Politics

เช็คด่วน! น้ำท่วมที่ไหนหลังกรมชลฯระบายน้ำ

หลังจากฝนที่ตกหนักทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน จึงต้องคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) พร้อมเตือนประชาชนริมสองฝั่งด้านท้ายแม่น้ำน้อยในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เตรียมรับมือน้ำเพิ่มสูงขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมชลประทาน ยังได้จัดทำรูปภาพให้เข้าใจง่ายๆ ถึงการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมอธิบายว่าเมื่อระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อเจ้าพระยา 700-2,840 ลบ.ม./วินาที น้ำจะเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำที่ไหนบ้าง

พร้อมกันนี้กรมชลประทานยังใช้สีแสดงสัญลักษณ์ ว่าการระบายน้ำจำนวนเท่าไหร่ เช่น สีแดง การระบายน้ำมากกว่า 2,400 ลบ.ม./วินาที  ปริมาณน้ำจะท่วมบริเวณไหนบ้าง สีเหลือง มีการระบายน้ำตั้งแต่ 2,200-2,400 ลบ.ม./วินาที สีเขียว มีการระบายน้ำ 2,000 – 2,200 ลบ.ม./วินาที สีน้ำเงิน  มีการระบายน้ำ 700 – 2,000 ลบ.ม./วินาที

69411827 3298914736848210 4907765211089338368 n

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องจากพื้นที่ตอนบนของประเทศมีปริมาณฝนที่ตกหนัก และฝนที่ตกสะสมมากขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น

ล่าสุดเมื่อเวลา 18.00 น. วันนี้ที่ 3 กันยายน 2562  มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 1,141 ลบ.ม./วินาที และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 601 ลบ.ม./วินาที และมีแนวโน้มที่ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงประมาณ 700 – 900 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ได้แก่ บริเวณตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.50 -1.00 เมตร ปริมาณน้ำดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

กรมชลประทาน จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 700 – 900 ลบ.ม./วินาที และจะบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร ทั้งนี้หากมีปริมาณน้ำเหนือไหลหลากจากทางตอนบนมากขึ้น จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 900 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน จะได้แจ้งให้ทุกฝ่ายทราบในระยะต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำดังกล่าว กรมชลประทาน ได้ประสานกับทางจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และ ลพบุรี  ประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อยด้านท้ายประตูระบายน้ำผักไห่ ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรับข่าวสารจากทางราชการเท่านั้น หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร. 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight