Economics

จ่อเคาะแผนเปลี่ยนชื่อ ‘รถเมล์’ ใหม่ทั่วกรุง 205 สาย

“ขนส่งทางบกกลาง” ไฟเขียวใบอนุญาต “รถเมล์” ล็อตแรก 9 เส้นทาง คาดเอกชนเริ่มปล่อยรถใหม่ออกวิ่งตั้งแต่เดือนหน้า พร้อมเตรียมพิจารณาแผนเปลี่ยนชื่อรถเมล์ใหม่ทั้งกรุงเทพฯ 205 สาย

จิรุตม์ วิศาลจิตร282

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง วันนี้ (10 ก.ย.) ว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการเดินรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลใหม่จำนวน 9 เส้นทาง โดยนับเป็นการเห็นชอบใบอนุญาตตามแผนการปฏิรูปรถเมล์เป็นครั้งแรก

สำหรับเส้นทางที่ได้รับการอนุมัติในครั้งนี้ เป็นเส้นทางเดิมที่มีขยายหรือปรับลดระยะทางลงเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ซ้อนทับกับเส้นทางอื่น และเป็นเส้นทางที่มีผู้เดินรถเพียงรายเดียว โดยใบอนุญาตจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1. เส้นทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ สาย A1 ดอนเมือง-จตุจักร และสาย A2 ดอนเมือง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

2.เส้นทางของเอกชน จำนวน 7 เส้นทาง ได้แก่ สายปากเกร็ด-จตุจักร, สายปากเกร็ด-มีนบุรี, สายวัดปรางค์หลวง (บางใหญ่) –บางเขน, สายท่าอิฐ-รามคำแหง, สายวงกลมเคหะธนบุรี-บางแค และสายเคหะธนบุรี-สถานีรถไฟธนบุรี

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องจัดหารถเมล์ใหม่มาให้บริการภายใน 3 ปี แต่ยอมรับว่า ผู้ประกอบการบางส่วนก็ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ จึงต้องไปหาทุนใหม่ หรืออาจจะยกเส้นทางให้ทุนใหม่เลย หรืออาจจะร่วมทุนกันเพื่อจัดหารถเมล์ใหม่มาวิ่ง

“เราเห็นชอบใบอนุญาตให้เอกชนทั้งหมด 7 เส้นทาง หลังจากนี้เอกชนต้องนำรถเมล์ใหม่ ที่มีอายุไม่เกิน 2 ปี มาวิ่งให้บริการ 70% ของฟลีตภายใน 3 ปี เดือนหน้าก็จะทยอยเห็นรถเมล์ใหม่มาวิ่งใน 7 เส้นทางดังกล่าว เพราะได้ยินว่าเขาก็เตรียมรถใหม่มาแล้ว” นายจิรุตม์กล่าว

S 79290370

เดินหน้าปฏิรูปรถเมล์

หลังจากนี้ กระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางจะเดินหน้าพิจารณาใบอนุญาตประกอบกิจการเดินรถเมล์ใหม่ตามแผนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากเส้นทางเดิมที่มีผู้ให้บริการเพียงรายเดียวก่อน ส่วนเส้นทางที่มีผู้เดินรถหลายรายนั้น ผู้ประกอบการก็ต้องไปตกลงกันว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร แล้วจึงมาขอใบอนุญาต

โดยแผนการปฏิรูปรถเมล์ได้บรรจุเส้นทางเดินรถทั้งหมด 269 เส้นทางและปัจจุบันมีผู้ให้บริการจริงเพียง 204-205 เส้นทาง แต่ในอนาคตอาจมีการปรับจำนวนเส้นทางให้เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟฟ้าและสถานการณ์ต่างๆ เพราะรถเมล์มีหน้าที่ป้อนผู้โดยสารให้กับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ (Feeder) จึงต้องปรับเส้นทางเดินรถตามความจำเป็น

ลุยจัดระเบียบชื่อสายรถเมล์

นายจิรุตม์กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมยังคงเดินหน้าแผนการจัดระเบียบชื่อสายรถเมล์ใหม่ เพราะการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์จะทำให้มีเส้นทางใหม่ๆ เกิดขึ้น ดังนั้นจึงควรปรับชื่อสายรถเมล์ใหม่ให้เป็นระบบเดียวกัน เพื่อไม่เกิดความสับสนขึ้นในอนาคต

โดยปัจจุบันการตั้งชื่อสายรถเมล์จะเรียงตามลำดับก่อนหลังในการขอใบอนุญาต แต่ต่อไปก็จะใช้ระบบแบ่งเขต (Zoning) ในการตั้งชื่อสายรถเมล์แทน ได้แก่ เลขหมวด 1 โซนเหนือ, เลขหมวด 2 โซนตะวันตก, เลขหมวด 3 โซนตะวันออก เอกมัย และเลขหมวด 4 โซนใต้และฝั่งธนบุรี ซึ่งก็ต้องมาลำดับตัวเลขสายรถเมล์ใหม่ทั้งหมด

รถเมล์ 1

แต่นายจิรุตม์ยอมรับว่าประชาชนอาจความสับสนในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะรถเมล์ใหม่อาจมีตัวเลขซ้ำกับสายเดิมที่เคยมีอยู่ ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงต้องหารือกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชนให้ตกผลึกก่อน จากนั้นจะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป

อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการใช้พยัญชนะภาษาอังกฤษหรือสี เป็นชื่อสายรถเมล์อีก เพราะผลการศึกษาชี้ว่า ประชาชนไม่ชอบและเกิดความสับสน ดังนั้น จึงจะใช้ตัวเลขในการตั้งชื่อสายรถเมล์อย่างเดียวเหมือนเดิม

“การเปลี่ยนชื่อสายรถเมล์ตามระบบโซนนิ่ง จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจสัก 3-6 เดือน เช่น อาจจะติดชื่อสายใหม่คู่กับสายเดิม พอคนคุ้นเคยแล้วค่อยเอาออก เพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน” นายจิรุตม์กล่าว

Avatar photo