COLUMNISTS

‘วิกฤติเศรษฐกิจ’ ไม่ได้อยู่ไกลอย่างที่เราคิด

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
6409

กองทัพโดรนที่โจมตีโรงกลั่นน้ำมันของซาอุดีอาระเบียเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า เป็นปัจจัยเร่งความกังวลว่า วิกฤติเศรษฐกิจ อาจจะหวนกลับมาเยือนโลกอีกครั้ง หลังห่างหายไปกว่า 10 ปี โดยมีการเชื่อมโยงเหตุการณ์ดังกล่าวเข้ากับภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังขยับในจังหวะชะลอตัว

20180811 world bank

ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2562 จาก 2.9 % ลงสู่ระดับ 2.6 % นับว่าต่ำเป็นประวัติการณ์ ไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ปรับลดคาดการณ์จาก 3.3 % เหลือ 3.2 % และ โออีซีดี (องค์การความร่วมทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ปรับตัวเลขลงสู่ 2. 9 % จากเดิมขึ้นป้ายไว้ที่ 3.2 %

สงครามการค้าระหว่าง สหรัฐกับจีนที่ตะลุมบอนยืดเยื้อกันมาข้ามปี และยังไม่ท่าทีว่าจะยุติ คือ สาเหตุหลักที่คุกคามเศรษฐกิจโลก จนองค์กรหลักๆ เหล่านั้นพากันหั่นคาดการณ์จีดีพีโลกปีนี้ และยังส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ชะลอตัวลงตาม

เศรษฐกิจของ 2 ประเทศมหาอำนาจคู่กรณี ร่วมชะตากรรมชะลอเช่นเดียวกัน เศรษฐกิจของสหรัฐ ปีนี้ปรับลงสู่ 2.4 % ลดลงจากช่วงก่อนหน้า และต่ำกว่าปี 2561 ที่เคยขยายตัว 2.9 % ส่วนจีนเบอร์สองเศรษฐกิจโลก ไตรมาสสองที่ผ่านมา ขยายตัว 6.2 % ลดลงจากไตรมาสแรก พร้อมกับบักทึกต่อท้ายด้วยว่า ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 27 ปี

ผลจากสงครามการค้าไม่จำกัดเฉพาะสองคู่กรณีหากยังลุกลามไปทั้งโลก กลุ่มยูโรโซนไตรมาสสองเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 0.2 % ลดจาก 0.4 % ในไตรมาสแรก

ในขณะที่อินเดีย ดาวรุ่งทางเศรษฐกิจ เผชิญการชะลอตัวเช่นกัน แต่เศรษฐกิจยังขยายตัวในอัตราสูง โดยไตรมาสสองที่ผ่านมาจีดีพี ขยายตัว 5. 8 % ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า มีเพียงญี่ปุ่น หนึ่งเดียวใน 3 ใหญ่มหาอำนาจเศรษฐกิจโลก (รองจากสหรัฐและจีน) ที่เศรษฐกิจยังขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง

ส่วนอาเซียนหากส่องเฉพาะประเทศที่เป็นหัวแถวด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค สถานการณ์จัดได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เติบโตแต่ชะลอตัวลง อีกกลุ่ม ยังรักษาอัตราเติบโตเอาไว้ได้

Capture 17

ประเทศไทยอยู่กลุ่มแรก สศช.(สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ระบุว่า ไตรมาสแรกปีนี้ เศรษฐกิจไทย ขยายตัว 2.8 % ไตรมาสสองถัดมาลดลงเหลือ 2.3 % พร้อมคำอธิบายเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ ว่า ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี สรุปครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.6 %

สิงคโปร์ หัวแถวด้านเศรษฐกิจของอาเซียน สถานการณ์เศรษฐกิจคล้ายคลึงกับไทย คือเติบโตแบบลดลง ไตรมาสสองขยายตัวชนิดคาบเส้น 0.1 % ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวในระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ยกสถานการณ์เศรษฐกิจสิงคโปร์ที่ขยายตัวแบบเฉียดติดลบมาปลอบใจคนไทยเสมอๆว่า เขาชะลอตัวมากกว่าไทยยังไม่ตกใจ

ฟิลิปปินส์อยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจเติบโตลดลงเช่นกัน ไตรมาสสองเศรษฐกิจขยายตัว 5.5 % แม้ลดลงจากไตรมาสหนึ่งเล็กน้อย แต่สำนักข่าวต่างประเทศ ออกมาระบุเพิ่มเติมว่า ขยายตัวช้าที่สุดในรอบ 4 ปี ตามด้วยเวียดนาม ดาวรุ่งแห่งอาเซียน เศรษฐกิจครึ่งปีแรกขยายตัว 6.7 % ลดลงจากไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วที่ขยายตัว 7.31 %

ส่วนกลุ่มที่คงรักษาอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้มีมาเลเชียเป็นหัวขบวน เพื่อนบ้านของไทยรายนี้ นักวิเคราะห์เคยระบุไว้ว่า จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าทันทีเช่นเดียวกับไทย โดยเศรษฐกิจมาเลเชียไตรมาสสองจีดีพีขยายตัว 4.9 % มากกว่า ไตรมาสแรกเกือบครึ่งเปอร์เซ็นต์

อินโดนีเซียประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในอาเซียน จีดีพียังขยายตัวต่อเนื่อง ไตรมาสสองเศรษฐกิจขยายตัวถึง 5.05 % เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เช่นกัน

trump tariff war

สรุปรวมแล้ว ครึ่งปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกขยายตัวช้าลงจากปีก่อนหน้า ซึ่งมีผลตามมาเป็นลูกโซ่ หมายถึงการบริโภคการค้าการลงทุนการจ้างงาน ฯลฯ จะชะลอตัวตามในระนาบเดียวกันรวมทั้งเงินในกระเป๋าของชาวบ้านทั่วไป

ดังที่กล่าวข้างต้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ประธานาธิบดี โดนัลต์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐจุดชนวนขึ้นมา คือสาเหตุหลักที่ผลักให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ด้วยเหตุผลนี้ท่าทีของ ประธานาธิบดีทรัมป์ในช่วงถัดจากนี้ไป จึงมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังโดยตรง

แม้วิกฤติเศรษฐกิจโลกหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา มีต้นตอจากการมีหนี้มากเกินจนกลไกเศรษฐกิจไปต่อไม่ได้ แต่สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในหลายประเทศที่สร้างสถิติตกต่ำใหม่ให้บันทึกกันต่อเนื่อง และมีความตึงเครียดจากภูมิภาคค่างๆ ผสมโรงเป็นระยะๆ เหมือนเป็นสัญณาณเตือนว่า วิกฤติเศรษฐกิจ ไม่ได้อยู่ไกลอย่างที่เราคิด