COLUMNISTS

ขาย ‘ข้าว-ยาง-มัน’ ปั๊ม ‘จีดีพี 3%’

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
200

รัฐบาลกำหนดเป้าจีดีพีปีนี้ต้องโตไม่ต่ำกว่า 3 % โดยฝากความหวังไว้กับการลงทุนของรัฐ  มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชุดใหญ่ ที่รัฐบาลอัดเงินผ่านงบประมาณและวงเงินกู้รวมกัน  316,000  ล้านบาท รวมทั้งมาตรการอื่นๆ ที่ร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน

190121currencies

นับว่าเป้าหมายดังกล่าวสุดท้าทายอย่างยิ่ง ที่กล่าวเช่นนั้น เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกรวมทั้งไทยเวลานี้ เผชิญกับความไม่แน่นอนรอบด้าน

หากจัดอันดับปัจจัยที่นำมาซึ่งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ยืนอันดับหนึ่ง ส่วน ความโลเลของรัฐสภาอังกฤษที่ยังหาแนวทาง “เบร็กซิท” ที่ถูกใจไม่เจอเสียที กับ ความปั่นป่วนในฮ่องกง เมื่อพลเมืองส่วนหนึ่งไม่อยากเป็นจีน  สองปัจจัยนี้สลับกันขึ้นที่สอง และลงไปอยู่ที่สามตามจังหวะ  ส่วนตัวการลำดับที่สี่ในการสร้างความไม่แน่นอนก็คือ เงินบาทแข็งค่า ฯลฯ ซึ่งกระทบกับภาคส่งออกโดยตรง

ครึ่งปีแรกส่งออกไทยจบที่ติดลบ 2.9 % ทำให้หลายสำนักขนหัวลุกออกมาปรับคาดการณ์ส่งออกปีนี้กันเป็นพัลวัน จากบวกเป็นมีโอกาสติดลบเกือบ 1% หรือดีที่สุดคือขยายตัว 0 % แต่กระทรวงพาณิชย์ยังยืนเป้าส่งออกไว้ที่เดิมคือขยายตัว 3% เศรษฐกิจบ้านเราพึ่งส่งออกเป็นหลัก เมื่อส่งออกแกว่ง จีดีพีย่อมได้รับผลกระทบตาม

จุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้ดูแลเรื่องส่งออกโดยตรง กล่าวบนเวทีสัมมนาของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจวันก่อนว่า  ภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ในการร่วมผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้โตได้ตามเป้าหมาย (3 %)ของรัฐบาลคือ ดูแลราคาสินค้าเกษตร และเร่งรัดการส่งออก

พร้อมกับกางแผนพิชิตเป้าส่งออกให้เห็น กระทรวงพาณิชย์นั้นไม่ได้นิ่งนอนใจ  เริ่มตั้งกรอ.พาณิชย์ ให้เอกชนชี้เป้ารัฐสนับสนุน เรียกทูตพาณิชย์จาก 50 ประเทศมาติวเข้ม มอบตำแหน่งนักขายกิตติมศักดิ์ให้ พร้อมจัดประชุมทูตพาณิชย์ คู่กับทูตเกษตรฯ ที่จุรินทร์ กล่าวอย่างภาคภูมิว่า  “เป็นครั้งแรก” ที่มีการประชุมลักษณะนี้ โดยมีเป้าหมายขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรหลัก 4 ตัว คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และ ข้าวโพด

resize 5d623f4699466

เรื่องเดียวกันรองนายกฯจุรินทร์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อสัปดาห์ก่อนว่า จะนำคณะไปเจาะตลาดสินค้าเกษตรที่เมืองหนานหนิง ประเทศจีน ตามด้วยเมืองมุมไบ และเชนใน ประเทศอินเดีย ต่อด้วยอิรัก ที่เคยเป็นตลาดข้าวใหญ่ของไทย ก่อนเปลี่ยนใจไปซื้อที่อื่นจากผลงานของผู้ส่งออกรายหนึ่ง

ดูตารางเดินสายน็อกดอร์ขายสินค้าเกษตรของกระทรวงพาณิชย์แล้ว  ต้องชมว่า รองนายก ฯ ฝ่ายการตลาดรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 ฟิตจริงๆ และหวังว่าภารกิจเดินสายครั้งนี้ จะปิดการขายได้เกินเป้าหมายที่คาดเอาไว้ เพื่อดึงราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกลงไปมากกว่านี้ จะได้ช่วยให้เกษตรกรมีส่วนต่างราคาเหลือในมือมากขึ้น

การเดินสายขายสินค้าเกษตรถือเป็นภารกิจหลักของกระทรวงพาณิชย์ที่ทำกันต่อเนื่องมายาวนาน   ยุคที่รองนายกฯ จุรินทร์  เริ่มเป็นรัฐมนตรีใหม่ๆ และได้นั่งเก้าอี้  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ช่วงปี  2535 (สมัยรัฐบาลชวน1 ) ก็เคยเดินสายขายยางพาราทำนองนี้มาแล้ว ผ่านมา  27 ปี  จุรินทร์ขึ้นเป็นรองนายกฯ ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ก็ยังเดินขายสินค้าเกษตรรวมทั้งยางพาราเหมือนเดิม

การหวนกลับมาเป็นหัวหน้าค้ายางพาราอีกครั้งของจุรินทร์ ให้ความรู้สึกซ้อนกันอยู่ 2 ส่วน  คือ “ชื่นชม ” กับ ”แปลกใจ ”

ชื่นชม ที่รัฐมนตรีแข็งขันเร่งขยายตลาดสินค้าเกษตร แต่ส่วนที่ แปลกใจ คือเวลาผ่านไปเกือบ 3 ทศวรรษ  แต่ไทยยังส่งออกสินค้าเกษตรแบบ ”วัตถุดิบ” เป็นหลักไม่มีผลิตภัณฑ์แปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มเข้ามาในรายการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ

การเปลี่ยนสินค้าเกษตรจากวัตถุดิบเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว และยังพูดกันอยู่ในปัจจุบัน ที่ผ่านๆ มา เห็นการขยับตัวของภาครัฐและเอกชนบ้างแต่ไม่ถึงกับก้าวกระโดด   ยางพารา ที่ไทยส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกมูลค่า 4 แสนล้านบาทโดยประมาณ ใช้ในประเทศไม่ถึง 10% แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาทิ  ยางรถยนต์ ถุงมือยาง หนังสติ๊ก มีเพิ่มเติมเข้ามาคือเอาไปทำถนนตามนโยบายรัฐบาล

ยางพารา3

มี 3 เหตุผลที่สินค้าเกษตรไม่ว่ายางพารา หรือชนิดอื่น มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้อย หนึ่งคือ ไม่จำเป็น เพราะขายเป็นวัตถุดิบมีกำไรอยู่แล้ว หรือหากราคาสินค้าตกต่ำรัฐบาลมีมาตรการอุดหนุนเสมอ สอง ขาดนวัตกรรม และสาม ขาดผู้บุกเบิก

ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลข้อไหน หรือทั้ง 3  ข้อผู้รับผิดชอบในโจทย์ข้อนี้ หนีไม่พ้น รัฐบาล ตามด้วยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเอกชนเอกชน  ลงไปถึงสถาบันการศึกษา ฯลฯ  ต้องร่วมกันคิดว่าจะใช้วิธีไหน จึงสามารถเปลี่ยนสินค้าเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มรายได้ส่งออกให้ประเทศ

อย่าลืมว่าวิสัยทัศน์ประเทศไทยคือ ไทยแลนด์ 4.0 หากยังเสนอขาย  ข้าว ยาง มัน แบบยุค 2.0 อยู่เพียงกลุ่มเดียว เหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน คงไม่ต้องถามว่า “ เรา”จะบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้หรือไม่