COLUMNISTS

จับตา! ผู้ประกอบการจีนตบเท้าเข้าลงทุนไทย

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA)
1259

จับตา! ผู้ประกอบการสัญชาติจีนตบเท้าเข้าลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ในไทย

คอนโดพระรามเก้า

ผู้ประกอบการสัญชาติจีน ไม่ว่าจะมาจากประเทศจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่ใช้ภาษาจีนกลางเป็นตัวกลางในการสื่อสาร ก็นับว่าเป็นผู้ประกอบการสัญชาติจีนทั้งหมด ผู้ประกอบการสัญชาติจีนเป็นอีกกลุ่มที่เริ่มเข้ามาในประเทศไทย เพียงแต่รูปแบบของการเข้ามานั้นค่อนข้างเงียบหรือว่าไม่มีการร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศไทยแบบผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น

ส่งผลให้ข่าวการร่วมมือของผู้ประกอบการญี่ปุ่นกับผู้ประกอบการไทยนั้นค่อนข้างมากและมีจำนวนโครงการร่วมกันมากกว่า อีก 1 เหตุผลที่ผู้ประกอบการจีนไม่มีการร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศไทยเพราะว่าเงื่อนไขในการร่วมมือนั้นแตกต่างจากผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น เพราะผู้ประกอบการสัญชาติจีนต้องการควบคุม ดูแลและบริหารบริษัทที่ร่วมทุนนี้แบบเบ็ดเสร็จ ทั้งที่พวกเขาสามารถถือหุ้นได้ในสัดส่วนไม่เกิน 50% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท จึงเป็นเหตุผลให้ผู้ประกอบการจีนไม่มีความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศไทยได้เพียงความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายกลางถึงเล็ก และเป็นการร่วมมือกันแบบรายโครงการไม่ใช่การร่วมมือในระยะยาว

ถ้าผู้ประกอบการสัญชาติเปลี่ยนรูปแบบการร่วมมือได้ในอนาคต พวกเขาน่าจะได้รับความสนจากผู้ประกอบการไทยมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการไทยต้องการกำลังซื้อจากประเทศจีนที่กลายเป็นกลุ่มผู้ซื้อหลักในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกไม่เฉพาะในประเทศไทย

อีกทั้งผู้ประกอบการสัญชาติจีนบางรายมีขนาดใหญ่มากมีโครงการอสังหาริมทรัพย์หลากหลายรูปแบบในหลายประเทศทั่วโลก แต่เปิดขายโครงการขนาดไม่ใหญ่ในประเทศไทยหรือเปิดขายแบบเงียบๆ ไปก่อนหน้านี้ในชื่ออื่น เพราะรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนห้ามการลงทุนอสังหาริมทรัพย์นอกประเทศ พวกเขาจึงจำเป็นต้องใช้ชื่ออื่นในการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์นอกประเทศจีน อีกทั้งขนาดของตลาดและกำลังซื้อที่มีจำกัดจึงมีผลให้กลุ่มผู้ประกอบการจีนไม่ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแบบเต็มรูปแบบเหมือนที่พวกเขาเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียที่มีขนาดของตลาดที่ใหญ่กว่าและเศรษฐกิจอยู่ในช่วงที่ขยายตัวมากกว่าประเทศไทย

ผู้ประกอบการสัญชาติจีนอาจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น หรือรายที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้วก็คงมีการขยายการลงทุนแบบต่อเนื่อง แต่ก็คงต้องพิจารณาจากกำลังซื้อของคนไทยมากกว่าจะหวังพึ่งพากำลังซื้อจากคนในประเทศของตนเอง เพราะสัดส่วนของคอนโดมิเนียมอีกกว่า 51% นั้นต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของคนไทย

นอกจากนี้ รูปแบบของโครงการและการออกแบบต่างๆ ก็ควรเป็นไปตามความชอบหรือรสนิยมของผู้ซื้อชาวไทยไม่ใช่จะยกเอาตามที่พวกเขาคุ้นเคยมาพัฒนาในประเทศไทย เนื่องจากผู้ประกอบการไทยเองก็มีความแข็งแกร่งและเข้าใจตลาดมากกว่าอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีขนาดของบริษัทที่ใหญ่กว่าก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้ามาเบียดแย่งส่วนแบ่งจากผู้ประกอบการไทยไปได้ในเวลาอันสั้นต้องดูกันไปนานๆ