CEO INSIGHT

สานตำนาน ‘เชลล์ชวนชิม’ คำพ่อสอน ‘ต้องจ่ายค่าอาหารทุกครั้งที่ชิม’

จากจุดกำเนิด “เชลล์ชวนชิม” ในปี 2504 โดย ม.จ.ภีศเดช รัชนี ซึ่งสมัยนั้นทรงดำรงตำแหน่ง เป็นผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขายและโฆษณาของเชลล์ ได้ทรงดำริที่จะส่งเสริมการใช้แก๊สหุงต้มสำหรับร้านอาหารและครัวเรือนให้เป็นที่แพร่หลาย ท่านจึงได้ทรงปรึกษากับ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ และได้ความคิดมาจากที่เห็น มิชลิน ไกด์ ประเทศฝรั่งเศส ที่ได้รับความเชื่อถือและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เกิดเป็นแนวคิดที่จะชูเรื่องอาหาร โดยการแนะนำอาหารอร่อยในประเทศไทย และมอบสัญลักษณ์ เชลล์ชวนชิม เพื่อเป็นเครื่องการันตีความอร่อยสไตล์ไทย

มาถึงวันนี้ สัญลักษณ์ เชลล์ชวนชิม หรือจะเรียกว่าเป็นแบรนด์ที่เมื่อเห็นต้องรู้ว่าอร่อย ก้าวเดินมาถึง 58 ปี และมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง เพราะจากผู้สร้างตำนานเชลล์ชวนชิม ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ในวันนี้ ได้ถ่ายทอดสู่นักชิมคนใหม่ที่เป็นลูกไม้ใต้ต้น นั่นก็คือ มล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ บุตรชาย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอาหารเป็นอย่างมาก

มล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์
มล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์

มล.ภาสันต์ เล่าว่า “ลิ้น” เป็นมรดกสำคัญที่คุณพ่อให้มา หรือต้องบอกว่า “ได้ลิ้นพ่อมา” เพราะตั้งแต่คุณพ่่อเริ่มแจกตราเชลล์ชวนชิม เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2504 ส่วน มล.ภาสันต์ เกิดปี 2508 ม.ร.ว.ถนัดศรี ได้พาเดินทางตระเวณชิมอาหารตั้งแต่นั่งเก้าอี้ขายังไม่ถึงพื้น และออกจากบ้านไปตั้งแต่วันศุกร์ ทำให้วันเสาร์-อาทิตย์ แทบไม่ได้นอนที่บ้าน เพราะต้องออกเดินทางไปชิมตามร้านอาหารต่างๆ ทั้งในประเทศไทย จนถึงต่างประเทศ

“จนถึงตอนนี้ 50 กว่าปีที่ผ่านมา มีร้านที่ชิมแล้ว 2,000 – 3,000 ร้าน ซึ่งร้านพวกนี้ เจ้าของร้านสืบทอดกันมาหลายรุ่น แต่มีความผูกพันกันมาก บางคนถึงรุ่นลูกหลาน ในงานพ่อเขาบอกว่า มีทุกวันนี้ได้ก็เพราะพ่อ”

สิ่งสำคัญที่เรียนรู้และยึดถือเสมอมาคือ เวลาไปชิม ต้องจ่ายค่าอาหาร เพราะคุณพ่อย้ำเสมอว่า “เป็นเครื่องมือทำมาหากินของเขา เราต้องอุดหนุนเขา” โดยร้านที่ได้รับป้ายสัญลักษณ์ เชลล์ชวนชิม จะเป็นการแจกให้ตลอดไป โดยไม่เอาคืน หากต่อไปคุณภาพด้อยลง ความอร่อยลดลง ลูกค้าจะเป็นคนบอกเองด้วยการไม่เข้าไปทาน เลิกซื้อ

“คุณพ่อบอกว่า จะไม่เขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า นี่คือความแตกต่างของเชลล์ชวนชิม คือ ร้านค้าต่อให้ยังไง เค้าก็ต้องได้ตลอดไป ถ้าไม่อร่อย คนก็ไม่กินเอง เพราะงั้น เราจะต่างจากเจ้าอื่น ตรงที่ของเรา ให้แล้วให้เลย  จากความผูกพันและตราสัญลักษณ์ สร้างเรื่องราวให้ร้านค้า ร้านอาหาร และผลิตภัณฑ์มากมายหลายพันร้าน”

เชลล์ชวนชิม

มล.ภาสันต์ ย้อนระลึกความหลังว่า ร้านอาหารเชลล์ชวนชิมที่เขียนแนะนำเป็นครั้งแรก คือ ร้านเกาเหลาสมองหมู หรือ ลูกชิ้นห้าหม้อ ของ คุณสุดจิตต์ สุระนันท์ ที่แพร่งภูธร ซึ่งสมัยนั้นเป็นรถเข็น และอีกร้านคือ ข้าวแกงลุงเคลื่อน หรือ ข้าวแกงมธุรสวาจา อยู่เยื้องๆ กับร้านเกาเหลาสมองหมู

ความทรงจำร้านแรกของรุ่นลูก เคยถูกถ่ายทอดจาก ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ในคอลัมน์ ซันเดย์ สเปเชียล ถึงตำนาน 50 ปี เชลล์ชวนชิมว่า “ลุงเคลื่อนคนนี้ทำข้าวแกงอร่อย แต่ที่ตั้งสมญาให้ว่าข้าวแกงมธุรสวาจา เพราะแต่ละคำที่หลุดออกมานั้นลึกซึ้งถึงทรวงจนออกอากาศไม่ได้กันทีเดียว”

เมื่อพูดถึงโลโก้สัญลักษณ์เชลล์ชวนชิม ในยุคแรก เป็นรูปหอยเชลล์และเปลวแก๊สแลบออกมา ต่อมาในเดือนกันยายน 2525 ได้เปลี่ยนโลโก้เป็นรูป ชาม ซึ่งก็มีที่มาที่ไปเช่นกัน โดยหากมองเผินๆ ทุกคนจะคิดว่าเป็น ชามลายคราม แต่แท้จริงๆ แล้ว เป็นชามลายผักกาด ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากชามที่บ้าน ม.ร.ว.ถนัดศรี นั่นเอง

“สมัยก่อนใครๆ ก็ต้องมีชามลายผักกาดไว้ที่บ้าน ที่เป็นลายผักกาด เพื่อสืบสานตำนานอาหารไทยโบราณ เพราะชามนี้ มีแพร่หลายตั้งแต่ยุคพ่อ จึงเป็นตัวแทนของอาหารการกินของชาวไทย ต้นแบบจึงเอามาจากชามที่บ้าน และลายผักกาดยังเป็นสัญลักษณ์ของการกินดี กินเป็น คนจีนสมัยก่อนลายนี้หมายถึงความสมบูรณ์พูนสุข คือ กินดี กินเป็น กินแล้วมีความสุข เป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์พูนสุข”

สุดจินต์

จากยุคพ่อสู่รุ่นลูก เกณฑ์การคัดเลือกร้านที่จะได้รับสัญลักษณ์เชลล์ชวนชิม มล.ภาสันต์ บอกว่า มี 3 เรื่อง โดยเรื่องแรกที่สิ่งสำคัญที่สุดและคิดเป็นคะแนนที่มากที่สุดคือ ความอร่อย เพราะร้านไหนอร่อยคนก็ต้องดั้นด้นไป

“ความอร่อยของคนไม่เหมือนกัน แต่เราโชคดีที่พ่อสอนให้ไปชิมตั้งแต่ยังเล็ก เลยรู้ว่าอร่อยเป็นยังไง ยกตัวอย่าง ต้มยำสมัยนี้บางคนใส่เปรี้ยวจู๊ด แต่ต้มยำที่บอกว่าอร่อย ต้องมีรสชาติอื่นผสมผสานให้อร่อย ไม่ใช่เปรี้ยวจี๊ดอย่างเดียว หรือ ตะไคร้ ใบมะกรูดใส่กับต้มยำได้ แต่ถ้าเป็นต้มยำปลา ต้องใส่ข่าเติมลงไป ที่สำคัญถ้าจะให้อร่อยที่สุด ต้องปรุงในชาม แล้วตักน้ำใส่ลงไป หรือเรียกว่า อร่อยต้องอร่อยอย่างถูกหลัก”

ข้อสอง ความเป็นเอกลักษณ์ บางร้านที่ได้รับรางวัลวันนี้ จองสามเดือนก็มี เพราะมีเอกลักษณ์หรือบางร้านต้องเข้าแถวสองแถว หรือร้านดั้งเดิม พื้นบ้าน หรือร้านที่เป็นชาววัง หรือร้านที่เป็นอาหารไทยแท้ เอกลักษณ์ต้องถูกต้องตามนั้น หรือบางทีคาแรกเตอร์เจ้าของร้านก็ทำให้เราสนใจได้เหมือนกัน บางร้านที่พ่อไปทาน ถามว่า มีอะไรกิน เค้าชี้ให้ดูกระดาน แล้วให้สั่งเอง หรือร้านที่มีบรรยากาศด้วย  แม้แต่ร้านข้างถนนก็มีบรรยากาศ เช่นร้านที่ภูเก็ตบรรยากาศดีมาก อยู่ตรงตลาดเทศบาล ตรงข้ามมีถังขยะแต่อาหารอร่อยมาก ซึ่งก็คือ ร้าน โกซ้งคนโบราณ

เชลล์1

ส่วนข้อสาม   ต้องเป็นร้านที่ควรค่าแก่การไปชิม อย่างเช่น ต้องขึ้นเขา ลงเรือไปกลางทะเล คนยังดั้นด้นไปเพราะอร่อย จนคุ้มค่ากับการไปชิม

ตำนาน “เชลล์ชวนชิม” วันนี้ จึงกลับมาคู่ร้านอาหารไทยเพื่อรับประกันความอร่อยให้นักชิม  ที่สำคัญคือ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนร้านอาหารไทยที่อร่อยได้มาตรฐานให้อยู่รอดได้ต่อไป เพื่อสร้างเรื่องราวบทใหม่บนตำนานเชลล์ชวนชิมอีกครั้ง

Avatar photo