Economics

บอกเลย! พฤติกรรมใช้เงินแบบนี้สร้างแต่หนี้ล้วนๆ

เผยปัจจุบันคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น ชี้อายุเพียง 29 ปีเริ่มก่อหนี้ มีหนี้เสีย และเป็นหนี้เยอะขึ้น เตือนหากมีพฤติกรรมแบบนี้ชีวิตมีแต่หนี้แน่นอน!

Capture149621
ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ไตรมาสแรกปีนี้ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย มีมูลค่ารวม 12.97 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 78.7% ต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ซึ่งหนี้สินส่วนใหญ่เกิดจากการอุปโภคบริโภค โดยพบว่ายอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพื่ออุปโภคบริโภคมีมูลค่า 127,439 ล้านบาท และถ้าดูลึกลงไปจะเห็นว่ายอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตมีมูลค่า 7,322 ล้านบาท

บริษัท ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เปิดเผยว่าปัจจุบันคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น อายุเพียง 29 ปีก็เริ่มก่อหนี้ มีหนี้เสีย และเป็นหนี้เยอะขึ้น โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณหนี้สินต่อหัวรวมทุกประเภทสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 377,109 ล้านบาท เป็น 552,499 ล้านบาท ที่สำคัญเป็นหนี้กันนานขึ้น คือ ภาระหนี้ไม่ได้ลดลง ถึงแม้ว่าอายุจะใกล้วัยเกษียณก็ตาม

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าครัวเรือนไทยที่อ่อนไหวต่อปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่กระทบรายได้ (Income Shock) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น หมายความว่า ถ้ารายได้ลดลงแต่รายจ่ายเท่าเดิม ครัวเรือนที่มีหนี้สินอาจมีปัญหาสภาพคล่องในการจ่ายหนี้มากขึ้น

ธปท. ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย เพื่อให้ทราบระดับทักษะทางการเงินและพัฒนาการ โดยใช้แนวทางการสำรวจทักษะทางการเงินขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นประจำทุก 2 – 3 ปี

การสำรวจล่าสุดปี 2559 ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง 10,876 รายทั้งในและนอกเขตเทศบาลทั่วประเทศ ผลปรากฏว่าคนไทย “สอบตก” ด้านทักษะทางการเงิน โดยจุดอ่อนที่ชัดเจน คือ ความรู้ทางการเงิน พฤติกรรมทางการเงิน และทัศนคติทางการเงิน

ถึงแม้ภาพรวมทักษะทางการเงินของคนไทยปี 2559 มีแนวโน้มดีขึ้นจากปี 2556 แต่สิ่งที่ย่ำแย่ลง คือ พฤติกรรมทางการเงิน เช่น ขาดการดูแลบริหารเงินของตัวเองอย่างใกล้ชิด เบี้ยวหนี้ และขาดสติในการใช้จ่าย และนี่คือตัวอย่างของพฤติกรรมคนไทยที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

เก็บเงินต่อเดือนได้น้อยมาก

ถ้าต้องการมีเงินใช้อย่างพอเพียงหลังเกษียณก็จะเริ่มเก็บเงินและลงทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นวัยทำงาน แต่ถ้ายังไม่คิดถึงเรื่องการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ พอเงินเดือนออกก็จะนำไปใช้จ่ายก่อน บางเดือนใช้จ่ายจนหมด บางเดือนเหลือเก็บไม่กี่บาท

เงินเดือน 20,000 บาท ออมเงิน 800 บาทต่อเดือน หรือมีอัตราการออมต่อเดือนต่ำกว่า 5% อาจตกอยู่ในอันตรายหากตัวเองหรือคนในครอบครัวมีเหตุฉุกเฉินและต้องใช้เงินในทันที แสดงว่ามีพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินเกินตัว

หนี้คงค้างบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

มียอดหนี้บัตรเครดิต 30,000 บาท เลือกจ่ายหนี้อัตราขั้นต่ำ 3,000 บาท จากนั้นนำไปรูดซื้อของ 8,000 บาท จะมีหนี้คงค้าง 35,000 บาท พอถึงวันจ่ายหนี้รอบถัดไปก็จ่ายแบบอัตราขั้นต่ำ 3,500 บาท จากนั้นก็นำไปรูดซื้อของ 10,000 บาท ก็มีหนี้คงค้าง 41,500 บาท

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่จ่ายหนี้บัตรเครดิตด้วยอัตราขั้นต่ำที่เจ้าของบัตรกำหนด ขณะเดียวกันในเดือนถัดไปก็ยังคงใช้จ่ายเต็มที่ผ่านบัตรเครดิต ผลที่ตามมา คือ หนี้คงค้างจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเป็นเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงิน เพราะภาระหนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เสพติดการช้อปปิ้ง

ผู้ที่เสพติดการช้อปปิ้ง (Shopaholic) จะมีความต้องการอยากซื้อของตลอดเวลา หรือมีความรู้สึกดีที่ได้เดินดูของ รู้สึกดีเมื่อได้เปรียบเทียบราคา และรู้สึกมีความสุขเมื่อได้ซื้อ โดยผู้ที่มีพฤติกรรมแบบนี้มักใช้เงินเกินความจำเป็น เพราะหลายครั้งซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ บางครั้งซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก ยิ่งทุกวันนี้มีแท็ปเล็ต มือถือ หรือเปิดทีวี ก็สามารถช้อปปิ้งได้สะดวกสบาย ซึ่งผู้ที่มีพฤติกรรมลักษณะนี้มักมีปัญหาเรื่องหนี้สิน

เป็นหนี้ที่ไม่ดีสูงมาก

หนี้แบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่

หนี้ที่ดี เป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น กู้เงินเพื่อการศึกษา กู้ซื้อบ้าน

หนี้ที่ไม่ดี เป็นหนี้ที่กู้เพื่อการบริโภค เช่น กู้ซื้อมือถือรุ่นใหม่ รูดบัตรเครดิตเพื่อช้อปปิ้งเสื้อผ้า รองเท้าเป็นประจำทุกเดือน

ในแต่ละเดือนควรมีหนี้ที่ต้องจ่ายรวมแล้วไม่เกิน 35% ของรายได้ เช่น เงินเดือน 20,000 บาท ควรมีหนี้ที่ต้องจ่ายไม่เกิน 7,000 บาท หมายความว่า เงิน 7,000 บาท จ่ายทั้งหนี้ที่ดีและหนี้ที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่มีสัดส่วนการผ่อนชำระหนี้แต่ละเดือนอยู่ในระดับสูงมาก และส่วนใหญ่เกิดจากการก่อหนี้ที่ไม่ดี หากเป็นแบบนี้อาจทำให้มีเงินไม่พอไปใช้หนี้

ไม่ว่าจะมีเงินเดือนหลักหมื่นหรือเรือนแสน ถ้าขาดการวางแผนการเงินที่ดีและใช้เงินอย่างมือเติบ ผลที่ตามมา คือ มีหนี้สินท่วมหัว

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

ฐิติเมธ โภคชัย

ผู้บริหารงาน ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ขอบคุณตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK