Economics

คาดเงินบาทสัปดาห์นี้แกว่งในกรอบ 30.35-30.75 บาท/ดอลลาร์

“ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” ประเมินค่าเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 30.35 – 30.75 บาท/ดอลลาร์

กรุงศรี

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.35-30.75 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 30.43 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 ขณะที่ตลาดตอบรับสัญญาณที่ว่าสงครามการค้าอาจคลี่คลายลงซึ่งหนุนสกุลเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 1.7 พันล้านบาท แต่ซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตร 9.6 พันล้านบาท ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางความหวังเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีนเพื่อยุติข้อพิพาททางการค้า

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะมุ่งความสนใจไปที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 17-18 กันยายน 2562 ซึ่งคาดว่าจะมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ช่วง 1.75 – 2.00% ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ประธานาธิบดีทรัมป์ และอาจเพิ่มแรงกดดันต่อเฟดได้บ้าง หลังจากอีซีบีปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลงมาสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ติดลบ 0.5% จากเดิมติดลบ 0.4% และจะเริ่มโครงการเข้าซื้อพันธบัตรขนาด 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไปโดยไม่กำหนดวันสิ้นสุด

อย่างไรก็ดี ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐยังคงบ่งชี้ถึงทิศทางที่สดใสกว่ากลุ่มเศรษฐกิจหลัก ดังนั้น หากเฟดประเมินเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในเชิงบวกมากกว่าที่นักลงทุนคาดไว้ เงินดอลลาร์มีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าได้เช่นกัน นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ในวันที่ 19 กันยายน

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ มองว่า เปิดตลาดสัปดาห์นี้ สกุลเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบสุทธิ ยังได้รับแรงกดดันจากเหตุโจมตีโรงงานน้ำมันของซาอุดิอาระเบียซึ่งลดอุปทานพลังงานโลกและส่งผลให้ราคาสัญญาน้ำมันดิบสหรัฐในตลาดล่วงหน้าพุ่งขึ้นกว่า 15%

อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าผลกระทบต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจากประเด็นดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ขณะที่เราให้น้ำหนักปัจจัยชี้นำค่าเงินบาทไปที่สัญญาณดอกเบี้ยในระยะถัดไปจากเฟด รวมถึงกระแสข่าวเกี่ยวกับทิศทางการค้าโลกเป็นสำคัญ อนึ่ง ในช่วงนี้ตลาดจะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นหลังเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 ปี

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK