Business

เดินหน้าศึกษา PPP ‘รถไฟไทย’ เล็งเปิดให้เอกชนร่วมเดินรถระยะสั้น

“การรถไฟฯ-กรมรางฯ” เดินหน้าศึกษาพีพีพี “รถไฟไทย” เล็งเปิดให้เอกชนร่วมเดินลดระยะสั้น ลดภาระภาครัฐ หนุนเกิดบริการใหม่ๆ

S 79544324

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายจะเร่งรัดการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศ เพื่อให้รางรถไฟที่มีอยู่เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งยังเป็นการเร่งลดต้นทุนการขนส่ง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอกชนไทย และลดภาระการลงทุนของการรถไฟฯ ที่ยังประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาโดยตลอด

เบื้องต้นการรถไฟฯ จึงมีแนวคิดจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนเดินรถขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า ในรูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) โดยให้เอกชนจัดหาขบวนรถเข้ามาร่วมให้บริการขนส่ง และจ่ายค่าเช่ารางให้การถไฟฯ เนื่องจากปัจจุบันยังมีรางรถไฟ (slot) ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เหลืออยู่

“ขณะนี้เตรียมจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รวมถึงรูปแบบการร่วมทุนที่เหมาะสมว่าจะเป็นลักษณะใด จึงเกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐ ทั้งในรูปแบบ PPP Gross Cost และ PPP Net Cost คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่ไม่เคยทำมาก่อน จึงต้องศึกษาข้อมูลด้วยความละเอียดรอบคอบ” นายวรวุฒิกล่าว

S 3252227

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) แจ้งว่า กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้กรมการขนส่งทางรางทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากรางรถไฟที่มีอยู่ คู่ขนานไปกับการรถไฟฯ โดยมีแนวคิดที่จะสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดการให้บริการใหม่ๆ ที่ทันสมัย รวมทั้งยังเป็นการหารายได้ให้กับการรถไฟฯ โดยที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

เบื้องต้นมีแนวทางการสนับสนุนภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถในระยะสั้นดังนี้

1.รวบรวมความสามารถของทางรถไฟที่เหลืออยู่ในขณะนี้ (slot) มาเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า

2.ระหว่างที่ พ.ร.บ.การขนส่งทางรางประกาศใช้ การรรถไฟฯ ต้องดำเนินการปรับปรุงแบบการให้บริการ โดยส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงการจัดหาขบวนรถ เพื่อประกอบการในลักษณะการจ้างวิ่งในรูปแบบ PPP Gross Cost ทดแทนการลงทุนด้วยตนเองในเส้นทางที่มีศักยภาพ

3. เร่งปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของการรถไฟฯ เพื่อให้เอกชนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามารถเข้ามาเดินรถเพื่อขนส่งสินค้า โดยไม่มีอุปสรรค เช่น ด้านการทำประกันภัย คนขับรถ ห้วงเวลาการเดินรถ เป็นต้น

fig 30 05 2019 04 58 55

ทั้งนี้ ล่าสุดก็ได้เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางรถไฟที่สนใจเข้ามาหารือ เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคแล้ว และอยู่ระหว่างจัดทำมาตรการส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางรางในระยะสั้น เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป

“กรมรางฯ ได้ให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ช่วยศึกษาระบบกำกับดูแลกิจการขนส่งทางราง เพื่อจัดทำข้อมูลและร่างกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานการประกอบกิจการขนส่งทางราง รวมทั้งได้หารือเรื่องการใช้ประโยชน์จากรางร่วมกับการรถไฟฯ แล้ว โดยอยู่ระหว่างการประสานผลการพิจารณานโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุน และจัดทำข้อเสนอแนะการดำเนินงานในระยะเร่งด่วนกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)”

Avatar photo