Technology

เผย 5 เทรนด์โลเคชั่นมาแรง พัฒนา ‘เมืองอัจฉริยะ’ สู่ ‘เมืองอุดมคติ’

HERE Technologies เผย 5 เทรนด์โลชั่นมาแรงในปี 2562 ประกอบด้วย

 

1.จากเมืองอัจฉริยะสู่เมืองอุดมคติ

ในการสร้างเมืองอุดมคติ (Ideal City) จำเป็นที่จะต้องมีการระบุและใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านการแข่งขันและทรัพยากรของเมืองนั้นๆ โดยจะต้องจัดทำกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการระยะยาวที่ระบุรายละเอียดอย่างชัดเจน และจะต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน เช่น ประชากร ลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นนั้นๆ และอุตสาหกรรมที่ทีความเฉพาะเจาะจง

เทรนด์โลเคชั่น

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) โดยมีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการเชื่อมต่ออย่างกว้างขวาง ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและองค์กรธุรกิจเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อทำให้เมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งปรับปรุงการให้บริการ โดยเป้าหมายหลักคือการทำให้สภาพแวดล้อมภายในเมืองสะอาดมากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย เพิ่มความคล่องตัวในการเดินทาง และท้ายที่สุดแล้วเมืองดังกล่าวจะมีความฉลาดมากขึ้นและเป็นสถานที่ที่น่าอยู่อาศัยมากกว่าเดิม

ปัจจุบัน เมืองต่างๆ กำลังก้าวเข้าสู่ขั้นตอนถัดไปของกระบวนการนี้ ซึ่งเรียกว่าการพัฒนาเมืองในอุดมคติ นอกเหนือจากความสามารถด้านเทคโนโลยีและการปรับปรุงประสิทธิภาพแล้ว เทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้ยังมีศักยภาพในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองได้อย่างมากอีกด้วย โดยประชาชนจะสามารถสร้างเมืองแห่งอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม และโต้ตอบกับเมืองได้ง่ายขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ผู้นำด้านเมืองอัจฉริยะอย่างเช่น กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ กำลังดำเนินการพัฒนาในทิศทางดังกล่าว ด้วยการใช้เทคโนโลยีการสร้างสรรค์ร่วมกัน (Co-creation) เพื่อพัฒนาโซลูชั่นโมบิลิตี้ที่ทำงานแบบอัจฉริยะ

การเติบโตของเมืองอัจฉริยะที่ได้รับการปรับปรุงตามแนวคิดอุดมคติจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างเปิดกว้างระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องมีการปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่องในส่วนของภาคประชาชนเพื่อให้เมืองเหล่านี้เจริญรุ่งเรืองได้อย่างแท้จริง วิสัยทัศน์สำหรับเมืองแห่งอนาคตจำเป็นที่จะต้องได้รับการนำเอาไปปฏิบัติจริงในทันทีภายใต้แผนการดำเนินงานร่วมกันและกรอบโครงสร้างที่เหมาะสม เพื่อให้วิสัยทัศน์ดังกล่าวกลายเป็นจริง การพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยกำหนดและสร้างกรอบโครงสร้างดังกล่าวจะต้องมีลักษณะเปิดกว้างและอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

future city 1 1

2. พลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐาน

สืบเนื่องจากกระบวนการบริหารจัดการแบบอัตโนมัติและการใช้อุปกรณ์ส่วนบุคคลอย่างแพร่หลายภายในองค์กร “เครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางกายภาพ” รูปแบบใหม่นี้จะช่วยสร้างระบบนิเวศน์แบบครบวงจรที่ไร้รอยต่อและครอบคลุมรอบด้าน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เมืองต่างๆ และรัฐบาลจะต้องจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี รวมทั้งจัดวางรากฐานในด้านกฎระเบียนสำหรับการใช้งานยานพาหนะหุ่นยนต์ที่ก้าวล้ำบนท้องถนนและทางอากาศ

เพื่อรับมือกับแนวโน้มที่กำลังเติบโตอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไร้คนขับ และยานพาหนะทางอากาศ จำเป็นที่จะต้องมีการรื้อระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในเมือง เพื่อให้สามารถรองรับการคมนาคมขนส่งรูปแบบใหม่ เช่น การเดินทางในรูปแบบบริการ (Mobility-as-a- Service – MaaS) และการเดินทางแบบออนดีมานด์ โดยมีการบูรณาการรูปแบบต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้ใช้งานร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้ให้บริการคมนาคมขนส่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานปกครองของเมืองนั้นๆ

ตัวอย่างเช่น เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ร่วมมือกับ DriveNow และ Car2Go เพื่อติดตั้งเครือข่ายสถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งบูรณาการเข้ากับระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่

นอกจากนี้ ยังมีการจัดเตรียมทางหลวงเพื่อรองรับการคมนาคมขนส่งแห่งอนาคต ตัวอย่างเช่น ทางหลวง A1 ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้รับการปรับปรุงเพื่อเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างสนามบินชาร์ลเดอโกล กับประตูชัย Porte de Paris โดยมีสถานีที่เชื่อมต่อทางหลวงดังกล่าวกับรถไฟใต้ดิน รถบัส เลนสำหรับรถยนต์อัตโนมัติและรถเช่า

ทั้งหมดนี้เพื่อรองรับรูปแบบการอยู่อาศัยและการเดินทางในอนาคต

011017 HERE Mobility 0

3. ความร่วมมือขับเคลื่อนระบบอัตโนมัติ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยไอโอที ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานใหม่สำหรับข้อมูล รวมไปถึงกรอบโครงสร้างด้านการสื่อสารและโซลูชั่นเครือข่ายที่ก้าวล้ำ และปัจจุบัน ระบบอัตโนมัติกำลังถูกใช้งานในหลากหลายรูปแบบภายใต้ความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมและองค์กรต่างๆ

โลกอัตโนมัติ (Autonomous World) กำลังถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยข้อมูลที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ และมีการใช้งานข้อมูลดังกล่าวร่วมกันอย่างเปิดกว้าง แพลตฟอร์มข้อมูลใหม่ๆ และตลาดกลางข้อมูลจำเป็นต้องอาศัยมาตรฐานด้านข้อมูลที่ได้รับการยอมรับจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และประเทศต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรองรับการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ รถยนต์ไร้คนขับที่ขับจากกรุงเวียนนาไปยังกรุงเบอร์ลินจะต้องสามารถสื่อสารกับโครงสร้างพื้นฐานของเมืองหนึ่งได้ดีเท่ากับอีกเมืองหนึ่ง Synchronicity คือธุรกิจร่วมทุนที่มีเป้าหมายในการดำเนินการดังกล่าว ด้วยการสร้างระบบพื้นฐานด้านเทคนิคที่สอดคล้องกันสำหรับข้อมูลของเมืองอัจฉริยะ

หัวใจสำคัญของระบบอัตโนมัติคือระบบเครือข่ายที่ยืดหยุ่น สามารถปรับขนาดได้อย่างเหมาะสม และมีการหน่วงเวลาน้อยที่สุด ซึ่งนับว่าจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบริการอัตโนมัติ ตั้งแต่การขับขี่ไปจนถึงการรับมือกับภาวะฉุกเฉิน เครือข่าย 5G มีศักยภาพที่จะรองรับความต้องการดังกล่าว และปัจจุบัน ภาครัฐและภาคเอกชนกำลังร่วมมือกันเพื่อสร้างเครือข่ายดังกล่าว

โลกอัตโนมัติในอนาคตจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่แท้จริง ซึ่งไม่ใช่ในแง่การเมืองหรือเศรษฐกิจ แต่เป็นโลกาภิวัตน์ของข้อมูล ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานด้านข้อมูล รวมถึงการสื่อสารที่เปิดกว้าง แต่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ การเปิดกว้างเพื่อรองรับการประสานงานร่วมกัน การบูรณาการ การใช้งานร่วมกัน และการสำรวจโอกาสมากมายในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมและภาคส่วนต่างๆ ถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่สำคัญสำหรับการสร้างโลกอัตโนมัติ โดยเป้าหมายหลักคือการสร้างโลกที่เปิดกว้าง ซึ่งทุกสิ่งสามารถสื่อสารระหว่างกัน โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องพรมแดนทางภูมิศาสตร์และการเมืองการปกครอง

โลเคชั่น

4. โมเดลเศรษฐกิจใหม่

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (GDPR) คือก้าวแรกในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับการเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้บริโภค ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงมีหน้าที่ความรับผิดชอบในแง่จรรยาบรรณและศีลธรรม ความโปร่งใสคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการใช้ข้อมูล รวมถึงคุณประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับเป็นการตอบแทน วิธีที่ผู้คนสร้างและดำเนินธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแพลตฟอร์มและตลาดกลางด้านข้อมูลได้รับการใช้งานอย่างกว้างขวางมากขึ้น

ประชาชนเริ่มตระหนักมากขึ้นเกี่ยวกับอานุภาพของข้อมูลส่วนตัว และเริ่มรู้สึกลังเลที่จะแบ่งปันข้อมูลดังกล่าว นอกเสียจากว่าจะได้รับประโยชน์ที่ชัดเจนจากธุรกรรม และไม่มีความเสี่ยงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การตระหนักรู้ดังกล่าวอาจช่วยสร้างโอกาสให้แก่ผู้บริโภคได้เช่นกัน กล่าวคือ บริการต่างๆ เช่น Datawallet ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมข้อมูลของตนเอง และสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวได้

ปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจข้อมูลที่กำลังเติบโตถูกครอบครองโดยรูปแบบ B2B เป็นหลัก เพื่อแลกเปลี่ยนกับบริการแบบเฉพาะบุคคล ผู้บริโภคจำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาข้อมูล อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคแทบจะไม่สามารถตรวจสอบหรือควบคุมวิธีการเก็บรวบรวมและใช้งานข้อมูลของตนเองได้เลย

โมเดลธุรกิจ B2B และ B2C แบบเดิมๆ จะต้องได้รับการปรับเปลี่ยน ทั้งนี้ ความตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของข้อมูลอาจช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนบทบาทกลายเป็นคู่ค้า เส้นแบ่งชีวิตทางสังคมและธุรกิจของเราจะค่อยๆ เลือนหาย และวันหนึ่งเราอาจกลายเป็นสินค้าหรือแบรนด์ และข้อมูลที่เราสร้างขึ้นก็จะกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่า

future city 1 1

5. ความมุ่งหวังของสังคมโลก

การแข่งขันเพื่อมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเอไอI และ แมชชีน เลิร์นนิ่ง ได้รับการขับเคลื่อนด้วยความสำเร็จทางด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกัน ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องสะท้อนมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของเรา รวมถึงการมองโลกอย่างเข้าใจตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งจะช่วยให้เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมแอพพลิเคชั่นทางด้านสังคมที่มุ่งเน้นผู้ใช้เป็นหลัก

ขณะที่ความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การตระหนักรู้ถึงผลกระทบในแง่ลบก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน อคติของคนเราที่ปรากฏอยู่ในข้อมูลการฝึกอบรมอาจส่งผลให้โมเดล Machine Learning ที่ถูกสร้างขึ้นมีลักษณะเลือกปฏิบัติโดยไม่ได้ตั้งใจ ผลประทบที่ว่านี้อาจร้ายแรงอย่างมากในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การตรวจคนเข้าเมือง และการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงในกรณีทั่วไป เช่น การจ้างงาน และการประเมินสถานะทางการเงิน นอกจากนั้น ยังมีอคติที่เกิดจากข้อมูลการฝึกอบรมที่คล้ายคลึงกัน ตัวอย่างเช่น ข้อมูลการฝึกอบรมที่ไม่มีความหลากหลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ Google Photo AI ระบุอย่างผิดๆ ว่าคนผิวดำคือลิงกอริลล่า

เพื่อช่วยให้เทคโนโลยีนำเสนออนาคตที่สดใสมากกว่าเดิม เราจำเป็นที่จะต้องปรับใช้กรอบโครงสร้างด้านจรรยาบรรณที่สอดคล้องกันทั่วโลก เพื่อรองรับการเก็บรวบรวมข้อมูล (การบังคับใช้กฎระเบียบว่าด้วยความเป็นส่วนตัวและการไม่ระบุตัวตน) และทางเลือกที่หลากหลายสำหรับข้อมูลที่ใช้ในการฝึกอบรม นอกจากนี้ การตระหนักรู้เรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นส่งผลให้มีการพัฒนาโซลูชั่นที่มีความเหมาะสมในแง่จรรยาบรรณและศีลธรรม

นอกจากนี้ จะต้องมีการถกเถียงกันในประเด็นเรื่องปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเอไอ ที่ “มีจรรยาบรรณและความรับผิดชอบ” แน่นอนว่าไม่มีคำตอบที่ง่ายดายสำหรับคำถามนี้ ซึ่งย่อมจะแตกต่างกันไปตามประเทศและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ดังนั้นประเด็นที่ยังคงเป็นคำถามสำคัญก็คือ เทคโนโลยีคือแรงขับเคลื่อนสิ่งดีงามที่จะช่วยแก้ไขปัญหาช่องว่างและความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมและเชื้อชาติต่างๆ และหลอมรวมมนุษยชาติเข้าด้วยกันได้หรือไม่

Avatar photo