Economics

พาณิชย์ชี้ ‘เงินบาท’ แข็งค่ากว่าคู่แข่ง แต่กระทบ ‘ส่งออก’วงจำกัด

“พาณิชย์”วิเคราะห์ค่าเงินบาทของไทยตั้งแต่ต้นปี ถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบเงินบาทแข็งค่าขึ้น 2.2% ขณะที่ค่าเงินของคู่ค้าและคู่แข่งอ่อนค่ากันหมด แต่ยังโชคดีที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในวงที่จำกัด แม้รายได้เป็นเงินบาทจะลดลง เผยสินค้าเกษตรหลายตัวยังแข่งขันในบางตลาดได้ดี ทั้งข้าว มัน ข้าวโพด อาหารทะเล ผลไม้ เหตุสินค้าไทยมีคุณภาพดี และมีความต้องการเพิ่มขึ้น แนะผู้ส่งออกประกันความเสี่ยงค่าเงิน เหตุบาทยังทรงตัวและอาจแข็งค่าขึ้น

resize 5d79c844073b8
พิมพ์ชนก วอนขอพร

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าที่สำคัญและของไทย พบว่า ค่าเงินบาทเฉลี่ยจากต้นปีจนถึงวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 31.39 บาทต่อดอลลาร์  แข็งค่าขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน และแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง และคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งส่วนมากค่าเงินอ่อนค่า เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อ่อนค่า 6.5% สหภาพยุโรป อ่อนค่า 6.3% อังกฤษ อ่อนค่า 6.2% จีน อ่อนค่า 5.3% อินเดีย อ่อนค่า 5.1% ไต้หวัน อ่อนค่า 4.0% มาเลเซีย อ่อนค่า 4.0% และเวียดนาม อ่อนค่า 2.1% เป็นต้น

ทั้งนี้ หากดูในด้านการส่งออก ไทยยังทำได้ดีกว่าประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่า โดยในช่วง 7 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ค.) ไทยส่งออกลดลง 1.9% ส่วนเกาหลีใต้ ลด 8.9% อังกฤษ ลด 3.5% ไต้หวัน ลด 2.9% และมาเลเซีย ลด 4.8% ดังนั้น การแข็งค่าของค่าเงินบาทแม้ว่าจะทำให้รายได้ผู้ประกอบการลดลง แต่ในภาพรวมส่งผลกระทบต่อการส่งออกยังอยู่ในวงที่จำกัด

สำหรับสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากแข็งค่าของค่าเงิน พบว่า แม้ว่าการส่งออกสินค้าเกษตรบางชนิดจะหดตัว แต่การส่งออกไปบางตลาดยังขยายตัวได้ดี เช่น การส่งออกข้าว 7 เดือน ลดลง 18.5% แต่ส่งออกไปสหรัฐ เพิ่ม 13.9% มีสัดส่วน 13.8% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 6.9% แต่การส่งออกไปญี่ปุ่น เพิ่ม 3.2% มีสัดส่วน 10.6% การส่งออกข้าวโพด ลด 20.7% แต่การส่งออกไปเวียดนาม เพิ่ม 29.2% มีสัดส่วนร้อยละ 23.2

collage 3

นอกจากนี้ การส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง เพิ่ม 2.3% โดยส่งออกไปสหรัฐ และญี่ปุ่น เพิ่ม 16.5% และ 10.4% ตามลำดับ รวมถึงการส่งออกผลไม้สด/แช่แข็ง ที่มีความนิยมสินค้าไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวสูงถึง 44.9% สะท้อนการส่งออกสินค้าเกษตรยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการส่งออก เช่น ความต้องการสินค้า และคุณภาพสินค้า เป็นต้น

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าไลฟ์สไตล์หลายชนิดที่ขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ตู้เย็น และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 15.3% , 13.3% , 12.6% , 3.3% และ 1.3% ตามลำดับ

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2562 คาดว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มทรงตัวหรืออาจจะแข็งค่าเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวในช่วง 30.0-31.0 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยหลักที่อาจจจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ประกอบด้วยการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมของประเทศสำคัญของโลก อย่างสหรัฐ  จีน และสหภาพยุโรป แนวทางการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือเบร็กซิท และความขัดแย้งการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อรองรับผลกระทบจากการความผันผวนและค่าเงินที่อาจจะแข็งค่าเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2562

Avatar photo