Branding

‘เอ็มเค’ ซื้อ ‘แหลมเจริญ ซีฟู้ด’ ทำไม ? 

เย็นวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา หลังตลาดหลังทรัพย์ฯ ปิด เชื่อว่าทุกสายตาคงจับจ้องไปที่ดีลใหญ่ที่ออกมาเซอร์ไพร์สตลาดของ “เอ็มเค” หรือ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M ประกาศว่าได้ใช้เงิน 2,060 ล้านบาทเข้าซื้อหุ้นของ “แหลมเจริญ ซีฟู้ด” ด้วยสัดส่วน 65%

ถามว่าดีลนี้น่าสนใจยังไง เพราะปกติแล้วการเทคโอเวอร์กิจการร้านอาหารเป็นโมเดลที่มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ เช่น กลุ่มสิริวัฒนภักดีซื้อสตาร์บัค หรือกลุ่มซีพีที่ซื้อหุ้นทัคคาลบี้

แต่ไม่ใช่กับกรณีของเอ็มเค เพราะว่ากันว่าการซื้อหุ้นร้านอาหารครั้งนี้ คือครั้งแรกนับตั้งแต่เอ็มเคเข้า IPO เมื่อปี 2556 หรือเกือบ 7 ปีที่แล้ว แถมเป็นการควักกระเป๋าหลักหลายพันล้านบาท ซึ่งหากแหลมเจริญซีฟู้ด เข้ามาอยู่ในพอร์ตธุรกิจของเอ็มเค จะคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 12 – 13% ของสินทรัพย์รวมของบริษัทเลยทีเดียว

เอ็มเค MK
รูปเฟซบุ๊ก MK Restaurants

คำถามคือทำไม “เอ็มเค” ต้องทุ่มเงินขนาดนี้เพื่อซื้อ “แหลมเจริญ ซีฟู้ด”

1.ถึงเวลาต้องใช้เงิน

อย่างที่บอกเกือบ 7 ปีแล้วที่เอ็มเคไม่เคยใช้เงินซื้อกิจการเพื่อต่อยอดการเติบโตอะไรเลย ทั้งที่ธุรกิจในมือรายได้ทะลุหมื่นล้าน พ่วงด้วยกำไรอีกหลักพันล้าน

ทำให้เวลานี้ “สถานะทางการเงิน” บริษัทแข็งแกร่งเอามากๆ ซึ่งการควักเงิน 2,000 ล้านบาท ก็ไม่ได้กระทบต่อเงินกระเป๋าเท่าไหร่ เพราะเอ็มเคมีเงินสดในมืออยู่ 9,700 ล้านบาท และยังคงความสามารถการจ่ายปันผล 90% ได้เหมือนเดิม

2.กระจายการเติบโตไปยังแบรนด์อื่นๆ

ปัจจุบัน เอ็มเค มีแบรนด์อาหารทั้งหมด 11 แบรนด์ คือ เอ็มเค สุกี้ มี 438 สาขา, เอ็มเค โกลด์ 6 สาขา, เอ็มเค ไลฟ์ 4 สาขา, ยาโยอิ มี 184 สาขา, มิยาซากิ 26 สาขา, ฮากาตะ 4 สาขา, ร้านอาหารไทยเลอ สยาม 3 สาขา, ร้านอาหารไทย ณ สยาม 1 สาขา, ร้านเลอ เพอทิท 3 สาขา, ร้านบิซซี่ บ็อกซ์ 4 สาขา และเอ็มเค ฮาร์เวสต์ 1 สาขา

แต่ต้องยอมรับว่ารายได้ส่วนใหญ่ยังกระจุกอยู่ที่ธุรกิจสุกี้ประมาณ 80% การที่ได้ “แหลมเจริญ ซีฟู้ด” ที่ปัจจุบันมี 25 สาขา ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เป็นมีจุดแข็งที่แตกต่างออกไปและเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว  จึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่เข้ามาเสริมทัพได้ดี เพื่อกระจายความเสี่ยงขยายฐานลูกค้ามากขึ้น 

51638082 2132018403552053 67884547978559488 o
รูปเฟซบุ๊ก: แหลงเจริญซีฟู้ด

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่ารายได้ของ แหลมเจริญ ซีฟู้ด คิดเป็นประมาณ 10% ของรายได้รวมเอ็มเค เพราะฉะนั้นการเข้าถือหุ้นรวม 65% จะทำให้เอ็มเคมีการอัพไซส์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5%

มุมมองนักวิเคราะห์ต่อเรื่องนี้

หลังมีการประกาสดีลนี้ ทาง IAA Consensus (สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน) ก็เพิ่มราคาเป้าหมายเฉลี่ยหุ้น M เป็น 87 บาท จากเดิม 82.9 บาท เรียกว่าตอบรับข่าวดีกันทันที 

เริ่มจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์กสิกรไทย ประเมินว่าดีลนี้จะก่อให้เกิดการ Synergy เพราะเอ็มเค จะใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญเรื่องซัพพลายเชน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของแหลมเจริญ ซีฟู้ดได้ และเพิ่ม Economies of Scale รวมไปถึงการทำโปรโมชันร่วมกันจะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ในเครือ

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ เชื่อว่าดีลนี้จะเป็นบวกกับหุ้น M เพราะการนำเงินสดในมือไปใช้ประโยชน์โดยการเข้าซื้อกิจการที่มีคุณภาพ เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า มองว่าเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวเป็นราคาที่ดีและชจะช่วยหนุนรายได้ให้เอ็มเคเติบโตราว 10% ต่อปี

สำหรับภาพรวมของธุรกิจช่วงครึ่งปีแรก 2562 เอ็มเค ทำรายได้รวม  8,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1,398 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% จากปีก่อนเช่นกัน 

Avatar photo