Economics

ไฟเขียวผลการเจรจา ‘ไฮสปีด’ ขีดเส้น 1 สัปดาห์ให้ ‘ซีพี’ กำหนดวันลงนามสัญญา

บอร์ดคัดเลือกไฟเขียวผลการเจรจา “ไฮสปีด 3 สนามบิน” ขีดเส้น 7 วันให้ “ซีพี” ตรวจข้อความและกำหนดวันลงนามสัญญา คาดสัปดาห์หน้าก็รู้ผล

vo
วรวุฒิ มาลา

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยหลังเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มูลค่า 2.2 แสนล้านบาทว่า วันนี้ (11 ก.ย.) ตัวแทนของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้นำเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมทุน (PPP) และผลการเจรจากับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 มาเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ชุดใหญ่พิจารณาใน 2 ประเด็น คือ 1.แนวทางการส่งมอบพื้นที่และ 2.เกณฑ์การวัดผลเอกชน (KPI)

เบื้องต้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเห็นชอบผลการเจรจาดังกล่าว แต่เห็นว่าเอกสารบางส่วนยังเขียนไม่ครอบคลุมว่า ใครเป็นผู้รับผิดชอบส่วนไหน วันนี้อัยการสูงสุดจึงช่วยแก้ไขรายละเอียดบางส่วนเพิ่มเติม เช่น การอ้างอิงข้อมูล, คำเชื่อมประเภทและ/หรือ รวมถึงการระบุชื่อผู้รับผิดชอบในส่วนต่างๆ ให้ชัดเจน

คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาแก้ไขข้อความด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง แต่เป็นการแก้ไขในรายละเอียดเท่านั้น ส่วนหลักการยังเป็นเหมือนเดิม จากนั้นที่ประชุมฯ ได้พิมพ์ข้อความที่แก้ไขแล้ว ออกมาไล่ตรวจเอกสารทีละประเด็นอีกครั้งเพื่อความรอบคอบ จึงเชื่อว่าการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ครั้งนี้จะเป็นนัดสุดท้ายและมั่นใจว่าคงไม่มีประเด็นใดๆ เพิ่มเติมอีก

หลังจากนี้ การรถไฟฯ จะส่งรายละเอียดที่ปรับแก้ไปให้ CPH พิจารณา และให้ตอบกลับภายใน 7 วัน ถ้าหากพอใจร่างสัญญา เอกสารแนบท้าย และข้อมูลดังกล่าวแล้ว ก็ขอให้กลุ่ม CPH กำหนดวันลงนามสัญญามาด้วย ส่วนการรถไฟฯ ก็จะดำเนินกระบวนการภายในเพื่อกำหนดวันลงนามสัญญาเช่นกัน

“การรถไฟฯ จะส่งข้อสรุปดังกล่าวไปให้กลุ่ม CPH ดูว่าเขาโอเคไหม โดยให้เขายืนยันกลับภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับจดหมาย ถ้าเขาโอเค ก็ขอให้กำหนดวันลงนามสัญญามาด้วย พร้อมบอกไปด้วยว่ารัฐบาลมีนโยบายให้ลงนามสัญญาในเดือนนี้ แต่ถ้าไม่ทัน มีเหตุผลอะไรก็ว่ามา ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์หน้าทั้งหมดก็จะมีความชัดเจน” นายวรวุฒิกล่าว

fig 17 06 2019 07 55 10

ถ้าหากการรถไฟฯ และกลุ่ม CPH สรุปวันลงนามสัญญาและรายละเอียดทั้งหมดแล้ว ก็จะรายงานละเอียดให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ รวมถึงรายงานความคืบหน้าเรื่องรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องการส่งมอบพื้นที่นั้น นายวรวุฒิยอมรับว่า หลายฝ่ายได้แสดงความเป็นห่วง เพราะเป็นประเด็นนี้อาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ หรือเกิดการฟ้องร้องขึ้นในอนาคต ดังนั้น การรถไฟฯ และ CPH จึงตกลงกันว่า เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายลงนามสัญญาแล้ว ก็จะส่งหนังสือให้เอกชนเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้าง (Notice to Proceed : NTP) ภายใน 1 ปี

ในระหว่าง 1 ปีดังกล่าว ทั้ง 2 ฝ่ายก็จะเตรียมความพร้อมของพื้นที่ก่อสร้างร่วมกัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ติดปัญหาผู้บุกรุก พื้นที่ที่ต้องเวนคืน และพื้นที่ต้องรื้อย้ายสาธารณูปโภคจำนวน 300 สัญญา แต่ถ้าหากมีอุปสรรค ทั้ง 2 ฝ่ายก็สามารถขยายวันเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างออกไปได้อีก ซึ่งโมเดลนี้เหมือนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

ส่วนกรณีที่ CPH จะต้องดำเนินการรื้อย้ายเสาโฮปเวลล์ออกจากแนวก่อสร้าง รวมถึงก่อสร้างคลองแห้งในโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (Missing Link) และก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนด้วยนั้น

นายวรวุฒิกล่าวว่า การรถไฟฯ ได้ค้นหาข้อมูลดังกล่าวแล้วและพบว่า วงเงินค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 1.19 แสนล้านบาท ได้บรรจุวงเงินทั้ง 3 ก้อนไว้ให้เอกชนเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ภาครัฐจะจ่ายชดเชยวงเงินทั้ง 3 ก้อนให้กับ CPH ตามเงื่อนไขการประมูล

อย่างไรก็ตาม CPH จะต้องจ่ายเงินค่ารับสิทธิ์บริหารโครงการรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้การรถไฟฯ ภายใน 2 ปีนับจากวันลงนามสัญญา เพื่อรับโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ไปบริหารการเดินรถตามสัญญา

Avatar photo