COLUMNISTS

เลือกตั้งเมื่อ ‘คสช.’ พร้อม?

Avatar photo
18

บทสรุปจากวงหารือระหว่าง คสช.กับ73 พรรคการเมือง และ กกต. ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงหลังการเจรจานานกว่าสองชั่วโมง มีความชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้งเอาไว้สี่ห้วงเวลา คือ เร็วที่สุดอาจจะเป็น 24 กุมภาพันธ์ 2562 หรือมาแบบทางสายกลางขยับออกไปอีก 1 เดือน เป็นวันที่ 31 มีนาคม 2562 หรือ 28 เมษายน 2562 หรือช้าสุด 5 พฤษภาคม 2562

โดยระบุปัจจัยที่จะเป็นตัวแปรรวม 5 ข้อ คือ

  1. ความสงบเรียบร้อยช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
  2. กำหนดเวลาพระราชทานร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.และการได้มาซึ่ง สว.
  3. การผลัดเปลี่ยน กกต.จากชุดเก่าไปชุดใหม่
  4. การกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ให้ซ้ำเวลากับการเลือกตั้งระดับชาติ 
  5. ความสงบเรียบร้อยโดยรวมของประเทศซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระดับไว้วางใจได้

สิ่งที่น่าพิเคราะห์จากคำกล่าวของนายวิษณุคือ มีเพียงเรื่องเดียวที่อยู่นอกเหนืออำนาจของคสช.คือ กำหนดเวลาพระราชทานร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ นอกนั้นเป็นอำนาจและหน้าที่ของคสช.ที่ต้องจัดการไม่ให้เกิดอุปสรรคปัญหาที่ทำให้การเลือกตั้งต้องสะดุด จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรยกมาเป็นเหตุผลหรือข้ออ้างที่จะทำให้การเลือกตั้งต้องขยับออกไป

S 26001463

มาไล่เรียงดูปัจจัยที่อยู่ในอำนาจการควบคุมของ คสช.กันว่า มีเหตุอันควรที่ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปหรือไม่ ตั้งแต่เรื่องของความสงบเรียบร้อยช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็เป็นหน้าที่ของ คสช.ที่จะต้องดูแลให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยราบรื่น ประกอบกับคนไทยทั้งชาติคงไม่มีใครคิดสร้างความวุ่นวายในช่วงพิธีมหามงคลของบ้านเมือง

ส่วนการผลัดเปลี่ยน กกต.จากชุดเก่าไปชุดใหม่นั้น ยิ่งไม่ควรนำมาอ้าง เพราะวันที่ สนช.หนึ่งในแม่น้ำห้าสายของ คสช.ล้างบาง กกต.ออกกฎหมายใหม่โละยกชุด ก็มั่นอกมั่นใจว่าเปลี่ยนคนใหม่ไม่กระทบการจัดเลือกตั้ง ยิ่งเมื่อมีการคว่ำกระดานว่าที่ กกต.ไปจนต้องเริ่มนับหนึ่งสรรหากันใหม่ ก็ยังยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ว่า คนเก่าทำงานได้ ไร้รอยต่อเมื่อคนใหม่เข้าทำหน้าที่

อีกทั้งการจะได้ กกต.ชุดใหม่เร็วแค่ไหน ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ สนช.ด้วยว่าจะมีการล้มกระดานอีกหรือไม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้อย่าบอกว่า คสช.จัดการไม่ได้ เพราะอมพระมาพูดก็ไม่มีใครเชื่อ

การกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ให้ซ้ำเวลากับการเลือกตั้งระดับชาติก็เช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาพล.อ.ประวิตร เคยเปรยว่าจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่สุดท้ายก็ลากยาวมาเรื่อย เพราะกฎหมายที่ต้องแก้ไขยังถูกดองเค็มอยู่ที่กฤษฎีกา ซึ่งกลไกเหล่านี้ก็อยู่ในมือของ คสช. จะให้ช้าหรือเร่งให้เร็วแค่ขยิบตาก็ทำได้ทั้งให้เดินหน้าหรือถอยหลัง

ส่วนเรื่องความสงบเรียบร้อยของประเทศ ก็อ้างกันมาสี่ปีกว่าแล้ว วันนี้ก็ยังไม่เลิกพูดถึง อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ คสช.นำมาใช้เป็นเหตุผลในการไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองด้วย และการไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองก็กลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินกิจกรรมตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ หรือพูดง่าย ๆ ว่า การเลือกตั้งเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมือง

แต่จนถึงวันนี้ คสช.ก็ยังแทงกั๊กไม่ยอมพูดให้ชัดว่าจะปลดล็อกให้เมื่อไหร่ ทั้ง ๆ ที่เรื่องความสงบเรียบร้อยก็พูดออกจากปากนายวิษณุล่าสุดว่า “อยู่ในระดับที่ไว้วางใจได้”

ไล่ข้อมูลอย่างนี้คงเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า ป่วยการจะไประบุเวลาเลือกตั้งว่าจะเป็นกรอบเวลาไหน เพราะสุดท้ายแล้ว จะมีการเลือกตั้งก็ต่อเมื่อ คสช.ทำการดูดและนับกำลังจนเรียบร้อยว่าจะชนะเลือกตั้งหรือเรียกสั้นสั้นว่าเมื่อ คสช.พร้อมเท่านั้น

ภาวนาแค่ว่าอย่าให้เกิดสภาพ “เขาอยากอยู่ยาว” ตามวาทกรรมของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับถูก สปช.คว่ำ เคยออกมาพูดเอาไว้ เมื่อครั้งที่โรดแมปแรกที่ควรได้เลือกตั้งช่วงสิงหาคม 2559 ถูกเลื่อนออกไป เพราะต้องมีการยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ เพราะถ้ามีกิเลส “เขาอยากอยู่ยาวภาค 2” การทำรัฐประหารซ้อนแบบรัฐบาลทหารในอดีต หรือหาเหตุผลประกอบเพื่ออ้างความชอบธรรมคงไม่ได้ไปแบบเนียน ๆ เหมือนที่ผ่านมา แต่จะมีแรงเสียดทานรุนแรงที่ คสช.อาจไม่กล้าคาดการณ์ถึง

โดยส่วนตัวคิดว่า การให้ความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ไม่น้อยไปกว่าการสร้างกติกาทางการเมืองที่เป็นธรรม แต่น่าเสียดายซึ่งที่ คสช.ละเลยการให้ข้อมูลที่เป็นจริงและความรู้กับประชาชน ไม่เคยทำทั้งที่เป็นเรื่องจำเป็นมาตลอดสมัยของรัฐบาลนี้ ทำให้ระบบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งกำลังเป็นเพียงพิธีกรรมที่จะนำไปสู่การแอบอ้างอำนาจประชาชน ไม่ได้มี ความมุ่งหมายที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชนอย่างแท้จริง จึงหวั่นใจว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นการเล่นเกมส์นับนิ้ว หวังผลเพียงรวมตัวเลขเพื่อเป็นบันไดสู่ชัยชนะมากกว่าวิธีการที่ถูกต้อง

ประเทศไทยว่างเว้นการเลือกตั้งมานานเจ็ดปีแล้ว ไม่นับครั้งสุดท้ายที่เป็นโมฆะ สภาพการณ์เช่นนี้สิ่งที่ คสช.ควรแสดงความจริงใจว่ากำลังปูทางไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม คือ รีบปลดล็อกให้นักการเมืองได้ทำกิจกรรมการเร่งเสนอ ความจริงและความรู้ ติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชน และให้การเลือกตั้งเดินไปตาม ครรลองที่ควรจะเป็น ไม่ใช่กำหนดวันเลือกตั้งเมื่อตัวเองดูดจนอิ่ม ใช้อำนาจวางฐานจนพร้อม เพราะประชาชนพร้อมมานานแล้ว

แต่หากยังคิดยึกยักยืดเยื้อ การเมืองยุคคสช 4.0 ก็ควรได้คะแนนอย่างมากเพียง4.0 เท่านั้น นั่นคือสอบตก