Economics

‘เฉลิมชัย’สั่งกรมชลฯเร่งระบายน้ำ – จ่ายชดเชยเกษตรกรเสียหาย

รมว.เกษตรฯ สั่งกรมชลประทานเร่งระบายน้ำเหนือออกทะเล แต่ต้องไม่ให้กระทบพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกำหนดแผนช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลดทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าจากอิทธิพลของพายุ ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ได้สั่งให้อธิบดีกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกในพื้นที่ทางตอนบน ที่เป็นห่วงคือ การระบายน้ำเหนือจากพื้นที่ตอนบนสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เฉลิมชัย11

อย่างไรก็ดี อธิบดีกรมชลประทานรายงานว่า ได้ทยอยเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา จากเดิมระบายอยู่ที่ 424 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เป็น 480 ลบ.ม.ต่อวินาที พร้อมรับน้ำเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจากเดิม 140 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 170 ลบ.ม.ต่อวินาที และฝั่งขวาจากเดิมรับน้ำ 230 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 260 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้ เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลออกสู่ทะเลเร็วที่สุด  ได้กำชับว่าการเพิ่มปริมาตรการระบายต้องไม่ให้กระทบพื้นที่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยาจะต้องมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 700 ลบ.ม.ต่อวินาทีขึ้นไป  ขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก

69873622 3294844663921884 6037980872869675008 o
ภาพ:เฟซบุ๊กเรารักชลประทาน

นายเฉลิมชัย กล่าวว่าได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าสำรวจความเสียหายของพื้นที่เกษตรทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง เร่งดำเนินการทันทีที่น้ำลด หากผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติจะได้รับเงินช่วยเหลือ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562

โดยกรมส่งเสริมการเกษตรรายงานว่า เกษตรกรจะได้รับค่าชดเชยรายละไม่เกิน 30 ไร่ นาข้าวได้ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ได้ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและพืชอื่น ๆ ได้ไร่ละ 1,690 บาท

ขณะที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ รายงานว่าได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยเบื้องต้น ด้วยการจัดหาพืชอาหารสัตว์ วัคซีน และเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ ช่วยอพยพสัตว์ออกจากพื้นที่น้ำท่วม และฟื้นฟูสุขภาพสัตว์ ส่วนการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง สำหรับพื้นที่เสียหายเป็นเงิน หรือปัจจัยการผลิตสำหรับทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ให้เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กิโลกรัม หรือท่อนพันธุ์ไม่เกินไร่ละ 250 กิโลกรัม ไม่เกินรายละ 20 ไร่ หรือจ่ายเป็นค่าพันธุ์พืชอาหารสัตว์ครอบครัวละไม่เกินเดือนละ 1,700 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน

69376896 2381655311899525 1235224262093045760 n 1
ภาพ:ปภ.กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

สำหรับการช่วยเหลือกรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย จะชดเชยตามที่เสียหายจริง  กำหนดอัตราส่วนตามอายุสัตว์ โดยโคอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ได้ตัวละไม่เกิน 20,000 บาท รายละไม่เกิน 2 ตัว กระบืออายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไปได้ตัวละไม่เกิน 22,000 บาท รายละไม่เกิน 2 ตัว สุกรอายุมากกว่า 30 วันขึ้นไปได้ตัวละไม่เกิน 3,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ตัว ไก่ไข่อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 80 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว ไก่เนื้ออายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 50 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว เป็ดไข่และเป็ดเนื้ออายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป ตัวละไม่เกิน 50 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว เป็นต้น

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า กรมประมงได้รายงานถึงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ประสบภัยว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่กรมประมงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากเกิดผลกระทบหรือความเสียหายด้านประมง ให้เร่งช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight