CEO INSIGHT

ถอดตำรา ‘ไมเนอร์ กรุ๊ป’ วัฒนธรรมองค์กรกว่า 50 ปี เริ่มที่ ‘ผู้นำ’

ความแข็งแกร่งขององค์กร 50 ปี อย่าง ไมเนอร์ กรุ๊ป สะท้อนได้จากการขยายอาณาจักรธุรกิจออกไปใน 64 ประเทศทั่วโลก มีจำนวนบุคลากรกว่า 80,000 คน โดยเฉพาะธุรกิจกลุ่มอาหารภายใต้บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด ที่ปัจจุบัน มีแบรนด์ร้านอาหารในเครือถึง 21 แบรนด์ ใน 29 ประเทศ ด้วยจำนวนพนักงานกว่า 48,000 คน ที่ร่วมขับเคลื่อนร้านอาหารในเครือถึง 2,200 สาขาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ความสำเร็จที่ผ่านมานั้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ การบริหารทรัพยากรบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ พิสูจน์ได้จากรางวัลต่างๆ ที่ได้รับ โดยล่าสุด เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด ในนามบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแบล จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล HR Asia Best Companies to Work for in Asia 2019 (Thailand Edition) ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ที่เป็นต้นแบบการบริหารทรัพยากรบุคคลชั้นนำของเอเชีย

S 11829399
ปัทมาวลัย รัตนพล

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่น่าสนใจถึงเคล็ดลับในการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดขึ้นในกลุ่มบุคลากรถึง 80,000 คนทั่วโลก

นางปัทมาวลัย รัตนพล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกลยุทธ์การทำธุรกิจของไมเนอร์ กรุ๊ป รวมถึงไมเนอร์ฟู้ด ว่า จะบริหารงานแบบกระจายอำนาจการตัดสินใจ โดยในแต่ละประเทศจะมีซีอีโอในแต่ละประเทศบริหารงาน มีหน้าที่บริหารจัดการสร้างธุรกิจให้เติบโตและสามารถตัดสินใจได้เต็มที่หรือมีอำนาจบริหารเด็ดขาด เช่น ในสิงคโปร์, ออสเตรเลีย, จีน, อังกฤษ และตะวันออกกลาง โดยซีอีโอจะมีหน้าที่บริหารและสร้างการเติบโตในธุรกิจ  กำหนดยุทธศาสตร์ธุรกิจ เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหาร

ทั้งนี้ ในแต่ละปี ไมเนอร์ มีการเติบโตของพนักงานประมาณ 10% หรือปีละประมาณ 5,000 คน ตามการขยายตัวของธุรกิจ ดังนั้น จึงต้องวางยุทธศาสตร์ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่สำคัญคือ การวางเป้าหมายสร้างให้พนักงานทุกคนมีความสามารถเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน ซึ่งทุกวันนี้ วัฒนธรรมองค์กรและวิธีการทำงานของไมเนอร์ มีความชัดเจน ด้วยการวางกลยุทธ์บริหารจัดการบุคลากรทุกคน ทุกระดับ

pizza01

สิ่งที่ไมเนอร์ฯ ให้ความสำคัญในสามเรื่อง ประกอบด้วย

  • Leader & Leadership ผู้นำคือ ทุกสิ่งทุกอย่างในองค์กร ผู้นำทุกคนคือ ผู้กำหนดและสร้างวัฒนธรรมในองค์กรและหน่วยงานที่ทำ ผู้นำคือคนที่สื่อสารและเป็นตัวอย่างและสร้างความแข็งแกร่งในวัฒนธรรมของความเป็นไมเนอร์
  • การสร้างความแข็งแกร่งให้กับทีมงานคือ ความท้าทาย ซึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของผู้นำ ที่ต้องเริ่มตั้งแต่เลือกคนที่ใช่ ตรงวัฒนธรรมองค์กร และเลือกคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานได้ทันที ต้องเลือก Talent เป็นคนที่มีศักยภาพ
  • Career Opportunity Unlimited บุคลากรทุกคนจะมีเส้นทางแห่งความสำเร็จที่ไม่สิ้นสุด โดยองค์กรจะส่งเสริมความสำเร็จให้ทีมงานและมีตัวชี้วัดความสำเร็จในทุกระดับ

จากลยุทธ์สามประการดังกล่าว เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้บุคลากรทั้งหมดของไมเนอร์ เป็นที่ต้องการขององค์กรและตลาดแรงงานทั้งหมดนั่นเอง

เมื่อถามว่า การมุ่งมั่นเป็นผู้สร้างบุคลากรที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน จะส่งผลให้บุคลากรถูกซื้อตัวไปหรือไม่ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ตอบชัดเจนว่า “ไม่กลัว” เพราะไมเนอร์ฯ เชื่อว่า เมื่อสามารถสร้างได้คนหนึ่ง อีกกี่คนก็สร้างได้ แต่ถ้าใช้วิธีซื้อมา ก็ต้องซื้อไปตลอด ยุทธศาสตร์จึงอยู่ที่การพัฒนาบุคลากร ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การสรรหา คัดเลือก พัฒนาผู้นำ ซึ่งต้องเป็นคนทุ่มเท พร้อมทำงานหนัก เป็นมืออาชีพ และเป็นคนสร้างทีมงานให้ประสบความสำเร็จ ให้ลูกน้องในทีมมีศักยภาพและใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อความสำเร็จ

ซิซซ์เล่อร์

“ดังนั้น การสร้างพนักงานไม่ใช่หน้าที่ของเอชอาร์หรือเทรนนิ่ง แต่การสร้างพนักงานให้ประสบความสำเร็จ เป็นหน้าที่ของผู้นำทุกคนในไมเนอร์ฟู้ด”

อีกประการสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญและมีการปรับเปลี่ยนให้เท่าทันคือ การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญ เพราะธุรกิจอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูกดิสรัปรุนแรง ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด เป็นสิ่งที่องค์กรต้องรีบทำและต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน

“ต่อไปการจ้างงานจะลดลง เพราะเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน เช่น ออกไป 10 อาจจ้างมาทดแทน 3-5 คน แล้วใช้เทคโนโลยีเพิ่มเช่น เช่นการจดออเดอร์ของลูกค้าผ่านไอแพด แทนการเดินจดตามโต๊ะ การให้บริการสั่งอาหารในเครือผ่านเบอร์ 1112 เดลิเวอรี่ เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ การกำหนดและวางแผนการทำงานให้สามารถแข่งขันได้ ต้องนำการพัฒนาเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ ทำให้ต้อง Reskill หรือเพิ่มทักษะของพนักงานเพื่อให้สามารถใช้เครื่องมือและปฏิบัติงานได้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กร

จากเทคโนโลยีที่เข้ามา คาดว่าจะส่งผลให้การจ้างงานในธุรกิจนับจากนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทแรก จะมองที่ทักษะความสามารถในการทำงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานประจำ อาจเป็น เอาทฺซอร์ส ฟรีแลนซ์ หรือรับเฉพาะโครงการ และประเภทที่สอง การที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพราะความเร็ว ความถูกต้องชัดเจนมากกว่าแรงงานมนุษย์ จึงต้องเปลี่ยนงานของพนักงานทุกคนในองค์กร ให้เหมาะสม กลมกลืนกับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ให้คนและเทคโนโลยีทำงานร่วมกันได้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

เดลิเวอรี่

อย่างไรก็ตาม ลักษณะธุรกิจของไมเนอร์ ที่เป็นธุรกิจด้านการบริการ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ดังนั้น การดูแลลูกค้าจึงเป็นเรื่องใหญ่ และไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้งานได้ 100%

“ดิจิทัลมาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เมื่อธุรกิจโตขึ้น ดิจิทัลจะให้สปีด ถูกต้องแม่นยำ ลงทุนไม่ถูกแต่ต้องบาลานซ์การลงทุนกับค่าใช้จ่ายต้องทำให้เหมาะสม เช่นลดต้นทุนด้านอื่น”

นางปัทมาวลัยกล่าวปิดท้ายถึง Core Value หรือคุณค่าหลักขององค์กร 5 ประการคือ 1.มุ่งเน้นที่ลูกค้า โดยลูกค้าต้องมาก่อนเสมอ 2. การทำงานต้องมีผล ทำงานด้วยความมุ่งมั่นและพลังด้านบวก เต็มไปด้วยความตั้งใจที่จะบรรลุทุกความเป็นเลิศด้วยความทุ่มเทของทุกคน 3. มุ่งมั่นพัฒนาคน พนักงานของเราได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพสูงสุดของตัวเอง มีโอกาสได้ท้าทายสิ่งใหม่และเติบโตได้ไกลขึ้นกว่าเดิม 4. ปรับเปลี่ยนตน ปรับปรุงงาน ปรับปรุงงานที่กำลังทำอยู่เสมอ เพื่อเป็นการพัฒนาไปสู่คำว่าดีที่สุดในสิ่งที่ลงมือทำ และ 5.ประสานพันธมิตรเพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน ด้วยการร่มมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตร ร่วมสร้างและแบ่งปันวิสัยทัศน์เพื่อการเติบโตและประสบความสำเร็จที่ยั่งยืน

Avatar photo