Business

ถึงยุคความมั่งคั่งเปลี่ยนมือ! ‘ศุภชัย’ชี้สงครามการค้า ส่งผลบวกกับเอเชีย

20180702 111604
ดร.คิมูสะ คิทูยี และดร.ศุภชัย พาณิชภักดิ์ ขณะให้สัมภาษณ์สื่อในการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2561

ดร.ศุภชัย พาณิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก หรือ WTO และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ชี้สงครามการค้าระหว่างยุโรป – สหรัฐอเมริกา – จีน อาจเป็นผลดีต่อเอเชีย

โดยการให้ความเห็นเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจโลกดังกล่าวเกิดขึ้นในเวทีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2561 ในหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านไปสู่วาระแห่งนวัตกรรมด้านการค้าและการพัฒนาเพื่อบูรณาการของภูมิภาค” ที่ ดร.ศุภชัย พาณิชภักดิ์ ให้ทัศนะว่า ปัจจุบันเอเชียคือตัวละครสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงของประเทศมหาอำนาจ

“ผมไม่เชื่อว่าในทางการค้าที่มีการตอบโต้กันระหว่างยุโรป – สหรัฐอเมริกา – จีน มันจะเป็นผลกระทบเชิงลบอย่างมากต่อเอเชีย เพราะเอเชียในตอนนี้เป็นตัวประกอบสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลก เนื่องจาก 60 – 70% ของซัพพลายเชนทั่วโลกอยู่ในเอเชียทั้งนั้น สิ่งที่อเมริกาอยากได้ในตอนนี้คืออยากให้ซัพพลายเชนจากเอเชียวกกลับไปอเมริกา แต่สิ่งที่อเมริกาทำกลับยิ่งสวนทางกับสิ่งที่เขาอยากได้ เนื่องจากซัพพลายเชนจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการลดภาษีซึ่งกันและกัน คอมพิวเตอร์ถึงผลิตในสิบ ๆ ประเทศได้ เพราะมันมีการเคลื่อนไหวของส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ไม่ผ่านระบบกีดกันทางด้านภาษี เมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มตั้งกำแพงภาษีขึ้นมา เห็นได้ชัดเจนเรื่องรถยนต์ ตอนนี้การค้ารถยนต์ในสหรัฐอเมริกาเริ่มซบเซา หรือในเรื่องเกษตรกรรม เช่น พวกถั่วเหลือง ถ้าจีนหยุดซื้อจากสหรัฐอเมริกา ราคาถั่วเหลืองก็เริ่มตกต่ำ แล้วก็อาจต้องมาดัมป์ราคาขายถูก ๆ ใครที่รอซื้อถั่วเหลืองไปเลี้ยงสัตว์ราคาถูกก็ได้ประโยชน์ไป”

“ผมคิดว่าสิ่งที่อเมริกาต้องการตอนนี้คือต้องการสร้างแต้มต่อด้านเทคโนโลยี ด้านบริษัทข้ามชาติ หรือด้านสินค้าและบริการ หรือสหภาพยุโรปที่ต้องการสร้างแต้มต่อด้านการเงิน แต่ภาพเหล่านี้มันกำลังจะหายไปหมดแล้ว เพราะเอเชียกำลังเข้ามาควบคุมเศรษฐกิจโลก เขาจึงพยายามที่จะเคลื่อนออกไปจากสิ่งที่เขาคิดว่าเขาเสียเปรียบมาก”

ด้าน ดร.คิมูสะ คิตูยี เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เองก็ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่า การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา – จีนในขณะนี้ ไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความร่วมมือกัน และเป็นภาวะที่อาจนำไปสู่ปัญหาระดับที่ใหญ่ขึ้นได้ และจะทำให้ภูมิภาคเอเชียกลายเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญมากขึ้นในโลก

 

อย่างไรก็ดี นายเควนติน วอดอน ผู้แทนจากธนาคารโลก และหนึ่งในคณะผู้จัดทำรายงาน “ความมั่งคั่งแห่งชาติที่เปลี่ยนแปลง: ยุทธศาสตร์สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในยุคแห่งความยั่งยืน” เปิดเผยว่า การใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นเครื่องมือชี้วัดอัตราการเจริญเติบโลกของเศรษฐกิจนั้น ยังไม่สามารถสะท้อนภาวะที่แท้จริงของเศรษฐกิจประเทศนั้น ๆ ในระยะยาวได้ รายงานชิ้นนี้จึงได้นำเสนอตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ที่ได้ประมวลข้อมูลสถิติ 4 ด้านสำคัญมาพิจารณา ได้แก่

  • ทุนด้านการผลิต
  • ทุนจากทรัพยากรธรรมชาติ
  • ทุนมนุษย์
  • การลงทุนทุนต่างประเทศ

โดยทั้ง 4 ข้อนี้ต่างหากที่ธนาคารโลกเห็นว่าสามารถแสดงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว และสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศออกมาได้

“เนื่องจากจีดีพีเป็นเครื่องชี้วัดที่แสดงถึงรายได้และผลผลิตของประเทศเท่านั้น แต่มิได้บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากร รวมถึงสินทรัพย์ของชาติบนพื้นฐานความเป็นจริง ดังนั้น จีดีพีจึงอาจส่งสัญญาณผิดๆ เกี่ยวกับความแข็งแรงของเศรษฐกิจ โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าต้นทุนของประเทศนั้นๆ ได้ลดลงหรือเสื่อมถอยลงไปมากน้อยเพียงใดแล้ว  หากปราศจากข้อมูลที่ถูกต้อง การดำเนินการลงทุนด้านต่าง ๆ หรือการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่ความมั่งคั่งที่ยั่งยืนก็อาจไม่สอดคล้องกับอัตราขยายตัวของประชากรและเป้าหมายการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง” นายแควนตินกล่าว

ด้าน ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการ ITD กล่าวว่า “รายงานของธนาคารโลกฉบับนี้มีข้อมูลที่มีความน่าสนใจมาก นอกจากนี้รายงานฉบับนี้เป็นรายงานที่ได้ต่อยอดจากรายงานของธนาคารโลก 2 ก่อนหน้านี้คือ Where is the Wealth of Nations ? Measuring Capital for 21st Century (2006) และ The Changing Wealth of Nations Measuring Sustainable Development in the New Millennium (2011) 

รายงานฉบับนี้ทำให้เห็นการเติบโตของความมั่งคั่งที่มีนัยสำคัญในช่วง 20 ปีที่ทางคณะจัดทำติดตาม รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลความมั่งคั่งทั่วโลกจาก 141 ประเทศ ในช่วงระหว่างปี 2538 – 2557 กว่า 1,500 ครัวเรือน จนได้ข้อมูลที่น่าสนใจ และเปิดมุมมองใหม่เรื่องตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจให้แก่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อนำมาประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังพบว่า ความยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 จะมิได้ขึ้นอยู่กับทุนด้านการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดขึ้นจากการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ผ่านการทำงานอย่างเข้มข้นของสถาบันต่างๆ และภาครัฐในแต่ละประเทศด้วย

ข้อมูลจากธนาคารโลกยังได้อธิบายถึงแนวโน้มโลกและภูมิภาคต่างๆ ระหว่างปี 2538 – 2557 ด้วยว่า ประเทศรายได้ปานกลางกำลังก้าวขึ้นไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง โดยความมั่งคั่งของโลกได้เพิ่มขึ้น 66% จาก 690 ล้านล้านดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 1,143 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากการเพิ่มขึ้นอย่างสุดโต่งของจำนวนประเทศรายได้ระดับกลาง ที่เพิ่มขึ้นจาก 19% มาอยู่ที่ 28% ขณะที่จำนวนประเทศรายได้สูง มีสัดส่วนลดลงจาก 75% มาอยู่ที่ 65% ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลสะท้อนของปรากฎการณ์ “ความรุ่งโรจน์แห่งเอเชีย” (Rise of Asia) ซึ่งเปลี่ยนผ่านจากสถานะประเทศรายได้ต่ำมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางภายในหนึ่งชั่วอายุคน แต่ยังต้องระวังการเกิดช่องว่างจากความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง

ตามรายงานล่าสุด ระบุว่า แม้บางประเทศจะมีอัตราเติบโตของความมั่งคั่งต่อหัวต่อคนสูง แต่ก็เป็นเพราะมีการขยายตัวของประชากรน้อย จีดีพีที่สูงขึ้นจึงไม่สามารถสะท้อนว่าเศรษฐกิจดีขึ้นจริงๆ ในทางตรงกันข้ามพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ว่า จำนวนประชากรที่เติบโตอย่างรวดเร็วและการมีประชากรวัยหนุ่มสาวจะเป็นประโยชน์มาก ในกรณีที่มีการลงทุนเพียงพอและเหมาะสมกับแรงงานคนรุ่นใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาคนควบคู่ไปด้วย

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight