CEO INSIGHT

‘อีทราน’ จุดเริ่มจากความฝันที่จะ ‘เปลี่ยนโลก’ ให้ดีขึ้น

My name is Earth. I just want to change the world” จากประโยคสั้นๆ ที่แนะนำตัวกับเพื่อนนักเรียนในชั้น วันนี้ “สรณัญช์ ชูฉัตร” ทำฝันให้เป็นจริง ด้วยการสร้างนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ อีทราน (ETRAN) และมีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าวางจำหน่ายแล้วในปีนี้ เริ่มจากรุ่น “ETRAN KRAF LIMITED EDITION” สนนราคา 1.5 แสนบาท ที่ผลิตล็อตแรกพร้อมเปิดรับจองแล้วเพียง 300 คัน

นายสรณัญช์ ชูฉัตร
สรณัญช์ ชูฉัตร

สรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด เล่าว่า จากความฝันที่จะเปลี่ยนโลก นำไปสู่ความมุ่งมั่นพัฒนาและออกแบบนวัตกรรมต่างๆ ทั้งสินค้าและบริการ รวมถึงได้รับคัดเลือกให้เป็นที่ปรึกษาด้านออกแบบหลายโครงการ อาทิ KidZania, SCB Easy ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับบริษัทต่างๆตลอด 12 ปีที่ผ่านมา

จากนั้นได้สานต่อความฝันมาเป็นแนวคิดที่จะสร้างนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของคนไทย พร้อมทั้งตั้งเป้าไปไกลถึงการเป็นต้นแบบในตลาดโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะผลักดันระบบนิเวศน์ที่ทำให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นในประเทศไทย โดยเริ่มก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 2558 ด้วยแนวคิด “Drive a better world” และเริ่มจากการพัฒนารถต้นแบบรุ่น ETRAN PROM ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งสาธารณะขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก

จนกระทั่งวันนี้นับเป็นปีที่ 4 ของการลุยบุกเบิกธุรกิจสตาร์ทอัพสายยานยนต์ จากปัญหาที่พบว่า จำนวนรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยที่มีอยู่ถึง 22 ล้านคัน จากข้อมูลของกรมขนส่งทางบกในปี 2562 นำมาซึ่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศถึง 5 หมื่นตันต่อวัน หรือสูงถึง 18 ล้านตันต่อปี ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศอย่างมาก

อีทราน คราฟท์

แต่ในวิกฤตินำมาซึ่งโอกาส เพราะจากจำนวนผู้ใช้รถจักรยานยนต์จำนวนมาก ทำให้มองเห็นโอกาสที่จะยกระดับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อร่วมลดปัญหามลภาวะ แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดนวัตกรรมที่จะยกระดับและพัฒนาการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีทราน จึงเริ่มต้นจากการพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนเมืองและเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

นั่นคือ การผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์รุ่นแรก “ETRAN KRAF LIMITED EDITION” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมัน โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า In Wheel Dc Motor ขนาด 7 กิโลวัตต์ ส่งแรงบิดสูงสุดที่ 150 นิวตัน-เมตร ขนาด 12 นิ้ว ใช้กระแสไฟฟ้าขับเคลื่อน 72 Vdc สามารถเร่งได้สูงสุด 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในโหมดการขับขี่แบบเทอร์โบ ที่จ่ายไฟต่อเนื่อง 350A เหมาะกับการใช้งานโดยเฉพาะในเมือง

สำหรับแบตเตอรี่ LiMn2O4 เทคโนโลยีลิเที่ยมที่ปลอดภัย ขนาดความจุ 2.88 kWh แรงดันไฟ 40A ถือเป็นแบตเตอรี่ที่ทรงพลังที่สุดในปัจจุบัน สามารถขับขี่ต่อเนื่องได้สูงสุด 180 กิโลเมตรต่อการเติมประจุ 1 ครั้ง การเติมไฟทำได้สองระบบเป็นครั้งแรกของโลก คือ Type2 และ AC ในเครื่องเดียวกัน รองรับแรงดันไฟสูงสุดที่ 20A จึงทำให้จะสามารถเติมแบตเตอรี่เต็มภายใน 1-2 ชั่วโมงเมื่อใช้กับตู้ที่รองรับ และสามารถใช้ชาร์จตามปลั๊กไฟ บ้านมาตรฐานที่ 8A โดยใช้เวลาชาร์จเต็มภายใน 3-4 ชั่วโมงได้อย่างปลอดภัย

ETRAN Photo2

นอกจากนี้ ยังใส่เทคโนโลยีสุดล้ำด้วยระบบ ETRAN IoV (Internet of Vehicle) แสดงผลชัดเจนบนจอแสดงผลและปรับแต่งรูปแบบการขับขี่ได้ทันที เชื่อมต่อรถผ่าน ETRAN Mobile application ทั้งการยืนยันตัวตน การเริ่มต้นการใช้งาน การแสดงสถานะ บอกตำแหน่ง แจ้งเตือน เมื่อมีการเคลื่อนรถ ค้นหาจุดชาร์จ พร้อมแสดงสถานะจุดชาร์จ และสามารถเรียกบริการฉุกเฉิน ดูประวัติการบริการ พร้อมแจ้งเตือนเมื่อใกล้ครบระยะ และการจองบริการได้ทันที พร้อมรองรับการทำรถเช่าด้วยระบบ Fleet management ที่เชื่อมต่อผ่านระบบ 3G ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าพัฒนาพลาสติกที่เป็นส่วนหนึ่งของ Circular Economy โดยนำมาจากทะเลของไทย และไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ง่าย เนื่องจากชิ้นส่วนของจักรยานยนต์ที่แตก ไม่สามารถซ่อมได้เหมือนตัวถังรถยนต์ จึงทำให้เกิดขยะจำนวนมาก

ในด้านการผลิต อีทราน ร่วมมือกับ สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น ผู้นำด้านการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ คุณภาพระดับโลก ผลิตชิ้นส่วนโครงสร้างหลักของตัวรถทั้งหมดด้วยอลูมิเนียมและโลหะสมรรถนะสูงที่มีน้ำหนักเบา เชื่อมด้วย Advance Robot Welding Technology เพื่อความแม่นยำสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ด้วยราคาที่ยังสูงกว่ารถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมัน ทำให้ การทำตลาดในระยะแรก ต้องจับกลุ่มเป้าหมายระดับบนที่มีกำลังซื้อและมีใจรักษ์โลก ซึ่งเขาเชื่อว่า มีกลุ่มเป้าหมายนี้แต่ที่ผ่านมายังไม่มีสินค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ดังกล่าว และอีกปัญหาหนึ่งคือ เรื่องของจุดชาร์จ และ ศูนย์บริการหลังการขาย ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

นายสรณัญช์ ชูฉัตร 1 1

ดังนั้น ในเบื้องต้น อีทรานจะเป็นผู้ลงทุุนติดตั้งจุดชาร์จอย่างน้อย 100 จุดในกรุงเทพ โดยจะเริ่มทะยอยติดตั้งภายใน 6 เดือนจากนี้ เน้นแหล่งชุมชน ถนน ศูนย์การค้า จากนั้นในปี 2563 จะเริ่มแต่งตั้งดีลเลอร์ทั่วประเทศต่อไป ซึ่งในระยะแรก ยอมรับว่า หากลูกค้าใช้งานในต่างจังหวัดแล้วเกิดปัญหา ยังต้องส่งรถกลับมาซ่อมที่กรุงเทพ แต่เชื่อว่าหลังจากเริ่มแต่งตั้งดีลเลอร์ในปีหน้า ปัญหาดังกล่าวจะหมดไป

แม้ว่าวันนี้ อีทรานจะเป็นสตาร์ทอัพ ที่ยังไม่มีผู้ร่วมทุนรายใหญ่สนใจเข้ามาร่วมทุนอย่างชัดเจน แต่ สรณัญช์ เผยว่า มีพันธมิตรที่อยู่ระหว่างการเจรจาและคาดว่าจะเปิดตัวได้เร็วๆ นี้ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ความฝันของเขาเป็นจริงได้เร็วขึ้น เพราะล่าสุดได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ศึกษาตลาดรถยนต์ไฟฟ้า พัฒนาต้นแบบ แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ปรับปรุงคุณภาพสินค้ารวมถึงรูปแบบการชาร์จ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ท้ายสุด สรณัญช์ บอกว่า ตั้งเป้า 10 ปี จะมียอดขายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแตะ 2 แสนคัน ซึ่งเชื่อว่าไม่ได้ยากจนเกินไป เพราะคิดเป็น 1% ของจำนวนรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยทุกวันนี้เท่านั้น พร้อมทั้งวางแผนปรับแบรนด์ด้วยการเปลี่ยนตราสัญลักษณ์หรือโลโก้ใหม่ จากแนวคิดเริ่มต้น Drive a better world สู่ Connect the world เพื่อสะท้อนถึงการเชื่อมต่อกับสิ่งแวดล้อม อันจะสะท้อนถึงจุดยืนของแบรนด์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

Avatar photo