Wellness

‘กินเจ’ ให้ปลอดภัย ‘อิ่มทั้งบุญ อิ่มทั้งใจ’

ระวัง! กินเจแต่กลับได้เนื้อสัตว์-วัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน และสีสังเคราะห์จากเส้นหมี่ซัว สาธารณสุข รณรงค์ “อิ่มบุญ อิ่มใจ กินเจปลอดภัย” จับมือทุกหน่วยงานดูแลความปลอดภัยอาหาร เตือนประชาชนเลือกซื้ออาหารจากร้าน หรือแผงลอยอาหารเจ ที่มีป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย

DSC 6903

“กินเจ” ปีนี้ใกล้มาถึงแล้ว เริ่ม 28 กันยายน จนถึง 7 ตุลาคม 2562  ประชาชนจำนวนมากเตรียมล้างท้องรอ เพราะกินเจได้ทั้งสุขภาพบวกกับกุศลไปพร้อมกัน แต่การกินเจใช่ว่าจะได้ประโยชน์เสมอไป หากกินไม่ถูกวิธี และไม่ระมัดระวัง นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงานรณรงค์ “อิ่มบุญ อิ่มใจ กินเจปลอดภัย”

โดยกลาวว่า ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจของทุกปี ประชาชนจะรักษาศีล ปฏิบัติธรรม งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ และรับประทานผักผลไม้ โดยเชื่อว่า การกินเจเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ได้กุศล การละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการให้ชีวิตแก่สัตว์ ถือเป็นการเสริมบุญบารมีและยังเป็นการรักษาสุขภาพ

เพราะอาหารเจ ซึ่งเป็นพืชผักจะย่อยง่าย ทำให้ระบบย่อยอาหาร ได้หยุดพักจากการทำงานหนักมาตลอดปี ช่วยระบบขับถ่าย และการย่อยอาหารทำงานได้ดี และช่วยลดคอเลสเตอรอลควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย

DSC 6878

กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ให้กรมที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการทำงานสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ในการกินเจอย่างปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ โดยให้หน่วยงานต่างๆดำเนินการ ดังนี้

  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันเฝ้าระวังอาหารที่จำหน่าย ทั้งที่ผลิตภายในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เทียม ผักผลไม้ต่างๆ และผลิตภัณฑ์ประเภทเส้น

โดยเฝ้าระวังการใช้ หรือการตกค้างของสารพิษต่างๆ และการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ป้องกันการหลอกลวงผู้บริโภคจากการปลอมปนเนื้อสัตว์ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารเจอีกด้วย หากมีการตรวจพบความไม่ปลอดภัยหรือการหลอกลวงก็จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อไป

  • กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังโรคที่อาจเกิดขึ้น วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ ให้คำแนะนำข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันโรค
  • กรมอนามัย แนะนำประชาชนในการเลือกร้านอาหารที่มีป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย เลือกอาหารเจตามหลักโภชนาการ ไม่บริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
  • กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำอาหารและสมุนไพรที่จะใช้ในการบำรุงสุขภาพ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคที่อาจเกิดขึ้นและพบได้บ่อย คือโรคอาหารเป็นพิษ จากการประกอบอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ หรือปรุงอาหารไว้นาน ไม่ได้แช่เย็น และไม่ได้อุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน เมื่อมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน อาจมีไข้ร่วมด้วย ให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ ป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้นขอให้ไปพบแพทย์

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบกรมอนามัย กล่าวว่า การเลือกซื้ออาหารเจสำเร็จรูป ควรเลือกร้านร้านอาหารหรือแผงลอยมีป้ายสัญลักษณ์ “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย” (Clean Food Good Taste) ผู้สัมผัสอาหารมีสุขนิสัยที่ดี เช่น การสวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหาร ภาชนะบรรจุอาหารสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ควรเสริมโปรตีนด้วยอาหารที่มีถั่วหรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง ฟองเต้าหู้ โปรตีนเกษตร งา และเห็ดต่างๆ เน้นข้าวกล้อง มีผักเป็นส่วนประกอบ เช่น ลาบเต้าหู้ น้ำพริกเจผักเคียง ต้มจืดเจ ต้มยำเจ อาหารประเภทต้ม ตุ๋น นึ่ง อบ ยำ น้ำพริกที่ไม่ผัดน้ำมัน แกงไม่ใส่กะทิ เลี่ยงอาหารผัดน้ำมันเยิ้ม ทอด เพราะจะทำให้น้ำหนักเกิน และอ้วนได้ และลด หวาน มัน เค็ม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ขอให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”

DSC 6796

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการอย. กล่าวว่า อย. ได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจเฝ้าระวังการผลิต และคุณภาพของผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบที่นำไปใช้ประกอบอาหารเจที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย

อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เทียม ผักผลไม้ต่างๆ และผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเส้น ที่มีการขออนุญาตกับ อย. เป็นประจำทุกปี รวมทั้งในช่วงเทศกาลกินเจ โดยพบว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ผ่านมาตรฐาน

ในส่วนผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้คำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขเบื้องต้น ติดตามตรวจสอบ และเก็บตัวอย่างจากสถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า และสถานที่จำหน่ายเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ซ้ำ และดำเนินการตามกฎหมายแล้ว และขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีความสะอาด ปลอดภัยและได้มาตรฐาน

กรณีเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ความเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า และแสดงน้ำหนักสุทธิ เป็นต้น

ควรเลือกซื้อผักผลไม้ตามฤดูกาลที่ได้รับตรารับรองคุณภาพ GAP, GMP หรือตรารับรองเกษตรอินทรีย์ และควรล้างทำความสะอาดผักและผลไม้ก่อนบริโภคด้วย

DSC 6888

นพ.สมฤกษ์  จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า  อาหารที่นิยมบริโภคในเทศกาลนี้ ได้แก่ ผักกาดดอง เกี่ยมฉ่าย  อาหารจำพวกแป้ง และโปรตีนจากถั่วเหลือง หมีกึงที่เป็นโปรตีนจากแป้งสาลี และพัฒนาแปรรูปให้มีลักษณะ รสชาติใกล้เนื้อสัตว์ บางครั้งจะพบการปะปนของเนื้อสัตว์ในอาหารเจได้ จากการเฝ้าระวังในช่วงเทศกาลกินเจ ตั้งแต่ปี 2556 พบ

  • กลุ่มอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ ตรวจพบ DNA ของเนื้อสัตว์ปนเปื้อนคิดเป็น 8.3 %
  • กลุ่มผักดอง ตรวจพบวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิค เกินมาตรฐานที่กำหนดคิดเป็น 53.3%
  • กลุ่มอาหารประเภทเส้น ตรวจพบวัตถุกันเสียกรดซอร์บิค 31.3% และตรวจพบสีอินทรีย์สังเคราะห์ในเส้นหมี่ซัว คิดเป็น 38.5% ซึ่งไม่อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิคและสีสังเคราะห์ในอาหารประเภทเส้น

และร่วมกับ อย. เฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ที่นิยม 10 อันดับ ได้แก่ กะหล่ำปลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักบุ้ง คะน้า แครอท มะระ ฟักเขียว หัวไชเท้า และผักโขม

DSC 6830

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลกินเจ แนะนำให้รับประทานพืชสมุนไพร 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 พืชสมุนไพรที่กินง่าย ช่วยให้อยู่ท้อง ได้แก่ กล้วยน้ำว้าสุก ธัญพืช มันเทศ ข้าวโพดหวาน

กลุ่มที่ 2 พืชสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มการเผาผลาญ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ได้แก่ ขิง พริกไทย

กลุ่มที่ 3 พืชสมุนไพรที่ช่วยป้องกันความดัน เบาหวานขึ้น เช่น น้ำกระเจี๊ยบ น้ำดอกคำฝอย น้ำตะไคร้ น้ำตรีผลา (สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม)

และเลือกใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อดูแลอาการที่ไม่พึงประสงค์จากภาวะกินเจ มีอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย เช่น ยาขมิ้นชัน ยามะระขี้นก ยาเหลืองปิดสมุทร

Avatar photo