Branding

อาหารทะเล ‘นอร์เวย์’ ปั้นไทยขึ้นฮับอาเซียน ลุยตลาด ‘แซลมอน’

สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ เชื่อมั่นตลาดไทย หลังยอดส่งออกแตะ 4,500 ล้าน ย้ายสำนักงานระดับภูมิภาคมายังกรุงเทพมหานคร หวังเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดร. อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท
อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท

ดร. อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) เปิดเผยว่า จากการเติบโตของตลาดอาหารทะเลในประเทศไทย โดยเฉพาะตลาดปลาแซลมอนที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย ล่าสุด NSC จึงย้ายสำนักงานระดับภูมิภาคจากสิงคโปร์มายังกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งวางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเปิดตลาดอาหารทะเลคุณภาพสูงสู่ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับในปีที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ ส่งออกอาหารทะเล โดยเฉพาะปลาแซลมอน สูงถึง 29,000 ตัน หรือมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท ซึ่งตลาดประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญ เนื่องจากไลฟ์สไตล์ที่ใส่ใจต่อสุขภาพกลายเป็นเทรนด์ที่นิยมในประเทศไทย การเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณภาพดี รวมไปถึงต้นกำเนิดของแหล่งอาหารที่นำมาบริโภค เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้บริโภคไทย นอกจากนี้สภาอุตสาหกรรมฯ ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น ระหว่างอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์และไทย

นอกจากนี้ นอร์เวย์ ถือเป็นประเทศผู้นำทางด้านนวัตกรรมและการพัฒนาการเพาะเลี้ยงอาหารทะเลที่ดีที่สุดในโลก นอกจากปลาแซลมอนที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ยังมีอาหารทะเลอีกหลากหลายชนิด ที่ได้รับการดูแลในฟาร์มและเลี้ยงในแหล่งน้ำเย็นและฟยอร์ดที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ โดยฝีมือผู้ชำนาญการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาหลายสมัย ขณะที่การส่งออกปลาแซลมอนมายังประเทศไทยนั้น ใช้เวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมงในการเดินทางจากนอร์เวย์มาถึงกรุงเทพฯ ด้วยกรรมวิธีรักษาคุณภาพและความสดใหม่ของปลา

NSC

ปัจจุบัน นอร์เวย์ส่งออกอาหารทะเลคุณภาพสู่ตลาดโลก โดยประเทศไทยถือว่าเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่สูงในอนาคต ประเทศไทยนำเข้าอาหารทะเลสดจากนอร์เวย์จำนวนมาก โดยเฉพาะปลาแซลมอน นอร์เวย์ และมีส่วนแบ่งการส่งออกอาหารทะเลในตลาดไทยมากถึง 98% โดยมีมูลค่าการนำเข้าอาหารทะเลมากถึง 10,000 ตัน เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา และในไตรมาส 3 ปี 2562 ประเทศนอร์เวย์ส่งออกปลาฟยอร์ดเทราต์และปลาแซลมอนมายังประเทศไทยกว่า 11,000 ตัน

ขณะที่แผนการรุกตลาดไทยนับจากนี้ จะเน้นการเจาะกลุ่มเป้าหมายทั้งแบบ บีทูบี (business-to-busines:B2B) และแบบบีทูซี (business-to-customer:B2C) โดยในตลาด บีทูบี จะจับมือกับร้านอาหารชั้นนำในประเทศ เช่น ซูชิ เด็น, เซ็น และ เอสแอนด์พี เป็นต้น ส่วนตลาดบีทูซี จะเริ่มจากการสร้างเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของปลาแซลมอนนอร์เวย์และปลาฟยอร์ดเทราต์ เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง รวมถึงจัดกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมายสำหรับทุกภาคส่วนตั้งแต่ ผู้บริโภค ผู้ส่งสินค้า ผู้ส่งออก ร้านค้าขายปลีก และร้านอาหารต่าง ๆ

Avatar photo