Economics

‘จีซี’ จับมือพันธมิตรผลิต ‘พรม’ ระดับไฮเอนด์จาก ‘ขยะพลาสติก’

“จีซี” จับมือพันธมิตรผลิต “พรม” ระดับไฮเอนด์จากขยะขวดพลาสติก “คาร์เปท” เล็งขยายการใช้งานสู่ช็อปแบรนด์ดัง “Louis Vuitton” ด้านโครงการอสังหาริมทรัพย์ “แมกโนเลีย” ประกาศตัวพร้อมใช้ผลิตภัณฑ์จากขยะ 

วันนี้ (13 ก.ย.) พันธมิตรหลายภาคส่วนร่วมเปิดตัวโครงการ “UPCYCLING FOR A BETTER WORLD 2019” เพื่อจับมือนำขยะพลาสติกสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ลดปริมาณขยะ และสร้างความยั่งยืนให้กับโลก ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์

IMG 20190913 152925

ภายในงานมีการแสดง “ผลงานการออกแบบ และพัฒนานวัตกรรม” จากกระบวนการ Upcycling จากวัสดุเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง สามารถใช้งานได้จริงหลากหลายรูปแบบ โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ 13-19 กันยายนนี้ ที่ชั้น 5 ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์

IMG 20190913 140851

ไฮไลท์สำคัญของการจัดงานครั้งนี้ อยู่ที่ “พรมทอมือ” ที่ทำจากขยะขวดพลาสติกจากท้องทะเลครั้งแรกของโลก ซึ่งมาจากความร่วมมือระหว่างบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี  ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) โดยบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ และบริษัท คาร์เปท เมกเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตพรมชั้นนำของไทย

IMG 20190913 155410

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา RISC  กล่าวว่า ทุกคนทราบดีว่าตอนนี้โลกมีขยะเพิ่มมากขึ้นจนไม่สามารถกำจัดได้หมด RISC จึงได้ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรในการคิดค้น และพัฒนาแนวทางวิธีการกำจัดขยะ โดยนำนวัตกรรมกับเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ และเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ เช่น พรมทอมือคุณภาพสูง เก้าอี้ เป็นต้น โดยก่อนหน้านี้ร่วมกับ MQDC นำเศษวัสดุงานก่อสร้าง เช่น หัวเสาเข็มที่ต้องตัดทิ้ง มาบดทำถนนใหม่ หรือทำขอบถนนจากขยะพลาสติก เป็นต้น

“การแก้ปัญหาขยะในทะเลต้องทำคู่กัน ด้านหนึ่งลดการทิ้งขยะในท้องทะเล แต่วิธีเดียว ไม่ได้ทำให้ขยะหมดไป ต้องนำขยะที่เกิดขึ้นมาใช้ประโยชน์ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เราศึกษาวิจัยเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย แต่ไม่มีคนใช้ แต่ความร่วมมือกับพันธมิตรครั้งนี้ ทำให้การแก้ปัญหาขยะครบวงจรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน นั่นคือนำขยะมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า และมีผู้นำไปใช้งาน ”

IMG 20190913 145634

ทางด้าน “คาร์เปท” ผู้ผลิตพรมชั้นนำของประเทศที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เข้ามาร่วมโครงการนี้ด้วยความยินดี นายสุนทร ไกรตระกูล ประธานกรรมการบริษัทคาร์เปท เมกเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตนเองชอบคำว่า Upcycling อย่างมาก ซึ่งต่างจาก Recycle เพราะหมายถึงการเปลี่ยนสิ่งที่เป็นปัญหาให้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เกิดมูลค่าเพิ่ม ตรงกับคอนเซปต์ของคาร์เปท ที่ผลิตพรมด้วยการทอมือเท่านั้น ไม่ใช่เครื่องจักร  มาจากฝีมือของชาวบ้าน 700-800 ครัวเรือนที่อยู่โดยรอบโรงงานในอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

สถานที่สำคัญต่างนำพรมจากคาร์เปท เมกเกอร์ ไปใช้ อาทิ พระราชวัง เรือ Super Yacht Private Jet รวมถึงแบรนด์แฟชั่นชั้นนำระดับโลก

IMG 20190913 140704

IMG 20190913 140949

นายสุนทร เล่าว่า เมื่อได้รับโจทย์จาก RISC ในการนำขยะขวดพลาสติก ผลิตเป็นเส้นใยมาทอเป็นพรม ทั้งนักออกแบบ และทีมทั้งหมดต่างพร้อมใจ ตั้งใจ และทุ่มเทให้กับการนำงานนี้ จนออกมาเป็นพรมที่สวยงาม

และกำลังมีข่าวดีที่ Louis Vuitton แบรนด์ดังระดับโลกที่มีช็อปขายสินค้ากว่า 1,000 แห่งในประเทศต่างๆซึ่งใช้พรมจากคาร์เปทอยู่แล้ว มีแผนจะเปลี่ยนมาใช้พรมจากขยะขวดพลาสติกที่ออกแบบมาอย่างสวยงาม แถมยังมีคุณสมบัติดีกว่าพรมทั่วไป อาทิ ป้องกันคราบสกปรก เชื้อรา นุ่ม ดูแลง่าย และป้องกันไฟในระดับมาตรฐานสากล ASTM D2859 เป็นต้น

“ดูเหมือนทุกคนให้ความสำคัญในเรื่องขยะ แต่จะมีสักกี่คนที่มีได้ลงมือทำในสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ เมื่อได้คุยกับดร.สิงห์ ก็เห็นโอกาสทันทีที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ”

MQDC เป็นอีกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วม โดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขยะพลาสติก นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของเราในการสนับสนุนเรื่องนี้มาจากแนวคิดของเราเองที่จะเป็น For all Well-being เพราะเรารู้ว่าการก่อสร้างอาคารหนึ่งหลังใช้ทรัพยากรจำนวนมาก และสร้างขยะจำนวนมากเช่นกัน

โดยที่ผ่านมาได้หารูปแบบการก่อสร้างสมัยใหม่มาใช้ในอาคารของบริษัททุกโครงการ เพื่อลดปริมาณขยะ แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพ จนมาได้รับข้อมูลเรื่อง Upcycling วัสดุก่อสร้างที่ทำจากขยะจากทีมวิจัย RISC

ทาง MQDC จึงร่วมมือกับพันธมิตรผลิตวัสดุก่อสร้างจากขยะ เช่น อิฐปูทางเท้า พื้นปูถนน ซึ่งรับน้ำหนักได้ไม่ต่างจากอิฐ หรือ บล็อกปูถนนที่ใช้งานอยู่ถือเป็นครั้งแรกในวงการอสังหาริมทรัพย์ของไทย และต่อไปจะใช้วัสดุอื่นๆจากขยะพลาสติกเพิ่มเติม โดยเฉพาะพรมทอมือจากขยะขวดพลาสติกของคาร์เปทในโครงการต่างๆ

IMG 20190913 154004

ทางด้านนางวราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร จีซี ระบุว่า นอกจากเราจะดูแลโรงงานผลิตของเราไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังทำเรื่องอีโคดีไซน์ด้วย เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดต่อผู้บริโภค

โดยเข้าไปมีส่วนในการส่งเสริม และสนับสนุนการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ โครงการที่เราทำมาหลายปี และสำเร็จเป็นรูปธรรม ได้แก่  Upcycling   the Oceans ,Thailand โครงการ ThinkCycle Bank ที่ให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจในการจัดการขยะให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงโครงการ PPP Rayong โครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดการขยะ เป็นต้น

สำหรับโครงการ Upcycling   the Oceans ,Thailand จีซีทำมา 3 ปี เป็นการเก็บขยะพลาสติกจากท้องทะเลมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งปีแรกเก็บขยะที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยองได้ถึง 10 ตัน และนำมาผลิตเป็นสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อ ต่อมาก็มีโครงการเก็บขยะที่บางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ โดยร่วมกับวัดจากแดง นำขยะพลาสติกไปผลิตเป็นจีวร เป็นต้น

และล่าสุดปีที่ผ่านมาเป็นก้าวที่สำคัญของจีซีที่ได้ร่วมมือกับ RISC และ MQDC ทำให้วัสดุ Upcycling ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ทั้งพรมที่ทอโดยเส้นใย Recycle ที่มาจากขวดน้ำ PET การผลิตบล็อกคอนกรีตผสมขยะพลาสติกสำหรับถนน และทางเดิน และวัสดุตกแต่งภูมิทัศน์รอบอาคารจากขยะพลาสติก เช่น คอนกรีต และวัสดุไม้เทียมจากขยะพลาสติก เป็นต้น

ขณะเดียวกันจีซีเองกำลังมีโครงการลงทุนโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติก เพื่อนำมาผลิตเป็นแพคเกจิ้งต่างๆ รวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ซึ่งจะเป็นรูปธรรมภายใน 2 ปีข้างหน้านี้

IMG 20190913 141504

IMG 20190913 140901

การนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์กำลังขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งเอกชน รัฐ และชุมชน ผสมผสานกับนวัตกรรม เพื่อต่อยอดจากขยะเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

โดยยืนยันว่าปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขยะพลาสติก ได้รับการยอมรับและสนับสนุนอย่างมากในเวลานี้ นอกจากลดปัญหาขยะของประเทศได้แล้ว ยังช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชน และปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพก็มีความตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างมาก

“เชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันแก้ปัญหาขยะของประเทศ ขอให้คิดให้ดีก่อนทิ้งขยะ 1 ชิ้น ต้องมั่นใจว่า ขยะชิ้นนั้นไม่สามารถใช้งานได้แล้วจริงๆเท่านั้น ”

IMG 20190913 155909

นอกนี้ในงาน “UPCYCLING FOR A BETTER WORLD 2019” ยังมีศิลปินดารามากมายที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ลดจำนวนขยะของประเทศ อาทิ อเล็กซ์ เรนเดล ผู้ก่อตั้ง ENVIRONMENTAL EDUCATION CENTRE THAILAND หรือ EEC Thailand ที่ระบุถึงการทำค่าย EEC ที่พาเยาวชนออกไปสัมผัสความสวยงามของธรรมชาติ ให้เด็กๆเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่จากรูปภาพ และใช้โอกาสนี้ในการให้ความรู้ความเข้าใจถึงผลดีและผลเสียของขยะแต่ละชนิด เช่น พลาสติก ที่ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน หากมีการจัดการที่ดี และใช้โอกาสที่ตนเองเป็นที่รู้จักในการรณรงค์เรื่องขยะให้กับสังคมในหลายๆทาง

IMG 20190913 160850

รวมถึง “ท็อป” พิพัฒน์ อภิรักษ์ ธนากร นักแสดงที่หันมารณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ย้ำว่า ตนเองไม่เคยมองพลาสติกเป็นผู้ร้าย เพราะพลาสติกเข้ามาช่วยเราในหลายๆเรื่อง ถ้าไม่มีพลาสติกเราแย่แน่นอน

ดังนั้นไม่อยากให้โทษพลาสติก แต่ต้องโทษพวกเรากันเอง ที่ใช้อย่างไม่รู้คุณค่า ใช้ครั้งเดียวทิ้งมาตลอด ดังนั้นถึงเวลาที่เราต้องหันมาช่วยกัน ทำสิ่งง่ายๆใกล้ตัว เช่น การหันมาใช้กล่องข้าวแทนกล่องโฟม เป็นต้น ก็ช่วยลดขยะได้แล้ว และยังช่วยเรื่องสุขภาพของเราด้วย

Avatar photo