General

พายเรือเก็บขยะ#2 จากปากน้ำโพถึงบางกะเจ้า วอนเลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำ

“ธรรมศาสตร์”ร่วมกับองค์กรภาคี ผุด “พายเรือเก็บขยะ” ปี 2 อีกครั้ง ระยะทาง 300 กม.10 วัน 10 จังหวัด จากปากน้ำโพถึงบางกะเจ้า ปลุกกระแส “เลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำ” ต้นเหตุขยะในทะเล

เมื่อประเทศไทยถูกจัดให้เป็นอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก และขยะในทะเลของประเทศไทย 80% มาจากแม่น้ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงหวนทำโครงการพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้ง หลังจากการจัดครั้งแรกในปี 2561 ช่วยปลุกกระแสให้กับสังคม ”เลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง”

IMG 20190906 102616

โดยได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เปิดโครงการ “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา : เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงอ่าวไทย ปีที่ ๒” (Kayaking for Chao Phraya : Stop littering and plastic pollution ) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา

IMG 20190906 104718

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดโครงการพายเรือเก็บขยะปี 2 เนื่องจากปีนี้เป็นปีมหามงคล โดยในช่วงเดือนตุลาคมจะมีพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 จึงต้องการชวนพี่น้องคนไทยร่วมกันทำความสะอาดแม่น้ำลำคลอง เพื่อเตรียมรับพระราชพิธีสำคัญ

อีกทั้งต้องการปลุกกระแส ให้คนเลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง ซึ่ง 50% ของขยะที่ทิ้งลงแม่น้ำมาจากกทม. อีก 50% มาจากจังหวัดอื่นๆ และขยะเหล่านี้ก็จะไหลผ่านบางกะเจ้า ไปยังปากแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นขยะในท้องทะเลในที่สุด เป็นสาเหตุให้สัตว์ทะเลต้องตายลงจำนวนมาก

“ปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกที่เราทำโครงการพายเรือเก็บขยะ เก็บได้รวม 3,000 กก.ส่วนใหญ่เป็นพลาสติก และขวดน้ำพลาสติก และขยะในแม่น้ำลำคลองก็ยังไม่ได้ลดลง เราจึงต้องช่วยกันรณรงค์อย่างต่อเนื่อง”

IMG 20190906 105411

สำหรับปี 2562 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดทำโครงการพายเรือเก็บขยะตลอด 10 จังหวัด ระหว่างวันที่ 1-10 ตุลาคม 2562 เริ่มต้นที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ สิ้นสุดที่วัดจากแดง บางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ

โดยคาดหวังว่าปริมาณขยะที่ทิ้งลงแม่น้ำลำคลองจะลดลง โดยเฉพาะกทม.ซึ่งต้องเก็บขยะจากแม่น้ำลำคลองถึง 14 ตันต่อวัน

กิจกรรมครั้งนี้เราจัดเรือคายัคหลัก 10 ลำ และคายัคเสริมอีก 10 ลำ นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครของชุมชนมาร่วมด้วยจังหวัดละ 40 ลำ พายเรือตลอดเส้นทาง 300 กม.ร่วมกับอาสาสมัครทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตามประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมพายเรือเก็บขยะตามจุดต่างๆได้

ส่วนขยะที่เก็บได้ในแต่ละจังหวัด จะร่วมกับหน่วยงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.ที่ผ่านการอบรมคัดแยกขยะ 400 คนมาให้ความรู้กับประชาชนเพื่อนำไปคัดแยก และรีไซเคิลต่อไป ทั้งนี้จะไม่มีการรับบริจาค หรือรวบรวมเงิน มีแต่การรวบรวมเจตนารมณ์ และการลงมือของคนไทยริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 10 จังหวัดให้เลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง

“เราพบว่าขยะในแม่น้ำลำคลองยังมีมากอยู่ จึงจัดทำโครงการนี้อีกครั้ง จะปลุกกระแสการเปลี่ยนแปลงให้ประชาชนเลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง เพราะน้ำคือชีวิต ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันเลิกใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งด้วย เป้าหมายสำคัญคือการเก็บขยะในใจคน ไม่ให้มีกรณีแบบพะยูนมาเรียมตัวต่อไปอีก ” 

สำหรับองค์กรภาคีที่ร่วมโครงการ”พายเรือเพื่อเจ้าพระยา” ปี 2 ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,กรมควบคุมมลพิษ ,กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ,กรมเจ้าท่า ,กรมชลประทาน ,กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ,กทม. กระทรวงมหาดไทย ,กรมกิจการพลเรือน กองทัพเรือ ,มหาวิทยาลัยมหิดล ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ,สมาคมกีฬาเรือพายแห่งประเทศไทย ,กลุ่มบิ๊กทรีส์ และองค์กรภาคประชาสังคมของทั้ง 10 จังหวัด

IMG 20190906 105254 0

IMG 20190906 105353

IMG 20190906 105444 0 1

 

Avatar photo