Wellness

สถิติคนไทยป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯพุ่ง เหตุบริโภคเนื้อแดง-เนื้อแปรรูป

575184 cancer

เป็นที่รู้กันดีว่า “มะเร็ง” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทยมาตั้งแต่ปี 2541 แต่ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กำลังจับตาอย่างใกล้ชิด  คือ มะเร็งลําไส้ใหญ่ และ ทวารหนัก  วันนี้พบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย รองจากมะเร็งตับและปอด

ส่วนเพศหญิง พบเป็นอันดับ 4-5 รองจากมะเร็งเต้านม ตับ ปากมดลูก ปอด เนื่องจากเห็นถึงแนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกปี จาก 10,624 รายในปี 2554 มาอยู่ที่ 12,563 รายในปี 2557 แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตประมาณ 3,000 ราย ตัวเลขในปี 2558 มีผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ามารักษา จำนวน 406 รายเป็นผู้ป่วยระยะเริ่มต้นเพียง 18 %

ขณะที่เป็นผู้ป่วยระยะท้ายถึง 82 % บอกนัยสำคัญอะไรบางอย่างที่ทำให้สถาบันมะเร็งฯ ต้องลุกขึ้นมาจับมือกับภาคส่วนต่างๆ เพราะไม่อย่างนั้นความรุนแรงของโรคนี้เพิ่มขึ้นเท่าทวี โดยคาดว่าหากไม่มีนโยบายการคัดกรองมะเร็งลําไส้ใหญ่ฯ จะมีจํานวนผู้ป่วยเพิ่มเกือบ 2 เท่าจากปี 2557 มาอยู่ที่ 21,188 รายในปี 2568

 ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อํานวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข บอกถึงสถานการณ์ความรุนแรงในวงหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเร็วๆนี้ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยามหิดล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เพื่อขับเคลื่อนแนวทางการป้องกันและแก้ไขอย่างมีส่วนร่วม เพื่อลดความรุนแรงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ โดยใช้กลไกของสมัชชาสุขภาพ ดึงเครือทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมทำงาน

ดร.ศุลีพร อธิบายถึงสาเหตุของโรคให้หน่วยงานต่างๆเห็นภาพรวมกัน ว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ มาจาก 7 สาเหตุ

1.การรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง (Red meat) หรือเนื้อสัตว์แปรรูปอื่นๆ (Processed meat)

2. น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรืออยู่ในภาวะอ้วน

3.ขาดการออกกําลังกาย

4. สูบบุหรี่

5.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจํา

6.มีประวัติเนื้องอก ที่ผนังลําไส้ใหญ่และไม่ใช่เนื้อร้าย

7.ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลําไส้ใหญ่และทวารหนัก

 

การระดมความเห็นในครั้งนี้ หน่วยงานต่างๆเห็นด้วยที่จะมุ่งเน้นไปที่สาเหตุเฉพาะอันดับต้นของมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯที่กำลังเป็นที่น่าวิตกกังวล นั่นคือ การรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง หรือเนื้อสัตว์แปรรูปอื่นๆ ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่นิยมบริโภค โดยเฉพาะ “บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง” ที่มีร้านอยู่ทุกหัวระแหง และต่างแข็งขันกันทำโปรโมชั่น เพื่อแย่งชิงกลุ่มลูกค้า และด้วยธรรมชาติของบุฟเฟ่ต์ “ยิ่งกินมากยิ่งคุ้ม” ยิ่งกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น จนทำให้หลายคนมองข้ามอันตราย

ข้อมูลสถาบันมะเร็งฯ ระบุ ผู้ประกอบการจะใส่สารไนเตรทและไนไตรท์ หรือดินประสิว เพื่อให้เนื้อสัตว์มีสีแดง และใส่ในเนื้อสัตว์แปรรูป ได้แก่ กุนเชียง ไส้กรอก เบคอน เนื้อเค็ม ลูกชิ้น แหนมสด ปลาแห้ง เนื้อแห้ง เป็นต้น เพื่อให้มีอายุยาวนานขึ้น สารดังกล่าวแม้จะมีประโยชน์ในการถนอมอาหาร แต่สารไนเตรทและไนไตรท์ ก็มีโทษมหันต์ เพราะสารชนิดนี้จะทําปฏิกิริยากับสารประกอบเอมีนในอาหาร ร่วมกับสภาวะความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ทําให้เกิดสารไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง  หากนำไปปิ้งย่างจนไหม้เกรียมด้วยแล้วจะมี สาร PAHs ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งด้วย ถือว่าความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกหากบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานานย่อมมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

S 26108016

 สถิติที่พบในช่วงอายุของคนไทย

ช่วงอายุ 18-34 ปี นิยมบริโภคเนื้อสัตว์มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ

อายุ 13-17 ปี นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัย 50-75 ปี ยังคงบริโภคเป็นประจำก็จะกลายมาเป็นกลุ่มเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯในที่สุด

โดยสถาบันมะเร็งฯอ้างอิงงานวิจัยขององค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) เมื่อปี 2558 ที่จัดให้เนื้อแดงเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2A คือ มีความเป็นไปได้ที่ จะก่อมะเร็งในคน ส่วนเนื้อแปรรูปจัดเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 1 ที่มีหลักฐาน ยืนยันแน่ชัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งในคน

ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลผู้บริโภค โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กําหนดปริมาณการใช้เกลือไนเตรทหรือไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมัก โดยให้มีเกลือโซเดียมไนไตรท์ได้ปริมาณไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และโซเดียมไนเตรทได้ปริมาณไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

กรณีที่ใช้ทั้งโซเดียมไนไตรท์และโซเดียมไนเตรทให้มีปริมาณรวมกันได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยผู้บริโภคสามารถสังเกต ตัวอักษรหลังฉลาก คือ INS ( International Numbering System) ซึ่งเป็นเลขประจําตัวที่ใช้เป็นสากลของวัตถุเจือปนอาหาร โดย INS 250 คือ โซเดียมไนไตรท์ และ INS 251 คือ โซเดียมไนเตรท

ส่วนในผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป ดร.ศุลีพร ระบุว่า ไม่ได้เป็นอาหารหลัก จึงไม่มีรายงานปริมาณการบริโภคที่เหมาะสมหรือ ปริมาณการบริโภคที่บ่งชี้ในการเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง แต่มีรายงานว่าการบริโภคเนื้อแปรรูปเพิ่มขึ้น วันละ 50 กรัม จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลําไส้ฯ 18 %

20180627 122058
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

สถานการณ์ความรุนแรงของโรค และความจำเป็นที่ต้องสื่อสารไปยังผู้คนให้ตระหนัก ทำให้ นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ไม่สามารถนิ่งเฉยได้ ต้องออกมาจับมือกับทุกภาคส่วน รวมถึงภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อรณรงค์ครั้งใหญ่นับจากนี้

“ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐรณรงค์มาหลายปี ให้คนตระหนักเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ ที่มาจากการบริโภคอาหาร แต่ไม่ได้สร้างการตระหนักรู้ได้มากนัก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจำเพาะของมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ คือการบริโภคเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปเป็นประจำ ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แตกต่างจากบุหรี่หรือเหล้า ที่คนเห็นโทษชัดเจน จึงต้องปรับแผนมาใช้กลไกของสมัชชาสุขภาพ เพื่อระดมเครือข่ายทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสื่อ มาร่วมมือกันแก้ปัญหา”

แนวทางการรณรงค์จะมุ่งเน้นให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณะ เพื่อให้ลดหรือหลีกเลี่ยงเนื้อแดง และเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนแปรรูป ทั้งแบบอุตสาหกรรม และการผลิตแบบชุมชนที่ไม่มีมาตรฐาน รวมถึงเนื้อสัตว์ปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม หรือทอดด้วยน้ำมันทอดซ้ำ รวมถึงให้ความรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมของมะเร็งต่างๆ เช่น การไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน และการสูบบุหรี่

ขณะเดียวกันต้องให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ให้คนนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องด้วย โดยเฉพาะการบริโภคเนื้อแดงต้องไม่ควรมากกว่า 500 กรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่หลายประเทศใช้อ้างอิง

อีกแนวทางจะต้องร่วมมือกับผู้ผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปให้ติดฉลากให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นข้อมูลได้ง่ายว่ามี ไนเตรท และไนไตรท์ มากน้อยอย่างไร เพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อ โดยยึดหลักเกณฑ์ของอย.เป็นหลัก ถึงปริมาณการใช้เกลือไนเตรทหรือไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมัก ที่กำหนดให้มีเกลือโซเดียมไนไตรท์ได้ปริมาณไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และโซเดียมไนเตรทได้ปริมาณไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยทั้งหมดจะเน้นสื่อความกับกลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก นั่นคือผู้ที่มีอายุ 50-75 ปี

“แนวทางที่ได้จากการระดมความเห็นทั้งครั้งนี้และครั้งต่อไปหลังจากนี้ จะถูกบรรจุอยู่ในแผนป้องกันและควบคุมมะเร็งแห่งชาติ แต่แผนก็คือแผน สิ่งสำคัญคือจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไรมากกว่า ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาค”

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight