แบรนด์ “เวจเจท คริสฟ” (Veget Crisp) เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจมาจากเห็นวัตถุดิบในชุมชนบ้านเกาะเสือ ที่มีเพียงไม่กี่ครัวเรือน เริ่มจากครอบครัวตัวเองที่ซื้อเห็ดนางฟ้าก้อนมาปลูกผสมผสานกับการทำเกษตรกรรมกรีดยางบนที่ดินประมาณ 1 ไร่ นอกจากนี้ยังปลูกพืชผักผสมผสาน เช่น พริก ตะไคร้ ข่า คะน้า ผักกาด ผักบุ้ง มะเขือ ฯลฯ

เพราะต้องการปลูกเพื่อทานในครอบครัวและสร้างรายได้เสริม ด้วยการเริ่มจากปลูกเห็ดนางฟ้าเสริมปลูกแบบเรียบง่ายในห้องน้ำ ต่อมาทำเป็นโรงเรือนเล็ก ๆ เริ่มแรกปลูก 200 ก้อนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เห็ดนางฟ้างอกงาม ประกอบกับลูกชายไม่ชอบกิน จึงนำเห็ดนางฟ้ามาชุบแป้งทอดทำให้ลูกชายกิน แล้วลูกก็ชอบมาก จึงพัฒนามาทอดขายตามตลาดนัด

แต่การทอดตอนแรก ประสบปัญหาคือ อมน้ำมัน จึงคิดหาวิธีผสมแป้งต่างๆ เพื่อไม่ให้อมน้ำมันและหลีกเลี่ยงใส่ผงชูรส และเพิ่มจากเห็ดนางฟ้าทอดเป็นนำใบบัวบก ตำลึง ผักขมนำมาทอด จึงเกิดเป็นไอเดียนำผักมาทอดจำหน่าย และคิดพัฒนาสูตรแป้งทอดอย่างจริงจังนานเป็นปีไม่ให้อมน้ำมัน และทำการตลาดได้ยั่งยืนและขายได้ทุก ๆ ฤดูกาล จนถึงปัจจุบันสามารถบุกตลาดออสเตรเลีย ไทย จีน ฮ่องกง และมาเลเซียได้แล้ว และสามารถทำรายได้ให้กลุ่มถึง 6 แสนบาทต่อเดือนทีเดียว

2N1A9922

“พอดีเห็นป้ายประกาศรับเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับสสว. เราจึงเข้าร่วมโครงการมีผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ทั้งการทำการตลาด พัฒนาสินค้า ทำหีบห่อ สอนเรื่องการยืดอายุสินค้า สอนว่าเราต้องเก็บสินค้าในบรรจุภัณฑ์และเก็บรักษาอย่างไรได้นาน เมื่อก่อนแป้งเราหนามาก เรามีผัก 7 ชนิด เช่น เผือก มัน เห็ดนางฟ้า ใบบัวบก ชะพลู ผักชม ดอกอัญชัญ แต่อาจารย์แนะนำว่า เราทำตลาดจริง ๆ ให้โฟกัสจุดเดียวคือทำสินค้าตัวเดียวออกมาก่อน เพื่อการพัฒนาที่เต็มที่”

หลังจากได้รับคำแนะนำ จึงเลือกพัฒนาเห็ดนางฟ้า 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เห็ดภูฎาน เห็ดนางฟ้าดำ และเห็ดฮังการีที่มีคุณสมบัติพิเศษของเห็ดทั้ง 3 ชนิด คือ มีความหวานของเห็ด เหนียวนุ่ม อีกทั้งเมื่อทอดแล้วให้ภาพลักษณ์ที่ดีคือ มีสีเหลืองทองน่ารับประทาน ควบคู่กับการใช้นวัตกรรม “สลัดแป้งออก” ก่อนทอด ซึ่งได้คำแนะนำจากมหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ เพื่อให้เห็ดนางฟ้ามีความบางกรอบน่ารับประทาน ทานแล้วได้ผิวสัมผัสของเห็ดและรสชาติยังมีความหวานของเห็ดอยู่

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังให้คำแนะนำด้านบรรจุภัณฑ์ โดยเปลี่ยนจากถุงธรรมดาเป็นถุงอลูมิเนียมฟรอยด์ อัดกับก๊าซไนโตรเจนในการขั้นตอนการแพค ทำให้เก็บเห็ดได้นานถึง 6 เดือนอีกด้วย

สำหรับการช่วยเหลือชุมชนในละแวกบ้าน คือการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกเห็ดนางฟ้าและนำมาส่งที่โรงงานของเธอ โดยมีการประกันรายได้จำหน่ายเห็ดนางฟ้าอยู่ที่กิโลกรัมละ 65 บาท เป็นการจ่ายเงินสดเพื่อให้ชาวบ้านได้มีเงินใช้จ่ายหมุนวียน ปัจจุบันสามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้มากกว่า 20 ครัวเรือนในหลายชุมชน

2N1A9921

พร้อมกันนี้ ยังได้จับมือกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน ต.ดอนทราย อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ในการส่งเสริม ให้คำแนะนำการสร้างโรงเรือนเพื่อปลูกเห็ดนางฟ้า ส่งโรงงานของเธอซึ่งสามารถรับซื้อได้มากถึงวันละ 100-200 กิโลกรัม และส่งเสริมให้ชาวบ้านเพาะเห็ดนางฟ้าแบบออแกนิคอีกด้วย

ด้วยข้อจำกัดด้านการออกของเห็ดนางฟ้าวัตถุดิบหลักที่ออกมากในช่วงหน้าฝน ช่วงหน้าร้อนบุษญพรรณจึงเปลี่ยนใช้เห็ดชนิดอื่นมาทดแทน เช่น เห็ดหูหนู เข็มทอง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพัฒนาเห็ดหอมอยู่ อีกทั้งเปิดโรงงานของเธอเป็นแหล่งเรียนรู้ การทำก้อนเห็ดนางฟ้า ให้ชาวบ้านมาดูงาน จดสูตรเพาะเห็ด ใครสนใจมีทุนมาทดลองทำงานที่โรงงานได้ ถือเป็นการให้อาชีพ ถือเป็นรายได้เสริมจากอาชีพหลักคือการกรีดยางของชาวบ้าน

“เป้าหมายคือ อยากทำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น อยากให้ลูกค้าเวลานึกถึงเห็ดทอดนึกถึงเรา และสามารถส่งออกต่างประเทศได้ ถ้านึกถึงเห็ดนางฟ้าทอดต้องซองสีส้มและสีแดงเท่านั้น ” นางบุษญพรรณกล่าว

Avatar photo