Politics

‘โฆษกรัฐบาล’ เปิด 2 มาตรการใหญ่แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก!

นฤมล178622

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์พายุ “โพดุล” และ พายุ “คาจิกิ” ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันในหลายจังหวัดนั้น ดิฉันได้รับแจ้งแนวทางการบริหารทรัพยากรน้ำในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ว่า ได้ดำเนินการตาม 2 ข้อใหญ่ ดังนี้

1. หลักการบริหารทรัพยากรน้ำภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลยึด 2 หลักการ ดังนี้ กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส (Paris Agreement) กล่าวถึง การเพิ่มความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ โดยการปรับพฤติกรรมของมนุษย์หรือระบบนิเวศ เพื่อลดอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และรัฐเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ ระบบผ่านการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้น (พลิกวิกฤติเป็นโอกาส อยู่ร่วมกับน้ำท่วมให้ได้) เช่น

“ผันน้ำเข้าทุ่งช่วงฤดูน้ำหลาก” ให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สร้างอาชีพใหม่ อาทิ ทำประมงระยะสั้น ปลูกพืชลอยน้ำ เป็นการคงสภาพระบบนิเวศในพื้นที่ไว้ โดยยังสามารถ สร้างรายได้ให้กับประชาชน พร้อมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยการสร้างภูมิคุ้มกันและความสามารถในการฟื้นตัวของครัวเรือนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ สร้าง “ความยืดหยุ่น” การบริหารจัดการน้ำ และ “ปรับปฏิทินการเพาะปลูก” เพื่อสงวนพื้นที่ สำหรับผันน้ำเข้าทุ่งและเก็บกักน้ำไว้สำหรับการเพาะปลูกรอบถัดไป

2.แนวทางการบริหารจัดการในระยะกลาง – ยาว คือ การจัดทำแผนบริหารทรัพยากรน้ำโดยบูรณาการประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกระดับตั้งแต่นโยบาย การวางแผน การดำเนินงานโครงการ และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการความเสี่ยงและความเปราะบางของพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก และเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนในการรับมือกับความเสี่ยง ซึ่งรัฐบาลกำหนดการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area-based) 66 พื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำการศึกษาการพัฒนาโดยมาตรการสิ่งก่อสร้างร่วมกับมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง หรือการแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution) และต้องเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณามาตรการทางการเงินและการคลังที่เหมาะสมเพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม และสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกัน ได้แก่ มาตรการทางการเงิน อาทิ การลดดอกเบี้ยเงินกู้ การขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว และมาตรการทางการคลัง อาทิ การให้เงินชดเชย และการนำแนวคิด Water Fund มาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมต่อไป

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK