Economics

ล้มดีล ‘แอลเอ็นจี’ ปะทุศึกแห่งศักดิ์ศรี ‘กฟผ.-ปตท.’

ภาพยามนี้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) อาจจะไม่ได้สวยงาม เป็นโอกาสของประเทศในการเป็นศูนย์กลางแอลเอ็นจี หรือฮับแอลเอ็นจีของภูมิภาคอย่างที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานวาดฝัน

แต่กำลังเป็นเชื้อไฟด้วย ภายหลังมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่นายสนธิรัตน์ นั่งเป็นหัวโต๊ะล้มประมูลแอลเอ็นจี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี มูลค่ากว่าแสนล้านบาท

แอลเอ็นจี 4

เพราะมีคำถามคาใจไม่ใช่น้อย อันเนื่องจากดีลนี้ผ่านขั้นตอนการอนุมัติอนุญาต และเป็นการเปิดประมูลแบบ International  Bidding ซึ่งกฟผ.เดินหน้ามาตามลำดับ จนได้รายชื่อผู้เสนอราคาต่ำสุด นั่นคือ “ปิโตรนาส” บริษัทพลังงานแห่งชาติมาเลเซีย ที่ชนะการประมูลไปด้วยราคาแอลเอ็นจีตลอดสัญญา 8 ปีอยู่ที่ 7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จนมาถึงรอการลงนามในสัญญาเท่านั้น

S 70008908

S 70008912

S 70008913

เมื่อล้มดีลใหญ่มูลค่าแสนล้านบาท เครดิตกฟผ.รัฐวิสาหกิจใหญ่ของประเทศก็เลย drop ลง เรื่องเลยไม่จบลงง่ายๆ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. (สร.กฟผ.)ขอออกโรง เพราะอดรนทนไม่ได้ พากันแต่งชุดดำหลายสิบชีวิต มากดดันถึงกระทรวงพลังงาน และขอพบท่านรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา

เพื่อขอคำอธิบายเรื่องราวท้้งหมด เพราะถือว่างานนี้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อชื่อเสียงในสายตานานาชาติ รวมไปถึงเครดิตของกฟผ.องค์กรของพวกเขา ที่สะสมมาจนอยู่ในระดับ AAA

NIK 7471

นายสนธิรัตน์  อธิบายเรื่องนี้ว่า สมมติฐานที่ให้กฟผ.นำร่องนำเข้าแอลเอ็นจี เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 3-4 ปีก่อน  ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ทั้งแนวโน้มราคาก๊าซในตลาดโลกระยะยาวมีแนวโน้มต่ำลงมาก ปัจจัยความต้องการใช้ในประเทศที่ลดต่ำลง อาจเกิดปัญหาล้นตลาดและเงื่อนไขผูกมัดกฟผ.กับผู้นำเข้า ก็จะส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าได้

เขา ย้ำว่าการเลื่อนระยะเวลาเปิดนำเข้าจะเป็นประโยชน์กับทางกฟผ.เอง เพื่อให้ได้รับเงื่อนไขที่ดีที่สุด  มั่นใจว่าจะไม่เกิดความเสียหายใดๆ โดยมอบให้ปลัดกระทรวงพลังงานไปเคลียร์เรื่องราวทั้งหมดไม่ให้คั่งค้างภายใน 2-3 เดือน และแน่นอนเขายาหอมให้กฟผ.เป็นองค์กรที่จะมาช่วยผลักดัน การเป็นศูนย์กลางแอลเอ็นจีในภูมิภาค

 “จุดยืนเรื่องการเปิดเสรีการนำเข้าแอลเอ็นจีขณะนี้ ถือว่าตรงกันทุกฝ่ายแล้ว แต่เพื่อประโยชน์ที่กฟผ.จะได้รับ จึงต้องพิจารณาให้เกิดความรอบคอบ ไม่ให้สัญญามีจุดอ่อนในระยะยาว และที่สำคัญคือประชาชนควรมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกลง ไม่ใช่แพงขึ้น” นายสนธิรัตน์ บอกไว้อย่างนั้น

คำอธิบายนี้ยังไม่เคลียร์นัก นอกวงการนอกประเทศก็คาใจเช่นกัน เพราะการให้กฟผ.นำเข้ามาทดสอบระบบการเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้คลังและท่อก๊าซของ ปตท.(Third Party Access: TPA) นอกเหนือจากปตท.ที่เป็นผู้นำเข้าหลัก เป็นนโยบายของกระทรวงพลังงานเอง และปล่อยให้กฟผ.เดินหน้าประมูลมาตามลำดับ โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นขอบในหลักการไว้ตั้งแต่ 13 กรกฎาคม 2560

ทำให้บริษัทนานาชาติมั่นใจ และตบเท้าเสนอตัวร่วมประมูลถึง 34 ราย ต่อมามีผู้ยื่นเสนอราคา 12 ราย ล้วนเป็นยักษ์ในวงการพลังงานของโลก ประกอบด้วย

1.Chevron U.S.A. Inc

2.Total Gas & Power Asia Private Limited

3.Marubeni Corporation

4.Emirates National Oil Company (Singapore) Private Limited

5.Qatargas 6.JERA Co. Inc

7.Pavilion Gas Pte. Ltd.

8. PETRONAS LNG Limited

9.PTT Public Company Limited (ปตท.)

10. Shell Eastern Trading (Pte) Ltd.

11.BP Singapore Pte. Limited

12.Vitol Asia Pte. Ltd.

คำถามคาใจสำหรับผู้ที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอด ก็คือเมื่อปล่อยให้เดินหน้ามา และได้ “ปิโตรนาส” ฝ่าด่านชนะประมูลด้วยราคาต่ำที่สุด แต่ชื่อผู้ชนะการประมูลไม่นำพาหรืออย่างไรไม่ทราบได้?? กระทรวงพลังงานยุค นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไม่เคาะ ยื้อเวลามาหลายเดือน จนเปลี่ยนรัฐบาล สุดท้ายก็มาถึงมือนายสนธิรัตน์ เป็นผู้ทุบโต๊ะล้มประมูลในที่สุด

3042019 ๑๙๐๔๓๐ 0024

งานนี้ที่ว่าไม่จบง่ายๆ แม้นายสนธิรัตน์ จะจับมือกับศิริชัย ไม้งาม ประธานสร.กฟผ. เมื่อวันก่อนนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่ากฟผ. ออกโรงเอง เพราะอย่างที่ทราบดี กฟผ.เองต้องการปลดแอกจากปตท. หมายถึงซื้อแอลเอ็นจีมาใช้ในโรงไฟฟ้าเอง แทนที่จะต้องซื้อผ่านปตท.ทำให้ต้นทุนค่าไฟบวกเพิ่มโดยใช่เหตุ เมื่อกฟผ.มีศักยภาพพอ

นายวิบูลย์ ออกมาบอกว่า ดีลแอลเอ็นจีที่กฟผ.ประมูลครั้งนี้ ประเทศได้ประโยชน์สุดๆ ทำให้ประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ถึง 30,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 8 ปี เพราะซื้อได้ในราคา 7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขณะที่สัญญาแอลเอ็นจีที่ปตท.ซื้อต่ำสุดอยู่ที่ 8-9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

ก็ต้องตามลุ้นกันต่อไปว่า งานนี้จะจบลงอย่างไร….จะบานปลายเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีระหว่างองค์กรอย่าง “กฟผ.และปตท.” หรือไม่ ???

แต่จะจบลงแบบไหน หากนึกถึงประโยชน์สูงสุดที่จะมาถึงประชาชน ก็น่าจะมีทางออกที่สังคมเข้าใจได้ มองข้ามไปไม่ได้เลย ว่าเรื่องนี้จะเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ท่านสนธิรัตน์ ได้แต้ม หรือติดลบในสายตาประชาชน …อย่าลืม “ความโปร่งใส” ที่ท่านได้บอกไว้ในวันมารับตำแหน่งที่กระทรวงพลังงาน!!

LINE P20190718 165406414

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight