Economics

ไฟเขียว ‘แพ็คเกจไทยแลนด์พลัส’ ลุย 7 มาตรการกระตุ้นลงทุน

ครม.เศรษฐกิจไฟเขียว “แพ็คเกจไทยแลนด์พลัส” เคาะ 7 มาตรการส่งเสริมการลงทุน เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมครม.สัปดาห์หน้า

กอบศักดิ์6962

นายกอบศักดิ์ ภูตะกูล กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) กล่าวว่า ที่ประชุมฯ วันนี้มีมติเห็นชอบ “Thailand Plus Package” ตามข้อเสนอของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทั้งมาตรการภาษี การพัฒนาบุคคลากร ปรับปรุงกฎระเบียบด้านการลงทุน และเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปเรื่องการเจรจาเอฟทีเอ พร้อมทำตลาดเชิงรุก เพื่อเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิตสืบเนื่องจากผลกระทบสงครามการค้า จำนวน 7 ด้าน ประกอบด้วย

1. ด้านสิทธิประโยชน์ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดมาตรการสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อเร่งรัดการลงทุน โดยลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ สำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 โดยต้องยื่นขอรับส่งเสริมภายในปี 2563

2. ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินการของหน่วยงาน ให้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานงานการลงทุนในลักษณะ One Stop Service โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคแก่นักลงทุน รวมทั้งให้บีโอไอสามารถอนุมัติโครงการในกลุ่มกิจการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทุกขนาดการลงทุนเพื่อตอบสนองนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานโดยเร็ว

3. ด้านบุคลากร ให้กำหนดมาตรการการคลังเพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่เข้าข่าย Advanced Technology ไปหักลดหย่อนเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2562-2563 รวมทั้งให้มีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง โดยสามารถนำค่าจ้างไปหักค่าใช้จ่ายได้ระหว่างปี 2562-2563

นอกจากนี้ในกรณีของโครงการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมและยังมีสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้อยู่ บีโอไอจะอนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็น Advanced Technology ไปคำนวณรวมเป็นวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็นร้อยละ 200 รวมทั้งให้บีดอไอและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกันนำเสนอแนวทางและรูปแบบการนำเงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ มาใช้สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการศึกษาศักยภาพสูง

IMG 22876 20190906172739000000

4. ด้านความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งปรับปรุงบัญชีแนบท้ายตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ยังขอให้บีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเชื่อมโยงข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมที่ดิน เป็นต้น รวมทั้งให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญสูง

5. มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเตรียมจัดหาและพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติแต่ละประเทศเป็นการเฉพาะ เช่น เกาหลี จีน ไต้หวัน เป็นต้น

6. ขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งสรุปผลการศึกษาและกระบวนการต่างๆ ให้ได้ข้อสรุปเรื่องการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าไทย-อียู และการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ภายในปี 2562 รวมทั้งมอบให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณแก่กระทรวงพาณิชย์สำหรับกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าด้วย

7. ให้กระทรวงการคลังกำหนดมาตรการเพิ่มเติม โดยให้หักเงินลงทุนด้านระบบอัตโนมัติได้เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2562-2563 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติอันจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานในประเทศไทย

ทั้งนี้ ในวันนี้ พิจารณา Thailand Plus Package เพียงเรื่องเดียว ซึ่งจะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาในวันที่ 10 กันยายน 2562 ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการส่งออกที่มีข่าวก่อนหน้านี้ยังไม่ได้มีการเสนอให้พิจารณาในวันนี้ เนื่องจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ติดภารกิจร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) แต่จะนำเสนอในการประชุมครั้งหน้า รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านท่องเที่ยว ซึ่งหากผู้รับผิดชอบดำเนินเสร็จทันจะเสนอให้ที่ประชุมฯ พิจารณาในสัปดาห์หน้า

Avatar photo