CEO INSIGHT

‘ทานตะวัน’ ตามเทรนด์โลก ปรับสู่บรรจุภัณฑ์ ‘กรีน’

“ทานตะวัน” ปรับสู่วิถี “กรีน” เพิ่มพอร์ตบรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมจากไบโอพลาสติก ย่อยสลายได้ 100% ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก 

หลายคนคุ้นเคยกับบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตและส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่อยู่ในวงการนี้มา 32 ปี ผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้ครองส่วนแบ่งตลาดมาเนิ่นนาน ตั้งแต่หลอดดูดเครื่องดื่ม และถุงซิป รวมไปถึงผลิตถุงพลาสติก แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลายเป็นผู้ร้ายไปเสียแล้ว เมื่อถูกทิ้งเกลื่อน กลายเป็นขยะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

IMG 20190828 113930 ทานตะวัน 2

เดชบดินทร์ เหรียญทรัพย์ดี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัททานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด บอกว่าเทรนด์ลดขยะพลาสติก เริ่มมาจากฝั่งยุโรปกำลังขยายไปทั่วโลกจากปัญหาขยะในท้องทะเลที่เกิดขึ้น เป็น Social Movement ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมนานาประเทศ รวมถึงประเทศไทย

ทำให้ตลาดบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากไบโอพลาสติกผลิตจากวัสดุตามธรรมชาติย่อยสลายได้ 100% มาแรง และกำลังเติบโตมากขึ้นทุกปี หรือประมาณ 10% ต่อปีจาก 4-5 ปีก่อนเติบโต 3-5% และจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

เมื่อโลกเปลี่ยน ทานตะวันก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย วันนี้กำลังขยับพอร์ตในมือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เดชบดินทร์ บอกว่า พอร์ตของเราเป็นพลาสติกทั่วไป 50% อีก 50% เป็นผลิตภัณฑ์ “กรีน” ประเภทไบโอพลาสติกย่อยสลายได้ 100% และอีกหน่อยจะปรับพอร์ทเป็น 40% และ 60% โดยบรรจุภัณฑ์ต่างๆของเรา 80% ส่งออก อีก 20% ขายในประเทศ

IMG 20190704 143722

IMG 20190704 143816

IMG 20190704 143713

เมื่อปลายปีที่ผ่านมาทานตะวันเลยออกแบรนด์บรรจุภัณฑ์ใหม่ชื่อว่า SUNBIO ผลิตจากไบโอพลาสติกย่อยสลายได้ 100% ภายใน 180 วัน อาทิ หลอดดูดเครื่องดื่ม ถุงซิป ถุงซิปขนาดช๊อปปิ้ง ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ เป็นต้น ขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ

แต่ยอมรับว่าราคาสูงทำให้การทำตลาดต้องเจาะฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่ม จึงเน้นขายทางออนไลน์มากกว่า นอกจากนี้ก็มีทีมการตลาดออกไปพูดคุยกับลูกค้า เพื่อให้เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติก เช่น โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งยอมรับว่าที่เป็น chain ต่างประเทศพร้อมจะปรับมาใช้

IMG 20190918 174733

เดชบดินทร์ เน้นย้ำว่า การเลือกใช้พลาสติกย่อยสลายได้ จะต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนอีกเยอะ เพราะในตลาดมีแบบที่โฆษณาว่า เป็นพลาสติกย่อยสลายได้ แต่ความจริงแล้วเป็นเพียงพลาสติกแตกตัวได้ หมายถึงแตกเป็นชิ้นเล็กๆ ไม่ได้ย่อยสลายตามธรรมชาติ ยังคงตกค้างในสิ่งแวดล้อม หากต้องการสนับสนุนผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายตามธรรมชาติได้จริงๆ จะต้องดูคุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนเลือกซื้อ

อย่างไรก็ตามเขา เข้าใจดีว่าการขยายตลาดไบโอพลาสติกในไทย อาจจะไปไม่ได้เร็ว เพราะบรรจุภัณฑ์จากไบโอพลาสติกมีราคาสูงราว 3 เท่า อีกประการบรรจุภัณฑ์บางอย่างต้องมาจากฐานปิโตรเลียม เช่น ถุงบรรจุนมแม่ ที่ต้องถูกนำไปแช่แข็ง ขณะที่คุณสมบัติของไบโอพลาสติกยังทำไมได้ เพราะมีรูรั่ว และไม่สามารถทนความร้อนเกิน 55 องศาได้ เป็นต้น

ดังนั้น 95% ของตลาดจึงเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากปิโตรเลียม สำคัญที่สุดจึงอยู่ที่การใช้อย่างรู้คุณค่า และการคัดแยกขยะ เพื่อให้ถูกนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างสะดวกตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

“การคัดแยกขยะ ยังต้องการการโปรโมทอีกมาก อีกด้านหนึ่งรัฐควรจะออกมาตรการจูงใจต่างๆ เช่น ภาษี เพื่อสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” 

IMG 20190801 080222

Avatar photo