Business

แมกโนเลียจับมือ GC ชูนวัตกรรมพัฒนาขยะพลาสติกสู่วัสดุก่อสร้าง

ปัจจุบันคนไทยสร้างขยะเฉลี่ยวันละ 1.14 กิโลกรัมต่อคน ใช้ถุงพลาสติกวันละ 8 ใบต่อคน จากจำนวนประชากรไทยกว่า 68 ล้านคน นั่นเท่ากับว่า จะมีปริมาณถุงพลาสติกวันละ 551 ล้านใบ  ในจำนวนขยะพลาสติกที่ถูกใช้งานในแต่ละวัน ถูกนำมารีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ให้ใหม่เพียง 30%

ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ  จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์และลดปริมาณขยะพลาสติกที่เป็นปัญหาของทั่วโลกไปพร้อมกัน

แมกโนเลีย GC
วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์

“แมกโนเลีย”พัฒนาวัสดุก่อสร้างพลาสติก   

วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด  (MQDC) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่าได้ร่วมกับบริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) เตรียมพัฒนาวัสดุก่อสร้างจากพลาสติกใช้แล้วเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของโครงการ  โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร. ธัญบุรี) และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือศูนย์ RISC

โดยพัฒนาผ่าน นวัตกรรม Upcycling เป็นวิธีการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยนำขยะมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มโดยทำให้เป็นวัสดุใหม่ ที่นำมาใช้ได้ในรูปแบบใหม่ๆ และใช้ได้จริง โดยที่ไม่สร้างขยะกลับคืนสู่วงจรขยะพลาสติกอีกครั้ง

จากความร่วมมือดังกล่าว MQDC  ถือเป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ รายแรกที่นำวัสดุ Upcycling จากขยะพลาสติกมาพัฒนาเป็นวัสดุก่อสร้าง เริ่มจากวัสดุที่ใช้ภายนอกอาคาร โดยจะเริ่มใช้ในโครงการใหม่ของแมกโนเลีย เริ่มโครงการแรกเดอะ ฟอเรสเทียส์ ย่านบางนา ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2562   ด้วยการใช้วัสดุก่อสร้างพลาสติก ประเภท อิฐปูทางเท้า ระยะทาง 5 กิโลเมตร โดยต้องใช้พลาสติกจำนวน 160 ตัน

แมกโนเลีย GC

GC สร้างมูลค่าเพิ่มขยะพลาสติก 

วราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC)  กล่าวว่าความร่วมมือกับพันธมิตรในครั้งนี้  GC เป็นผู้รณรงค์เก็บขยะพลาสติก เริ่มจาก จังหวัดระยอง เพื่อนำมาแปรรูปส่งต่อให้กับแมกโนเลีย ,มก. และ มทร. ธัญบุรี นำไปพัฒนาเป็นวัสดุก่อสร้างต่างๆ เพื่อใช้ในโครงการของแมกโนเลีย เริ่มต้นเก็บขยะพลาสติกจากเกาะเสม็ด 10 ตัน เพื่อนำมารีไซเคิลให้กับแมกโนเลีย

“ความร่วมมือดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นสร้างซัพพลายเชน การนำขยะพลาสติกมาพัฒนาเป็นวัสดุก่อสร้างในธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งมีคุณสมบัติคงทน แข็งแรง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะมีดีมานด์เพิ่มขึ้น  หากผู้พัฒนาโครงการอื่นๆ ดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน มองว่า วัสดุก่อสร้าง Upcycling  จะเป็นวัสดุที่ได้รับการยอมรับในอนาคต”

แมกโนเลีย GC
วราวรรณ ทิพพาวนิช

วราวรรณ กล่าวว่า GC ดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก Circular Economy หรือเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน โดยให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และริเริ่มโครงการ Upcycling Plastic Waste ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการแปรรูปขยะพลาสติกให้กลายเป็นวัสดุที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น สินค้ากลุ่มแฟชั่น เสื้อผ้า กระเป๋า เป็นการสร้างชีวิตใหม่ให้กับขยะพลาสติก

“ปัจจุบันสินค้าพลาสติกยังจำเป็นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ในบางประเภทได้ แต่แนวทางที่ทำได้คือ การใช้พลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อไม่ให้พลาสติกเป็นภาระของโลก”

แมกโนเลีย GC

นวัตกรรม Upcycling แก้วิกฤติขยะพลาสติก

ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์ RISC และผู้อำนวยการศูนย์ Scrap Lab มก. ผู้พัฒนาฉลาก Upcycle ของประเทศไทย กล่าวว่าความร่วมมือนี้จะเป็นการร่วมสร้างประสบการณ์ครั้งสำคัญให้กับการพัฒนาอสังหาฯ และช่วยให้วัสดุ Upcycling เป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศไทย อีกทั้งยังนำไปใช้ในงานออกแบบโดย Scrap Lab คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“นวัตกรรม Upcycling คือการให้ชีวิตใหม่กับของเหลือทิ้ง โดยการแปรรูปให้เป็นวัสดุใหม่ที่นำมาใช้งานได้ใหม่ในรูปแบบอื่นๆ และยังเป็นวิธีแก้วิกฤติขยะพลาสติกที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้ ถึงแม้ว่าการแก้ปัญหานี้โดยหลักการแล้วจะต้องแก้ที่การร่วมมือกันเปลี่ยนวิถีบริโภคและวิธีจัดการขยะอย่างถูกต้องก็ตาม”

แมกโนเลีย GC

ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว GC จะทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อเพิ่มการรับรู้ด้านการจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทางอย่างถูกต้องและร่วมพัฒนากระบวนการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับพลาสติกเหลือใช้

ในขณะที่ทาง มก. ศูนย์ RISC มทร. ธัญบุรี ศูนย์นวัตกรรมและ CSC (Customer Solution Center)ของ GC จะร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมในการแปรรูปขยะ และทาง MQDC จะนำวัสดุดังกล่าวมาใช้ในโครงการ

 

Avatar photo