COLUMNISTS

‘ชาตรี โสภณพนิช’ ธนราชันคนสุดท้าย

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
884

ชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการ แบงก์กรุงเทพ ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยวัย 85 ปี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทิ้งเรื่องราวอันเป็น ประวัติศาสตร์วงการธนาคาร และตระกูลโสภณพนิชไว้มากมาย

chatri
ชาตรี โสภณพนิช

ในฐานะทายาทธุรกิจของ ชิน โสภณพนิช ธนราชัน ผู้วางรากฐานแบงก์กรุงเทพ ชาตรีลูกชายคนที่สองจากภรรยาคนแรกของชินถูกปั้นให้เป็นนายธนาคารมาตั้งแต่ต้น

เขาเริ่มเรียนบัญชีที่ฮ่องกง ก่อนถูกส่งไปบ่มเพาะวิทยายุทธ์ด้านการธนาคารในวิทยาลัยที่อังกฤษ ฝึกงานต่อที่ รอยัลแบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ จากนั้นต่อยอดความรู้ที่ สถาบันนายธนาคาร สอบได้ประกาศนียบัตรแล้วกลับมาเมืองไทย ปี 2501 อายุได้ 24 ปี

ชิน ส่ง ชาตรี ไปฝึกงานที่ บริษัท เอเชียทรัสต์ ของครอบครัว 1 ปี ก่อนที่ บุญชู โรจนเสถียร (กรรมการผู้จัดการแบงก์กรุงเทพคนที่สาม) ดึงมานั่งเป็น ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชี แบงก์กรุงเทพ เริ่มงานวันแรก 1 ตุลาคม 2502

หนึ่งปีให้หลัง บอร์ดแบงก์กรุงเทพตั้ง พล.อ.ประภาส จารุเสถียร (2501) เป็น ประธานกรรมการตามข้อเสนอของ ชิน เพื่อรับมือกับขั้วการเมืองเปลี่ยน กลุ่มราชครูที่ชินใกล้ชิดหมดอำนาจหลัง พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารยึดอำนาจในปี 2500 และตัวชินเอง ต้องหลบร้อนการเมืองไปปักหลักขยายธุรกิจอยู่ที่ฮ่องกงหลายปี (2501-2507)

บรรยากาศ ณ เวลานั้น คงทำให้ชาตรีเริ่มซึมซับถึงความสำคัญ ของสายสัมพันธ์กับขั้วอำนาจ

ชาตรีนั่งคุมงานบัญชีที่เป็นหัวใจหลักของแบงก์อยู่ 10 ปี ห้วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันนั้น แบงก์กรุงเทพเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากยุทธศาสตร์มุ่งสู่ภูมิภาคและรุกภูธรของชิน ( 2506-2518 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ย 8 % ต่อปี)

ปี 2513 แบงก์กรุงเทพฯ ผงาดขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์อันดับหนึ่งของเมืองไทย แต่ความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจตอนนั้นมีวิกฤติการเมืองแทรกจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯมหาวิปโยค

ในปี 2516 ชาตรีนั่งเก้าอี้ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เมื่อสถานการณ์การเมืองบานปลาย ครอบครัวสองนายพลกับหนึ่งนายพัน ที่ผูกขาดอำนาจรัฐมายาวนาน ถูกขับไล่ออกจากทำเนียบ และประณามว่าเป็นทรราช

ประภาส ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ประธานกรรมการ แบงก์กรุงเทพ หลังนั่งเก้าอี้ตัวนี้มาเกือบ 15 ปี ก่อนเผ่นไปไต้หวัน ตอนนั้นแบงก์กรุงเทพเจอลูกหลงจากข่าวลือว่า แบงก์ล้มละลายและฝ่ายบริหารหนีไปพร้อมกันด้วย เป็นประสบการณ์วิกฤติข่าวลือแรกที่ชาตรีเผชิญ

ปี 2523 บุญชูทิ้งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรับตำแหน่งการเมือง ชาตรีขึ้นดำรงตำแหน่งแทน รวมแล้วเขาใช้เวลาราว 21 ปีเศษ ก่อนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารสูงสุดของธนาคาร

ห้วงเวลานั้น เศรษฐกิจเผชิญวิกฤติน้ำมัน การเมืองกระเพื่อมเป็นระยะ ๆ ปี 2527 ชาตรี เจอวิกฤติข่าวลือครั้งใหญ่ซ้ำสอง รอบนี้ลือหนักว่าแบงก์กำลังจะล้มจากปัญหาหนี้ในสาขาฮ่องกง จากสื่อฉบับหนึ่งเขียนข่าวผิด และการปั่นสถานการณ์จากไอ้โม่งโปรยใบปลิว สาขาการค้าย่านการค้าคนจีน ทรงวาด สำเพ็ง คนเริ่มแห่ถอนเงิน

ก่อนที่สถานการณ์จะลุกลาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯตอนนั้น (ปัจจุบันประธานองคมนตรี) ได้ออกมาแถลงผ่านเครือข่ายสถานีวิทยุประเทศไทยยืนยันความแข็งแกร่งของแบงก์กรุงเทพ วิกฤติจึงคลี่คลาย

ยุคของชาตรี (2523-2535) การเมือง หลุดพ้นจากเผด็จการรูปแบบเดิม แต่ยังวนเวียนระหว่าง ประชาธิปไตยครึ่งใบ กับค่อนใบ เศรษฐกิจไทยเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลกผ่าน กระบวนการโลกาภิวัตน์ ที่เริ่มขับเคลื่อน แนวคิดเสรีนิยมใหม่ระบาดไปทั่วโลก อุตสาหกรรมแบงก์ นับหนึ่งฟินเทคยุคที่หนึ่ง แบงก์กรุงเทพก้าวขึ้นมาเป็นแบงก์ระดับภูมิภาค ทุนแข็งแกร่ง ระบบงานเริ่มถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์ ตู้เอทีเอ็มแรกของแบงก์กรุงเทพเปิดบริการในปี 2527

บันทึก “50 ปีบัวหลวง” แบงก์กรุงเทพฯยกให้ 12 ปี บนเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ ชาตรี เป็นยุคทอง แบงก์กรุงเทพ เติบโตรอบด้าน กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 12 เท่า ทุนจดทะเบียนและเงินกองทุนเพิ่มขึ้น 7 เท่า สินเชื่อและเงินฝากเพิ่มขึ้น 5 เท่า ที่สำคัญ ปีสุดท้ายบนเก้าอี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของชาตรี แบงก์กรุงเทพ มีกำไรสุทธิ 10,540 ล้านบาททะลุหมื่นล้านเป็นครั้งแรกนับแต่ก่อตั้ง

ระหว่างปี 2534-2535 นิตยสารระดับโลก ประเมินชาตรีและครอบครัวมีทรัพย์สินราว 1,000 ล้านดอลลาร์ มั่งคั่งระดับเข้าทำเนียบเศรษฐีโลกเป็นครั้งแรก

แม้แบงก์กรุงเทพฯไม่มี นายพล เป็นประธานกรรมการอีกเลย นับแต่ประภาสลาออก แต่ชาตรีมีมุมการเมืองเล็กๆ กับ คณะ 11 กลุ่มนักธุรกิจที่ สนิทกับ พล.อ.เปรม ตั้งแต่ยังไม่เป็น นายกฯ ที่เขาเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งคนหนึ่ง โดยมี ศ.นายแพทย์ ประสพ รัตนากร เป็นผู้ประสานระหว่างหมู่สมาชิก

กิจกรรมนัดทานข้าวของคณะ 11 ค่อยๆ ลดลงหลังพล.อ.เปรมวางมือทางการเมือง กิจกรรมของกลุ่มเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน ประกอบกับ สมาชิกอายุมากขึ้น และหลายคนเริ่มทยอยจากไป

เมื่อเศรษฐกิจไทยล้มครืน จากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 กลุ่มทุนการเงินได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แบงก์ที่ถือครองหุ้นใหญ่โดยตระกูลเจ้าสัว 7 แห่งถูกยุบควบรวม มีเพียง 3 ตระกูล ที่ยังรักษาที่มั่นของตนไว้ได้ หนึ่งในนั้นคือ โสภณพนิช-แบงก์กรุงเทพ แต่แลกด้วยการการสละทิ้งไฟแนนซ์ในเครือ และลดสัดส่วนหุ้นในแบงก์กรุงเทพ เปิดทางให้พันธมิตรต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเพิ่ม

ท่ามกลางฝุ่นควันจากการพังทลายของเศรษฐกิจเวลานั้น มีนักข่าวถาม ชาตรี ว่า “เจ้าสัว” ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เขาตอบอย่างอารมณ์ดีตามสไตล์ว่า ยุคไอเอ็มเอฟไม่มีเจ้าสัวแล้ว มีแต่เจ้าสัวเยสเธอร์เดย์

ปีนั้น(2540) นิตยสารฟอร์บส ประเมินทรัพย์สิน ชาตรีและครอบครัวเหลือเพียง 2,000 ล้านดอลลาร์ หายไปราว 400 ล้านดอลลาร์จากช่วงก่อนหน้า

ในช่วงโค้งสุดท้ายของชีวิตของชาตรี นอกจากเฝ้ามองการเติบโตของแบงก์กรุงเทพอย่างมีความสุข เขายังทันได้เห็นการมาถึงของธนาคารดิจิทัล พร้อมๆ กับข่าวแบงก์ลดจำนวนสาขา บล็อกเชน สกุลเงินเสมือนจริง คริปโตเคอเรนซี ฯลฯ

ปลายปี 2558 ผู้เขียนมีโอกาสสนทนากับชาตรี เขาเล่าว่า ยุคที่คุณพ่อ(ชิน)บริหาร มีแบงก์ญี่ปุ่นมาขอควบกิจการ ประธานฝ่ายญี่ปุ่นชื่อมิสเตอร์ซาโต้ ทั้ง 2 คนสนทนากันด้วยภาษาเขียนคันจิ(ตัวอักษร) เพราะพูดภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง แต่ดีลไม่จบ

“คุณพ่อบอกทำเล็กๆดีกว่า” ชาตรีเล่า เป็นหลักคิดที่ทำให้แบงก์กรุงเทพยิ่งใหญ่ในวันนี้

แบงก์กรุงเทพ เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคตลาดเสรี และทะยานขึ้นเป็นแบงก์ระดับภูมิภาคในสมัยบริหารของชาตรี พร้อมๆ กับการสะสมความมั่งคั่งให้ตระกูลโสภณพนิชต่อจากชินผู้บิดา

หากมองบริบทเศรษฐกิจและสังคมวันนี้ ที่ไม่เอื้อต่อการสะสมทุนได้เหมือนในอดีต คงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า เขา – ชาตรี โสภณพนิช คือ ธนราชัน ราชาแห่งเงินคนสุดท้าย