Economics

‘สุพันธุ์ มงคลสุธี’ กับภารกิจ ‘Industry Transformation’

thumbnail MG 0297
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 The Bangkok Insight  มีโอกาสจับเข่าคุยกับ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมัยที่สอง หลังจากว่างเว้นไปหนึ่งวาระ พร้อมๆกับไปรับตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

“ต้องพัฒนาทุกอุตสาหกรรมให้ทันเทคโนโลยี ทุกคนต้องเปลี่ยนตัวเองให้ทันกับเทคโนโลยี ” สุพันธุ์ มงคลสุธี

  • ภารกิจหลักในฐานะประธานรอบนี้จะเน้นพัฒนาเรื่องใด 

ผมมองว่ารอบนี้คนละอย่างกับรอบที่แล้ว มองว่าเอสเอ็มอีเป็นปัญหามากก็พยายามผลักดันให้รัฐสนับสนุน จนรัฐบาลผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ท่านรองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ผลักดันเรื่องเอสเอ็มอีเป็นหลัก มีโครงการมาช่วยจำนวนมาก

แต่ตลอด 3-4 ปี เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงมาก มีเทคโนโลยีเข้ามา Disruption เยอะมากในอุตสาหกรรมจึงต้องก้าวไปข้างหน้า  ประธานสอท.คนก่อน ก็พูดเรื่อง Industry 4.0  ซึ่งเป็นเรื่องดีถ้าพัฒนาไปให้ถึง แต่ระหว่างทางยังมีคนที่ต้องพัฒนาอีกเยอะ

รอบนี้ผมจึงมองเรื่อง Industry Transformation ต้องพัฒนาทุกอุตสาหกรรมให้ทันเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก ทุกคนต้องเปลี่ยนตัวเองให้ทันกับเทคโนโลยีให้ได้ เราจึงมองว่า การทำอุตสาหกรรมแบบเดิมๆไม่พอ ต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาใส่ เอานวัตกรรมเข้ามาใส่ เราจึงวางโครงไว้ว่าเป็นยุคของ Industry  Transformation

  • ต้องใช้กลยุทธ์ใดเพื่อพัฒนาได้สำเร็จ

เราต้องทำงานร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการศึกษามากขึ้น  วางโครงสร้างพื้นฐานในส.อ.ท. ให้รองรับได้ มีการตั้งคณะทำงานร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  4 ชุด และคณะกรรมการร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม 6 ชุด  ได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรามีสถาบันนวัตกรรมอยู่แล้ว ได้ให้ ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช รองประธาน เป็นผู้ดูแล

ส่วนความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสายงานอุตสาหกรรม เป็นผู้ดูแล ภารกิจหลักของสอท.เรามี 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 9 สถาบัน ที่ต้องดูแล ทั้งหมดนี้จะขับเคลื่อนผ่านกลุ่มอุตสาหกรรม ผ่านจังหวัด  เริ่มมีการประชุมวางกรอบ Industry Transformation บ้างแล้วว่าต้องทำอย่างไร ทุกคนมองเรื่องนี้เหมือนกัน ทิศทางเดียวกัน ทำงานร่วมกันได้เพราะมีเป้าหมายตรงกัน

  •  ความยากของการ Transform ภาคอุตสาหกรรมอยู่ตรงไหน

ความยากอยู่ที่ตรงต้องรู้ปัญหาคืออะไร เทคโนโลยีอะไร ที่กำลังเข้ามา  เราจะปรับอย่างไรให้ทันกับเทคโนโลยี  เราจะเอาตรงไหนมาเสริมให้สามารถปรับตัวได้ทัน เพื่อให้เป็นผู้ได้เปรียบ ซึ่งก็แล้วแต่อุตสาหกรรม จึงให้ทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรมไปหาจุดอ่อนของตัวเอง ว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เป็นจุดอ่อนต้องปรับตัวแก้ไข

อุตสาหกรรมที่เป็นห่วงคือ กลุ่มอุตสาหกรรรมขนาดกลางลงมาถึงขนาดเล็ก หรือกลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ยังคงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

  • มียุทธศาสตร์อะไรในการพัฒนาอุตสาหกรรม

ผมวางยุทธศาสตร์ไว้ 5 ข้อ ข้อแรก  เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสอท. ซึ่งวันนี้ต้องประสานงานกับทุกภาคส่วน ภาครัฐหลายกระทรวง มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนรายใหญ่ เสริมสร้างความเข้มแข็ง  จัดระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในให้รองรับการพัฒนาได้

ข้อที่ 2 มองเรื่อง Efficiency หรือประสิทธิภาพ โดยเฉพาะนวัตกรรม ทำอย่างไรให้การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุน และมีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี เข้ามาใช้อย่างเหมาะสม

ข้อที่ 3 มองเรื่อง เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เราต้องเข้าไปช่วยเหลือ โดยให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม  เรามีสถาบันที่ดูแลสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ ดูแลทั้งอุตสาหกรรมเก่า และอุตสาหกรรมใหม่

ข้อที่ 4 เรื่องบุคลากร สอท.เป็นองค์กรใหญ่ มีบุคลากรเกือบ 300 คน มีสายงาน 45 กลุ่ม 74 จังหวัดทั่วประเทศ ต้องพัฒนาบุคลากรให้สามารถช่วยเหลือ ประสานงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมได้

ข้อที่ 5 มองเรื่องสิ่งแวดล้อม  ความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญ เรามีสถาบันสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ผลักดันเรื่อง Green Industry ต้องมองเรื่องนี้มากขึ้น ให้ลงไปถึงระดับอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเล็กด้วย   ทำงานร่วมกับภาครัฐมากขึ้น

  •  อุตสาหกรรมตอนนี้มีอุปสรรคอะไรเป็นเรื่องเร่งด่วน

ปัญหาส่วนใหญ่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเล็ก ก็มีปัญหาเรื่องการเงิน ไฟแนนซ์ การตลาด เป็นปัญหาตามปกติ ทำอย่างไรผลิตมาแล้วขายได้ ทำอย่างไรจะได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินให้ขยายกิจการได้ ลดต้นทุนได้ เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาต่อเนื่อง

ตอนนี้มีปัญหาเรื่องเทคโนโลยี เข้ามาเป็นเรื่องใหม่  ทำอย่างไร จะใช้เทคโนโลยีใหม่ ที่เป็นประโยชน์เพื่อลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพได้ ทำอย่างไรถึงจะบ่มเพาะ ความรู้เรื่องนวันตกรรมใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการรายเล็กได้ ทำอย่างไรมีโอกาสศึกษางานวิจัยนำมาใช้ได้มากขึ้น

pick and place robots

  • เทคโนโลยีหุ่นยนต์ส่งผลกระทบต่อแรงงานแค่ไหน

ตอนนี้ยังไม่มีผลกระทบที่ชัดเจน แต่ในอนาคตมีผลกระทบแน่ การใช้แรงงานจะน้อยลง แต่แรงงานที่มีความรู้ความสามารถ เช่น กลุ่มวิศวกรต่างๆ ต้องการมากขึ้น   ผลกระทบจากเทคโนโลยีหุ่นยนต์ อีก 3 ปี จะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้น

วันนี้ทุกคนพยายามเน้นเทคโนโลยีหุ่นยนต์กันมากขึ้น เพราะ Robotics เข้ามามีบทบาท เทคโนโลยีถูกลง ค่าจ้างแรงงานแพงขึ้นเรื่อยๆ อีกไม่นานจะเห็นภาพหุ่นยนต์ เข้ามาแทนที่แรงงานมากขึ้น จึงต้องรีบแก้ไข ในภาคการศึกษาก็ต้องปรับตัว เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาการว่างงานเยอะขึ้น

  • สอท.มีมาตรการอะไรที่จะช่วยป้องกันการว่างงาน 

ความที่เราเป็นองค์กรเอกชน สิ่งที่ทำได้คือพยายามส่งเสริมให้เอกชนแข็งแรง เข้มแข็ง สิ่งหนึ่งที่จะมาช่วยคือ การศึกษา เรากำลังปรับระบบการศึกษาให้เชื่อมโยงอุตสาหกรรม หลักสูตรการศึกษาที่เกี่ยวเนื่อง การฝึกอบรม และหลักสุตรทั้งหลาย เป็นทางลัดในการพัฒนา ขณะนี้สอท.ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง

เรามี 2-3 สถาบันที่ร่วมกันมาตั้แต่ต้น เช่น สถาบันสุรนารี สถาบันสิรินธร ซึ่งสอท.เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง  เราพยายามรวบรวมและอาจก่อตั้งเป็นสถาบัน ( Academy) กลางขึ้นมา

  • การเป็นสมาชิกสนช. มีส่วนช่วยพัฒนาอุสาหกรรมอย่างไร

มีส่วนเกื้อกูลกันได้มากทีเดียว ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการอุตสาหกรรม  สนช.  ผมได้นำกฎหมายที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมทั้งหมดมาดู  และเสนอปรับแก้ให้สอดคล้องกับความน่าจะเป็น  ที่ผ่านมาก็ได้แก้กฎหมายศุลกากร ซึ่งไม่เคยแก้ไขมาในรอบ 90 ปี สามารถแก้ไขได้สำเร็จ

เรายังได้ศึกษากฎหมาย พ.ร.บ.โรงงาน กฎหมายขยะอิเล็คทรอนิกส์ สมุนไพร และอื่นๆ อีกหลายฉบับ  ดีมากที่ได้เชื่อมโยงภาคเอกชน กับการกำกับดูแลเรื่องกฎหมาย ภาคปกครองกับภาคสังคม มีตัวแทนเอกชนเข้าไปดูแลเรื่องกฎหมายให้สอดคล้องกับการปฏิบัติ

  • กับโครงการ อีอีซี สอท.ได้ทำอะไรบ้าง 

เรามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎหมายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ประธานสอท. เป็นกรรมการในคณะกรรมการอีอีซีโดยตำแหน่ง  ขณะนี้ได้กำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีความชัดเจนและเริ่มต้นไปได้พอสมควร กฎหมายผ่านแล้ว นโยบายการลงทุนต่างๆ ก็ชัดเจนขึ้น เชื่อว่าจะดึงดูดการลงทุนเข้ามาได้แน่นอน

  • ความพร้อมต่อการพัฒนาอีอีซีกับภาคอุตสาหกรรมมีแค่ไหน

วันนี้เรามีความพร้อมอยู่แล้วระดับหนึ่ง มีท่าเรือ มีนิคมอุตสาหกรรม แต่อาจยังไม่เพียงพอ ถ้าเข้ามาเยอะ อาจรองรับไม่ไหว ต้องลงทุนเพิ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอ ระหว่างนี้ ก็ต้องใช้เวลาอีกเป็นปีในการสร้าง ช่วงนี้เป็นช่วงของการชักชวนและเตรียมการรองรับ

Industrial Robotics AI Machine Learning 

  • โครงสร้างอุตสาหกรรมยังเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนไปอย่างไร

โครงสร้างอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ 90% ยังเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ที่เหลือเพียง 10% ที่เป็นรายใหญ่ โครงสร้างนี้ยังไม่เปลี่ยน อุตสาหกรรมใหญ่แข็งแรงไม่น่าห่วง แต่รายเล็กและรายย่อย ต้องการการพัฒนา จากฐานสมาชิกสอท. 11,000 ราย ตอนนี้สัดส่วน 90% ยังคงเป็นรายย่อย

  • อะไรคือปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม 

ปัจจัยหลักๆ มีเรื่อง โนฮาว เรื่องไฟแนนซ์ นวัตกรรมใหม่ การวิจัย บ้านเรางานวิจัยยังอ่อน ไม่สามารถแข่งขันได้ วันนี้ข้อดีสถาบันการศึกษาเริ่มตระหนัก ภาครัฐตระหนัก สอท.ตระหนัก เริ่มมีความพยายามเชื่อมโยงกันสถาบันการศึกษาวิจัย ภาคเอกชนไม่มีเงินลงทุน ก็ไม่ได้นำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร

วันนี้อุตสาหกรรมจังหวัด ต้องทำเอ็มโอยูกับสถาบันการศึกษาอย่างน้อยหนึ่งแห่ง ต้องเชื่อมโยงให้ได้  ต้องให้มหาวิทยาลัยเข้ามาพัฒนา ตามที่เราบอก เพื่อผลิตคนให้ตรงกับความต้องการ

การพัฒนาคนวันนี้ยังมีปัญหา เราต้องรื้อโครงสร้างการศึกษาใหม่ เด็กรุ่นใหม่ควรมาดูเรื่อง Robotics เรื่องเทคโนโลยี เรื่องใหม่ๆ มากขึ้น ไม่ใช่เรียนแบบการท่องจำอีกต่อไป เทคโนโลยีใหม่ เด็กต้องเข้าใจเรียนรู้และใช้ให้เป็นประโยชน์ ทุกคนต้องปรับปตัว

  • สถานการณ์แรงงานตอนนี้เป็นอย่างไร

สถานการณ์แรงงานวันนี้ถือว่าดีขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ปัยหาแรงงานต่างด้าวได้ดีขึ้น การขึ้นทะเบียนต่างด้าวที่เป็นระบบ ทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ต่ำลง สถานการณ์แรงงานดีขึ้น ปัญหาแรงงานตอนนี้มีแต่ปัญหาแรงงานระดับกลาง ระดับหัวหน้างานที่ขาดแคลนบ้าง แต่แรงงานระดับล่างปัญหาเบาบางลงไป

  • วางเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมช่วงที่เป็นประธานไว้อย่างไร

อยากเห็นการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง Transformation มองเป้าหมายการเปลี่ยนกลยุทธ์ การพัฒนาการขาย การตลาด ผลิตภัณฑ์

แต่อุปสรรคสำคัญ คือ ความตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องยาก ตอนนี้หลายคนเริ่มตื่นตัว แต่การเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดเร็วมาก การปรับตัวต้องใช้เงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งสอท.เองให้ความช่วยเหลือด้านการเชื่อมโยงต่างๆ แต่ไม่มีกลไกที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

Avatar photo