COLUMNISTS

เศรษฐกิจจะตก ‘ท้องช้าง’

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
959

สศช.แถลงภาวะเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆนี้ว่า จีดีพีไตรมาสสองขยายตัว 2.3% ลดลงจากไตรมาสหนึ่งที่ขยายตัว 2.7% และนับเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 19 ไตรมาส นับจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 แม้ตัวเลขยังเป็นบวกและห่างไกลจากสภาวะถดถอย หรือเศรษฐกิจขยายตัวติดลบต่อเนื่องหลายไตรมาส หากยังขยายตัวไม่มากพอที่จะทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่ามีเงินเหลือในกระเป๋ามากพอ  

eco

ความในใจของสังคมต่อความเป็นไปทางเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านการสำรวจต่างๆ อาทิ ผลสำรวจความเชื่อมั่นรอบล่าสุดของ หอการค้าไทย กับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 46.5% จาก 46.7% ในเดือนกรกฎาคม ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

ขณะที่การสำรวจ ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนของ นิด้าโพล และ สวนดุสิตโพล พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เชื่อว่า สภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่เกี่ยวเนื่องกับความสามารถในการบริหารจัดการของรัฐบาล

สมคิด  จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาช่วยชี้แจง โดยบอกว่าเศรษฐกิจแค่ชะลอตัวจากคาดการณ์เดิม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

การชะลอตัวของเศรษฐกิจดังกล่าว เป็นผลรวมจาก ปัจจัยหลายปัจจัย มีทั้งภายนอก และภายในประเทศ   

ปัจจัยภายนอกที่ยืนแถวหน้าของตัวการทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวคือ ความปั่นป่วนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ตามด้วยกรณีเบร็กซิทที่ผู้แทนเมืองผู้ดียังงงๆ อยู่ว่า จะออกจากสหภาพยุโรปแบบไหนดี หลังปฏิเสธมาแล้วทั้งแบบมีข้อตกลง และไม่มีข้อตกลง  

ความไม่แน่นอนจาก ปัจจัยดังกล่าวฉุดให้การค้าโลกชะลอลง  ประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งส่งออกเป็นหลัก เช่น ไทยเจ็บหนักหน่อย ครึ่งปีแรกส่งออกไทยติดลบ 4%

ส่วนปัจจัยภายในที่เป็นตัวยืนสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อเนื่องมาหลายปี หากจัดลำดับๆแรกคือ หนี้ครัวเรือน ที่ยังพุ่งกระฉูดต่อเนื่อง

เมื่อเร็วๆ นี้ สศช.ระบุว่า ไตรมาสแรกปีนี้ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท หรือ 78.7% ของจีดีพี จัดเรียงเทียบอันดับแล้ว ไทยอยู่อันดับที่ 11 ของโลก และครองอันดับ ของเอเชียรองจากเกาหลีใต้  ครัวเรือนที่มีภาระหนี้มากย่อมฉุดการบริโภค 

ถัดมาคือ การเมือง การจัดตั้งรัฐบาลที่ใช้เวลากว่า 3 เดือนนับจากวันเลือกตั้ง (24 มี.ค.62) จบส่งผลให้งบประมาณปี 2563 ช้าไป เดือน ต้องขยับไปเริ่มต้นปีหน้า และ 6ตามด้วยปัญหาเรื้อรัง เศรษฐกิจเป็นบวกแต่เงินไม่สะพัดและกระจายไม่ทั่วถึง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกลางๆ ที่เป็นทั้งผลดีและผลเสียในคราวเดียวกัน คือ ค่าเงิน ที่บาทแข็งค่าต่อเนื่อง มุมคนค้าส่งออกอยากเห็นเงินบาทอ่อนค่าลง แต่พลิกไปอีกด้าน บาทที่แข็งค่าทำให้ซื้อของนำเข้า อาทิ น้ำมัน และเครื่องจักร ได้ถูกลง

190731currencies

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พูดบนเวทีสัมมนาของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ถึงความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า เพื่อพยุงไม่ให้สภาวะเศรษฐกิจไหลลงลึกลงไปอยู่ในสภาพเหมือนตกท้องช้าง    

 ในเชิงช่าง ”ตกท้องช้าง” หมายถึง วัสดุหนาไม่เพียงพอ ไม่มีโครงสร้างรองรับ หรือรับน้ำหนักมากเกิน นัยหนึ่งก็คือมีความเสี่ยง หากตกท้องช้างในมุมเศรษฐกิจที่ รัฐมนตรีคลัง กล่าวถึง คงหมายถึงเศรษฐกิจไหลลงลึกไปอยู่ในจุดต่ำสุด ที่ยากต่อการฉุดขึ้นมาซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจ ตกต่ำลากยาวเป็น รูปตัวยูก้นใหญ่ โดยธรรมชาติคนบริหารเศรษฐกิจ ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว หวังเห็นเศรษฐกิจไหลลงต่ำ แล้วเด้งขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือน รูปตัววี กันทั้งนั้น  

รัฐบาลป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไหลลง ด้วยการอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบครบวงจร ทั้งกระตุ้นการบริโภค เร่งรัดการใช้งบประมาณโดยเฉพาะของรัฐวิสาหกิจออกมาตรการชิงเงินลงทุนโดยตรงกับต่างชาติ  และ เร่งส่งออก 

วันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 3.16 แสนล้านบาท โดยราว 1 แสนล้านบาท เป็นเงินสดที่ส่งไปยังผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคนโดยประมาณ คนชรา แม่ลูกอ่อน รวมทั้งประกันราคาข้าว บวกอุดหนุนการผลิตชาวนา ตามด้วยประกันราคายาง กับปาล์มซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป วงเงิน  ฯลฯ

ครม. ตั้งเป้าจีดีพีปีนี้ต้องโตไม่น้อยกว่า 3% ท้าทายคำพยากรณ์บางสำนักที่มองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้โตไม่ถึง 3% แน่ มาตรการ และเป้าหมายที่ออกมาบอกเป็นนัยๆ ว่ารัฐบาลจะพยายามทุกหนทาง ที่จะดึงเศรษฐกิจให้ไหลลงไปจนถึงจุด ตกท้องช้าง   

we

ตามเป้าดังกล่าวนอกจากมาตรการแจกเงิน กระตุ้นการบริโภคแล้ว รัฐบาลยังฝากความหวังไว้กับภาคส่งออก และเงินลงทุนโดยตรง กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง ในฐานะกรรมการ และเลขานุการคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ แถลงหลังประชุมครม.เศรษฐกิจก่อนหน้านี้ว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวส่งออกครึ่งปีหลังต้องติดลบน้อยที่สุดและมีเงินลงทุนโดยตรงเข้ามาตามสมควร

เป้าหมายจีดีพี 3%  เพื่อขยับเลี่ยง จากภาวะตกท้องช้าง เป็นไปได้เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งส่งออก และดูดเงินลงทุนโดยตรง ที่รัฐบาลผลักดันออกมาคงมีผลบวกบ้าง อีกทั้งยังมีตัวช่วยจากมติเสียงข้างมากของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.75%  เหลือ 1.50% และคำพยากรณ์ของหลายสำนักที่เชื่อว่า เศรษฐกิจปีนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสสองไปแล้ว

แต่ถึงรัฐบาลจะทำได้ตามเป้า คือ เศรษฐกิจโตได้ 3% ซึ่งต่ำกว่าปีก่อนหน้า (4.1%)  และหลุดพ้นจากภาวะตกท้องช้างไปได้ แต่คงไม่มากพอที่จะคลี่คลายปัญหา เงินไม่สะพัดและไม่กระจาย พอจะดูดซับความรู้สึกฝืดเคืองจากผู้คนส่วนใหญ่ ที่รัฐบาลเรียกว่ากลุ่มคนฐานรากไปได้