Economics

‘สนธิรัตน์’ ถกด่วนกบง.พรุ่งนี้ ดึงกองทุนฯ ลดผลกระทบวิกฤติน้ำมัน

“สนธิรัตน์” ตามติดสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกจากวิกฤติน้ำมันซาอุฯ นัดประชุมกบง.วาระเร่งด่วนพรุ่งนี้ เตรียมดึงกลไกกองทุนน้ำมันฯช่วยลดผลกระทบ ประชาชน หลังราคาปรับขึ้น 1 บาทต่อลิตร พร้อมระดมทุกหน่วยงานซ้อมแผนฉุกเฉิน 19 ก.ย.

กรณีซาอุดิอาระเบียถูกโจมตีโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณและราคาน้ำมันทั่วโลก ทางกระทรวงพลังงานเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ทั้งด้านการนำเข้า ปริมาณสำรอง และการดูแลเรื่องราคาพลังงาน พร้อมนัดประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นัดพิเศษ เพื่อเร่งวางมาตรการป้องกันล่วงหน้า หากกระทบราคาในประเทศรุนแรง และระดมทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องซ้อมแผนฉุกเฉินวันที่ 19 กันยายนนี้ สมมุติเหตุการณ์ให้สอดคล้องเหตุการณ์จริง เพื่อคาดการณ์ และวางมาตรรองรับ

S 77185253

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีซาอุดิอาระเบียถูกโจมตีโรงกลั่นน้ำมันว่า ในความเป็นจริงแล้วจุดที่ถูกโจมตีไม่ได้เป็นที่ตั้งโรงกลั่นน้ำมัน แต่เป็น Crude Oil Processing Facility หรือ โรงงานที่ทำหน้าที่กำจัดสารต่างๆ ที่ไม่ต้องการ เป็นเหมือนกระบวนการทำความสะอาด ออกจากน้ำมันดิบ ก่อนส่งต่อไปยังผู้ซื้อของบริษัท Aramco (อารามโค)

ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะอยู่ในความควบคุมได้แล้วก็ตาม แต่กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนไม่ให้เกิดความวิตกกังวล

โดยกระทรวงพลังงานเตรียมการดังนี้

1.ด้าน Supply มีการบริหารจัดการด้าน Supply หรือการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยปัจจุบันไทยพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศซาอุดิอาระเบียประมาณ 170,000 บาเรลล์ต่อวันจากปริมาณนำเข้าทั้งประเทศ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้นจึงเป็นตัวเลขที่ไม่น่ากังวล

ทั้งนี้เพราะหากไม่สามารถนำเข้าจากซาอุดิอาระเบียได้ตามปริมาณดังกล่าว ก็สามารถกระจายการนำเข้าจากแหล่งอื่นได้  ปัจจุบันการนำเข้าของไทยค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ รวมถึงกาต้าร์ โอมาน อัฟริกา เป็นต้น

2.ด้านปริมาณสำรอง ปัจจุบัน ณ วันที่ 16 กันยายน 2562 ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 3,366 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,193 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 1,848 ล้านลิตร รวมจำนวนวันที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด 54 วัน

ส่วนปริมาณสำรองก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนมีประมาณ 131 ล้านกิโลกรัม สำรองได้ 23 วัน แต่หากรวมการใช้แอลพีจีของภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งแล้วจะทำให้จำนวนวันสำรองที่ใช้แอลพีจีได้อยู่ที่ 12 วัน

3.ด้านราคา ได้มีการประเมินเบื้องต้นโดยทำแบบจำลองสถานการณ์ไว้ว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้ออยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ จะทำให้อัตราราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือกระทบราคาขายปลีก 1 บาทต่อลิตร หากยืดเยื้อราว 2 – 6 สัปดาห์ ราคาจะปรับขึ้น 5-15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับขึ้นทุกๆ 1 ดอลลาร์ มีผลต่อราคาขายปลีกในประเทศ 20 สตางค์ต่อลิตร

​“ส่วนของการบริหารจัดการด้านราคา  เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมนั้น  กระทรวงพลังงานได้ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง”

S 77185252

โดยวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย.) จะนัดประชุมกบง.วาระพิเศษ เพื่อดูแนวโน้มราคาให้ชัดเจนอีกครั้ง เพราะภายหลังเกิดเหตุการณ์ ราคาปรับขึ้นมา 12% หรือ 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแต่ล่าสุดน้ำมันดิบปรับลดลงแล้วจาก 71 ดอลลาร์ เหลือ 67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  และจากมาตรการต่างๆที่เราวางไว้ จึงมั่นใจว่า “เอาอยู่”

ทั้งนี้การหารือในกบง.จะเป็นการวางมาตรการป้องกันผลกระทบที่มีต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยจะดูว่าจะนำกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีเงินอยู่ 39,000 ล้านบาทมาช่วยบรรเทาผลกระทบอย่างไร

นอกจากนี้ ในวันที่ 19 กันยายนนี้ จะมีการระดมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงพลังงาน โรงกลั่นน้ำมัน ตำรวจ เป็นต้น เพื่อซักซ้อนแผนฉุกเฉินให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง

Avatar photo