Marketing Trends

‘หยวนอ่อน-บาทแข็ง’ พ่นพิษค้าปลีก-เที่ยวไทย จี้รัฐ ‘ไขก๊อก’ โครงสร้าง

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยชี้พิษเงินหยวนอ่อน บาทแข็ง กระทบส่งออก-ท่องเที่ยว ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศ และยังไม่มีท่าทีผ่อนคลาย แถมซัดค้าปลีกไทยโตต่ำกว่าจีดีพี และต่ำสุดในอาเซียน แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดภาษีสินค้าไลฟ์สไตล์ พร้อมกระตุ้นร้านค้ารายย่อยปรับตัวต้อนรับนักท่องเที่ยว

วรวุฒิ อุ่นใจ 1
วรวุฒิ อุ่นใจ

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยในงาน TRA Retail Forum 2019 โดยเสวนาหัวข้อ “ถอดบทเรียนค้าปลีกออนไลน์โลก สู่ค้าปลีกออนไลน์ไทย” ว่า ปีนี้จะเป็นอีกปีที่ยากลำบากและฝืดเคืองของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทย รวมถึงธุรกิจค้าปลีกไทย โดยเฉพาะปัจจัยลบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ หรือเทรดวอร์ ที่ส่งผลกระทบให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง ขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคส่งออก สินค้าไทยจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินที่แตกต่างประมาณ 20% เมื่อเทียบกับค่าเงินบาท และเงินหยวน ส่งผลให้ราคาสินค้าจีนจะถูกกว่าสินค้าไทยประมาณ 20% ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาจากสินค้าจีนรุนแรงมากขึ้น จากปกติที่ราคาสินค้าจีนถูกกว่าไทยอยู่แล้ว

ขณะที่การท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบจากค่าเงินเช่นกัน เนื่องจากหากนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทย จะทำให้ต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากปกติประมาณ 20% ซึ่งเป็นผลจากเงินหยวนอ่อนค่า และบาทแข็ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้คนจีนตัดสินใจมาเที่ยวเมืองไทยลดลง จากปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์เรือล่มและทำให้นักท่องเที่ยวจีนหยุดมาเที่ยวไทยมาแล้ว

“จนถึงขณะที่ สถานการณ์ค่าเงินยังไม่มีทีท่าจะผ่อนคลายลง และยิ่งปี 2563 ที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ หาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ต่อไปอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี” นายวรวุฒิกล่าว

ช้อปปิ้ง

ในส่วนของภาคธุรกิจค้าปลีกนั้น ในปีนี้ คาดการณ์ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยจะยังคงเติบโตในอัตราต่ำลง หรือโตไม่ถึง 3% ซึ่งต่ำกว่าจีดีพีประเทศไทยที่คาดว่าจะเติบโต 3% และยังเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในอาเซียน เนื่องจากภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกในอาเซียนปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่9-10%

สำหรับปัจจัยลบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยจนทำให้เติบโตลดลง เป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ 1.ปัญหาโครงสร้างภาษีสินค้าไลฟ์สไตล์ หรือ ลักซ์ชัวรี่ โปรดักส์ ที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ส่งผลให้คนไทยที่เป็นนักช้อปสินค้าแบรนด์เนม หันไปซื้อสินค้าแบรนด์เนมในต่างประเทศแทน อีกทั้งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทยปีละ 40 ล้านคนก็ไม่ซื้อเนื่องจากราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ปัจจัยลบที่ 2 เป็นผลจากดิวตี้ฟรีในเมืองไทย ที่เน้นทำตลาดกับคนไทยด้วย และปัจจัยที่ 3 คือ สินค้าเกรย์มาร์เก็ต หรือสินค้าหนีภาษีระบาดมากขึ้น และน่ากลัวกว่าการเข้ามาของสินค้าออนไลน์ เนื่องจากเป็นตลาดที่ตรวจสอบไม่ได้ แต่เติบโตทุกปี โดยคาดการณ์ว่า ตลาดเกรย์มาร์เก็ตทั้งระบบ สูงถึง 20% ของจีดีพีประเทศ หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท

ที่ผ่านมา สมาคมค้าปลีกไทยได้เรียกร้องไปยังภาครัฐหลายครั้ง  เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักช้อปไทยให้หันมาซื้อสินค้าแบรนด์เนมในประเทศไทย ซึ่งล่าสุด เวียดนามเตรียมลดภาษีสินค้านำเข้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ เหลือ 0% ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวและนักช้อปไปซื้อสินค้าในเวียดนามมากขึ้น แต่หากไทยทำได้ จะเป็นการกระตุ้นทั้งการซื้อสินค้าและการท่องเที่ยวได้ด้วย

นักท่องเที่ยวจีน

“ถึงเวลาที่ไทยต้องใช้โอกาสตักตวงจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาปีละ 40 ล้านคนให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น จากปัจจุบันที่นักท่องเที่ยวมาใช้จ่ายที่เมืองไทยประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อคนต่อทริป ขณะที่เกาหลีมีนักท่องเที่ยวน้อยกว่าหรือปีละ 10 ล้านคน แต่มียอดใช้จ่ายต่อคนสูงถึง 8,000 บาทต่อคนต่อทริป”นายวรวุฒิกล่าว

ด้านการปรับตัวของผู้ประกอบการเอง ยังต้องปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ โดยใช้ออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ก่อนตกเวที รอวันตายแน่นอน ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยเฉพาะออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง และค้าปลีกจะอยู่ได้ในระยะยาวด้วยคำสองคำ คือ “บริการและกิจกรรม” นั่นคือ ต้องเน้นการให้บริการที่ออนไลน์ยังไม่สามารถแข่งขันได้ และการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า การเติบโตค้าปลีกออนไลน์โต 30-40% ทุกปี แม้ว่าผู้ประกอบการจะขาดทุนปีละ 3,000 – 4,000 ล้านบาท เพราะดัมพ์ราคาเพื่อดึงลูกค้า ซึ่งในจุดนี้ภาครัฐโดยเฉพาะคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าควรเข้ามาดูแลไม่ให้เกิดการดัมพ์ราคาจนส่งผลกระทบกับผู้ค้าคนไทย

Avatar photo