Telecommunications

กสทช.โยน กทม.กำหนดมาตรการเยียวยา‘บีทีเอส’ขัดข้อง

หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมารถไฟฟ้าบีทีเอส มีปัญหาการเดินรถขัดข้องของระบบอาณัติสัญญาณ วันนี้ (2 ก.ค.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ดำเนินการตรวจสอบการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ของบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ช่วง 6.00-7.00 น. ด้วยวิธีการสุ่มตรวจในเส้นทางสุขุมวิทระหว่างสถานีอารีย์-พร้อมพงษ์ เพื่อยืนยันผลการแก้ไขปัญหาขัดข้องของระบบอาณัติสัญญาณ  ซึ่งพบว่า บีทีเอส สามารถเดินรถไฟฟ้าได้ตามปกติและไม่มีความล่าช้า

กสทช. บีทีเอส

หลังจากนั้น นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ลงนามในหนังสือ เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาขัดข้องระบบอาณัติสัญญาณของการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางสายสีลมและสายสุขุมวิท ส่งถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ เพื่อแจ้งให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ดำเนินขั้นตอนต่อไป หลังจาก กสทช. ได้ตรวจสอบ ทั้งระบบอาณัติสัญญาณ, ระบบป้องกันการรบกวนคลื่นฯ และการย้ายตำแหน่งการใช้งานคลื่นความถี่ให้ไปอยู่ทางขวาใกล้กับคลื่น 2400 MHz หรือคลื่น 2480-2495 MHz เพื่อดำเนินการใช้งานเดินรถไฟฟ้า ซึ่ง บีทีเอส ได้ดำเนินการปรับปรุงแล้ว  ขณะที่มาตรการเยียวยาเป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้พิจารณา

“กสทช.ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาขัดข้องการเดินรถของ บีทีเอสแล้ว  และส่งข้อมูลให้ กรุงเทพมหานคร ที่จะต้องไปหารือกับ บีทีเอส  ในการแก้ปัญหาและเยียวยาประชาชนต่อไป”นายฐากร กล่าว

กสทช. บีทีเอส

กสทช.แจงผลตรวจสอบบีทีเอส

สำหรับหนังสือที่สำนักงาน กสทช. ชี้แจงต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กรณีการเดินรถบีทีเอส ขัดข้องและได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วนั้น  หลังจากเชิญผู้แทนของบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 กรณีการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องของระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล (ประเทศไทย) จำกัด กำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์และเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้รับส่งสัญญาณของระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งใช้คลื่นฯ 2400-2500 MHz  ที่ได้รับอนุญาตจาก  กสทช.

โดย บีทีเอส สันนิษฐานว่าการรบกวนที่เกิดขึ้นในการเดินรถ เกิดการการใช้คลื่นฯ ที่ กสทช. อนุญาตให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ใช้งานสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในย่าน 2300 MHz

สำนักงาน กสทช. ได้อนุญาตให้ บีทีเอส ตั้งสถานีฐาน (Base Station) จำนวน 28 สถานี  ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมประเภท Wireless Access Point/Client ตรา Moxa  รุ่น TAP-6226-BC-US-T (BT-NPS) ความถี่วิทยุ 2400-2500 NHz  จำนวน 213 ชุด ร่วมกับสายอากาศ Directional Antenna  ตรา Huber+Suhner  รุ่น 1324-27-0098  กำลังส่งไม่เกิน 100 มิลลิวัตต์  จำนวน 518 ชุด

ทั้งนี้ การอนุญาตให้ใช้ความถี่วิทยุดังกล่าวถือเป็นกิจการรอง (Secondary Service)  และไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองและหากก่อให้เกิดการรบกวนการใช้งานของข่ายสื่อสารวิทยุคมนาคมอื่น จะต้องระงับการใช้ความถี่ที่ได้รับอนุญาตดังกล่าวทันที

จากการตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่ของ บีทีเอส พบว่ามีการใช้ช่องสัญญาณในช่วงความถี่ที่ได้รับอนุญาตใกล้เคียงกับคลื่นฯ ทีโอที

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการถูกรบกวนการใช้คลื่นฯ ใกล้เคียงหรือคลื่นฯอื่นๆ สำนักงาน กสทช. จึงแนะนำให้ บีทีเอส ติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องวิทยุคมนาคม ซึ่งใช้คลื่นฯ ตามที่ได้รับอนุญาต โดยให้ บีทีเอส ปรับย้ายช่องสัญญาณที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันไปยังช่องสัญญาณอื่นที่ห่างจากคลื่นฯทีโอที ในย่าน 2300 ให้มากที่สุด รวมทั้งนำอุปกรณ์กรองสัญญาณ (Filter) ไปติดตั้งในระบบการสื่อสาร

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถไฟฟ้าเป็นระบบที่มีความสำคัญ เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและทรัพย์สินของประชาชน  ที่ บีทีเอส ต้องให้ความสำคัญ

ดังนั้นจึงเห็นว่า กรุงเทพมหานคร ควรกำชับ ให้บีทีเอส ดำเนินการเพื่อให้การติดต่อสื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือในระดับสูง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก  และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการ

กสทช. บีทีเอส

ส่งเรื่อง กทม.กำหนดมาตรการเยียวยา

สำหรับข้อเรียกร้องของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางสีลมและสุขุมวิท ที่ต้องการให้ บีทีเอส มีมาตรการเยียวยาต่อกรณีการข้อข้องของระบบอาณัติสัญญาณในครั้งนี้  สำนักงาน กสทช. เห็นว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นจากระบบอาณัติสัญญาณที่ บีทีเอส ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา  และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับเปลี่ยนเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ที่ใช้งานในระบบเดิมให้เป็นระบบใหม่  โดยไม่ได้มีมาตรการดำเนินการเพื่อป้องกันการถูกรบกวนจากการใช้คลื่นฯ อื่นที่เหมาะสม อาทิ การออกแบบระบบสื่อสัญญาณที่เหมาะสม การติดตั้งอุปกรณ์กองสัญญาณ (Filter) การปรับย้ายช่องสัญญาณเป็นต้น

ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่า การเกิดขัดข้อง ซึ่งเป็นผลให้ขบวนรถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำและเกิดความล่าช้าในการเดินรถ อันส่งผลให้ประชาชน ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อน จากกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นจากระบบอาณัติสัญญาณของการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางสีส้มและสุขุมวิทของ บีทีเอส

สำนักงาน กสทช.เห็นว่า กรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล สมควรดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดไว้ต่อไป

อย่างไรก็ตามสำหรับผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากการใช้งาน  กสทช. ได้ส่งรายละเอียดให้ผู้ว่า กทม.แล้ว เนื่องจากเป็นผู้กำกับดูแลบีทีเอส และเป็นผู้กำหนดมาตรการเยียวยาต่อไป เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจ กสทช.ในการดูแลเรื่องดังกล่าว

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight