COLUMNISTS

ยุบ ‘พรรคประชาชนปฏิรูป’ กม.มีช่องโหว่ หากการเมืองไร้คุณภาพควรแก้อย่างไร

Avatar photo
502

อุตส่าห์ตั้งชื่อพรรคว่า “ประชาชนปฏิรูป” แต่ยังไม่ทันขึ้นชก ก็ขอปิดพรรคไปแล้ว อ้างว่าพรรคมี ส.ส.แค่คนเดียว กรรมการบริหารพรรคติดภารกิจส่วนตัว ไม่มีเวลาเปิดสาขา ไม่มีเวลาขยายฐานสมาชิก ยกเลิกพรรคตัวเอง ประกาศย้ายค่ายไปสังกัดพรรคใหญ่อย่าง “พลังประชารัฐ” เพราะหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน

ประชาชนปฎิรูป

ในแง่ความรู้สึก คนไทยจำนวนไม่น้อยบอกว่า “ฟังไม่ขึ้น” การอ้างว่ายกเลิกพรรคเพราะไม่มีเวลาทำงาน เป็นเหตุผลที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนที่ออกเสียงให้ เพราะเขาคาดหวังให้พรรคการเมืองนี้ มีส่วนร่วมปฏิรูปศาสนาและการเมือง ตามชื่อพรรค “ประชาชนปฏิรูป” ที่หาเสียงไว้

ดังนั้นประชาชน 45,000 เสียงที่เลือกพรรคประชาชนปฏิรูป ไม่ได้มีเจตนาเลือกพรรคพลังประชารัฐ แม้ว่าจะมีเป้าหมายในการหนุนพล.อ.ประยุทธ์ เหมือนกัน แต่มีรายละเอียดแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน ตามที่ได้เสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ส่วนแง่มุมทางกฎหมาย  แม้ กกต.ไฟเขียวประกาศให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพไปแล้ว  แต่ส.ส.หนึ่งเดียวของพรรคนี้ จะย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐได้อย่างราบรื่นหรือไม่ ยังมีหลายเรื่องที่ กกต.ต้องวินิจฉัย

ตั้งแต่ส.ส.จากประชาชนปฏิรูปจะไปอยู่ในลำดับบัญชีที่เท่าไหร่ของพรรคพลังประชารัฐ และหากมีการเลือกตั้งใหม่ภายในหนึ่งปี โดยที่ไม่มีพรรคประชาชนปฏิรูปแล้ว การคำนวณส.ส.จะได้รับผลกระทบอย่างไร เพราะหากไม่นำคะแนนจากพรรคประชาชนปฏิรูปไปรวม แต่ตัวส.ส.ยังคงอยู่จะเกิดปัญหาตามมาอย่างไร

ที่กล่าวข้างต้นเป็นปัญหาเฉพาะตัวของผู้เป็นส.ส. ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเมืองทั้งระบบ จากช่องโหว้ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 91 ที่เปิดช่องคณะกรรมการบริหารพรรคยกเลิกพรรคการเมืองได้ และคุ้มครองสมาชิกภาพของ ส.ส.ให้สามารถย้ายพรรคได้ภายใน 60 วัน

อีกทั้งยังมีการบัญญัติคำนิยามการควบรวมพรรคการเมืองไว้ในมาตรา 97 ว่า “การควบรวมพรรคการเมืองให้กระทำได้เฉพาะเป็นการรวมกันเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่” เท่ากับการยุบพรรคประชาชนปฏิรูปแล้วไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ไม่เข้าข่ายการควบรวมพรรคการเมือง อันเป็นข้อห้ามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 99 ว่า “ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้”

org 9150068713

ผลจากพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับนี้ ทำให้พรรคเล็ก ที่มีส.ส. สามารถยุบไปรวมกับพรรคใหญ่ ในระหว่างอายุสภาผู้แทนราษฎรได้โดยอิสระ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในยุค พรรคไทยรักไทย ควบรวมพรรคเล็กจนโตแบบผิดธรรมชาติ อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญป้องกันไม่ให้เกิดการควบรวมพรรคการเมือง แต่สุดท้ายเจตนารมณ์นี้ก็ไปต่อไม่ได้ ซึ่งจะโทษใครไม่ได้เลย เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็คือผู้ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองนั่นเอง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นมากกว่าแค่การยุบพรรคประชาชนปฏิรูปไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐ แต่มีนัยยะที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่จะตามมาในอนาคตด้วย

ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยเฉพาะผู้ร่างกฎหมาย ควรทบทวนว่า หากยังต้องการให้การควบรวมพรรคการเมืองแบบยุบพรรคเล็กไปรวมกับพรรคใหญ่ระหว่างอายุสภาผู้แทนราษฎรทำไม่ได้ จะต้องแก้ไขกฎหมายอย่างไรให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีใครให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย

หากไม่มีการทบทวนเรื่องนี้ การปฏิรูปการเมืองคงเป็นได้แค่การขายฝัน ระบบการเมืองที่เปิดช่องให้เกิดพรรคเล็ก ๆ มากมาย โดยอ้างว่าเป็น การเพิ่มทางเลือกให้ประชาชน สุดท้ายกลายเป็นการเพิ่มทางเลือกให้พรรคใหญ่แตกกิ่งก้านสาขา ทำให้ประชาชนว่าเป็นคนละพรรค ชูป้ายหาเสียงกันคนละแบบ ก่อนจะนำมายุบรวมกันเมื่อได้สมดังปรารถนา บนความสมประโยชน์ทางการเมือง มีประชาชนเป็นเพียงหมากในกระดาน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่ใชแค่ บทสะท้อนถึงประเด็นของการรับผิดชอบทางการเมือง หรือ ช่องโหว่ทางกฎหมายที่ต้องแก้ไขเท่านั้น แต่ถือเป็นบทเรียนให้ประชาชนต้องงตระหนักด้วยเช่นกันว่า ถ้าจะเลือกพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ ก็ต้องมั่นใจว่ามีเจตจำนงทำพรรคการเมืองตลอดรอดฝั่ง ต้องเป็นพรรคการเมืองที่มั่นใจว่าจะเป็นสถาบันการเมืองให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ตั้งเพื่อสนับสนุนใครบางคน หรือทำงานไม่กี่เดือนพอหมดประโยชน์แล้วก็ยุบทิ้ง และคนประเภทไหนที่ประชาชนควรเททิ้งหรือให้การสนับสนุน

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลังเกิดเรื่องนี้ มีหลายท่านออกมาให้ความเห็นทั้งทางการเมืองและข้อกฎหมายว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่แทนที่จะรับฟัง หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปกลับตามไล่ฟ้อง นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่ให้ความเห็นวิจารณ์ในเชิงสุจริต หรือแม้แต่ นายเจษฎ์ โทณะวณิก เพื่อนร่วมงานสมัยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เคยทำงานมาด้วยกัน ก็ยังโดนฟ้องเมื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมาย

ddd

รวมไปถึงขู่ นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ที่โพสต์เฟซบุ๊กเตือนให้ชำระบัญชีพรรคประชาชนปฏิรูปให้แล้วเสร็จ ก่อนไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เพราะ แม้พรรคจะสิ้นสภาพไปแล้วแต่ภาระหน้าที่ในฐานะหัวหน้าพรรคยังคงอยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ และหากชำระบัญชีไม่เสร็จภายใน 60 วัน ก็อาจกระทบต่อสถานะความเป็นส.ส.ที่ต้องย้ายสังกัดภายใน 60 วันด้วย ก็โดนหางเลขขอให้กกต.ตรวจสอบด้วยเช่นเดียวกัน

ที่ผ่านมาเรามักเหมารวมเรียกนักการเมืองว่าเป็น นักเลือกตั้ง แต่ความจริงแล้วมีความแตกต่างกันอย่างมาก เพราะ นักการเมืองอาชีพ จะมีความรับผิดชอบต่อประชาชน และมีวุฒิภาวะพร้อมแอ่นอกรับการตรวจสอบในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะ แต่ “นักเลือกตั้ง” จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้คะแนน โดยไม่สนว่าจะมีการหาเสียงเกินจริงหลอกลวงประชาชนให้เลือกตัวเองแล้วทิ้งประชาชนในภายหลังหรือไม่

การแยกแยะระหว่าง “นักการเมืองอาชีพ” กับ “นักเลือกตั้ง” จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนที่จะต้องถอดบทเรียนนี้เพื่อไปประกอบการตัดสินใจสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า