COLUMNISTS

‘ล้งจีนโมเดล’ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
39168

ความกังวลว่า “ล้งจีน” กำลังครอบงำตลาดผลไม้ไทย ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเป็นระยะตลอดช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา แต่เรื่องก็ผ่านไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีมาตรการ จาก หน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือ ระดับนโยบายต่อการรุกของทุนจีนดังกล่าวแต่อย่างใด     

0903 anh 3

ล่าสุดกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา “ล้งจีน” ถูกกล่าวถึงอีกครั้งโดย  ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ  ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  แจงผลดี ผลเสีย  จากข้อเสนอ “ฟรีวีซ่านักท่องเที่ยว จีนและอินเดีย”  เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในยามเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ตามข้อเสนอของ พิพัฒน์ รัฐกิจประการ รัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา   

ใจความสำคัญของจดหมายที่สื่อบางฉบับนำมารายงาน ระบุว่า  การยกเว้นวีซ่าให้คนจีน และอินเดีย ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่ถูกต้อง   และยังระบุด้วยว่า  ปัจจุบันมีคนจีนจำนวนมากอาศัยช่องว่างของการท่องเที่ยวเข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย คุมกลไกตลาด เช่นการสร้างโกดังเก็นสินค้าเกษตร(ล้ง)ของตัวเอง หรือทำธุรกิจท่องเที่ยวครบวงจร …” สาระจากข้อความดังกล่าวเป็นการยืนยันอีกครั้ง โดยหน่วยงานระดับกระทรวงว่า ”ล้งจีน” คุมกลไกตลาดผลไม้ไทยไว้ในมือแล้ว

เช่นเดียวกับที่ พิเชษฐ์ วริยะพาหะ  อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  ออกมาย้ำถึงผลจากการรุกของ ”ล้งจีน” เช่นกันว่า  การที่ไทยต้องส่งผลไปจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ต้องผ่าน ล้งจีนเท่านั้น ส่งผลให้สหกรณ์ไทยอ่อนแอลง ไม่สามารถแข่งขันได้  หากสหกรณ์ที่เกิดจากการรวมกลุ่มเป็นสมาชิกแข่งขันไม่ได้คงไม่ต้องถามต่อว่า ชาวสวนจะอยู่ในสภาพอย่างไร 

สรุปความคือทั้งระดับ รัฐมนตรี และ ข้าราชการระดับสูง ช่วยกันยืนยันโดยไม่ได้นัดหมายว่า  อิทธิพลทางการค้าในตลาดผลไม้ของ“ล้งจีน” เวลานี้ไปไกลถึงขั้น ขึ้นคุมกลไกตลาดผลไม้ไทยแล้ว  ซึ่งหมายถึงมีอำนาจต่อรองทางการค้า สามารถกำหนดทิศทางราคาได้ แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือเรื่องดังกล่าว รัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงรัฐบาล ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางจัดระเบียบล้งจีนเหมือนมองว่า”ล้งจีน”เป็นการทำธุรกิจการค้าตามปกติเท่านั้น  

ปัญหานักธุรกิจจีนที่เข้ามายึดตลาดส่งออกผลไม้ไทย ด้วยการซื้อล้งไทย ทั้งโดยตรง หรือซื้อผ่านตัวแทน (นอมินี) เพื่อเลี่ยงข้อกฎหมายตาม พรบ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว 2542 มีการพูดถึงมาตั้งแต่ปี 2559  กรมการค้าภายใน เคยตรวจสอบและสรุปว่าโมเดลธุรกิจล้งจีนนั้น จะทำอะไรได้ขนาดไหน หรือทำอะไรไม่ได้ เช่นสามารถรวบรวมผลไม้เพื่อส่งออกได้เท่านั้นห้ามขายในประเทศ แต่ถ้าจะทำการค้าในประเทศต้องขออนุญาตจาก คณะกรรมการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวก่อนเท่านั้น

https s3 ap northeast 1.amazonaws.com psh ex ftnikkei 3937bb4 images 0 5 6 1 14531650 1 eng GB RTX5YHMZ 2048x1152

อิงตามข้อมูลข้างต้น  เท่ากับว่าต่างชาติสามารถ ทำล้งได้ถ้าปฏิบัติตามระเบียบ ซึ่งน่าแปลกใจว่ากฎหมายเปิดทางให้ จีนเข้ามาตั้งล้งได้โดยไม่จำกัดจำนวน  และไม่ได้มีการตรวจสอบว่าการเฮโลเข้ามายึดธุรกิจล้งของคนจีนนั้น จะส่งผลกระทบต่อ คนไทย หรือธุรกิจ และการทำสวนผลไม้ หรือไม่ อย่างไร หรือการไล่ซื้อล้งผลไม้ของทุนจากจีนเข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่

ข้อมูลย้อนหลังไปปีเศษที่  ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ เคยทำไว้ระบุว่า ล้งจีนในไทยมีมากกว่า 1,094  รายแบ่งเป็น ล้งลำไย 473 ราย  ทุเรียน 556 ราย มังคุดอีก 65 ราย ปัจจุบันจำนวนดังกล่าวคงเพิ่มขึ้น    

สถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ล้งจีน นั้นอาจไปไกลกว่า ควบคุมตลาดค้าผลไม้ส่งออกแล้ว ข้อมูล กระทรวงพาณิชย์ ระบุ ปีที่แล้ว ไทยส่งออกผลไม้ไทยมูลค่า  2,656 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 82,336 ล้านบาท) โดย 80  % ส่งไปจีนและอาเซียน และปีเดียวกันนั้นรัฐบาลประยุทธ์1 ประกาศว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางค้าผลไม้โลก ซึ่งโดยศักยภาพเราทำได้    

หากดูจากจำนวนและบทบาทของล้งจีนในไทย ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประเทศไทยคงได้หน้า  แต่ รายได้อยู่ในกระเป๋าล้งจีนที่คุมกลไกส่งออกไว้ในมือ

นอกจากล้งจีนแล้ว คนจีนยังแฝงตัวข้ามาทำธุรกิจ รุกเข้าซื้อธุรกิจอีกหลายประเภทโดยยึด ”ล้งจีนโมเดล” หรือขยายกิจการครบถ้วนครอบคลุมต้นน้ำยันปลายน้ำ เช่นซื้อ

กิจการยาง ใช้เงินทุ่มซื้อกิจการ  ตั้งแต่แผงร้านค้าในศูนย์การค้า หรือ สวนจตุจักร  ซื้อร้านอาหารในเมืองท่องเที่ยว กว้านซื้อคอนโดมิเนียมยกชั้นเพื่อขายให้กับเพื่อนร่วมชาติ ลงทุนทำโรงแรมโดยไม่ขออนุญาต ซื้อมหาวิทยาลัย ทุ่มตัดราคาชิงงานรับเหมาก่อสร้าง  รวมไปถึงแก๊งค์คอลเซนเตอร์ หรือ พวกล้วงกระเป๋าที่เป็นข่าวให้เห็นเป็นระยะๆ ฯลฯ

Chinese
ภาพ : thailandhousingmarket.com

หากมีการสำรวจกันอย่างจริงๆจังๆไม่เพียงธุรกิจค้าผลไม้เท่านั้นที่ถูก ล้งจีนควบคุมกลไกตลาดไว้ในมือ หากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวก็อยู่ในสภาพ กึ่งผูกขาดรายได้เช่นกัน ตั้งแต่ส่งทัวร์มาไทย พาเข้าร้านค้า ร้านอาหาร ที่มาลงทุนดักไว้ในไทย เหลือส่วนต่างไว้ให้คนไทยเล็กน้อย  

ปีที่แล้วการท่องเที่ยวฯ บอกว่าคนจีนมาไทย 10.5 ล้านคน ส่วนปีนี้ แม้อัตราขยายตัวลดลงแต่คาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยว  จะอยู่ราว 11 ล้านคน  ข้อมูลชุดดังกล่าวคาดการณ์ได้เลยว่ารายได้ทั้งหมดไม่ได้ตกอยู่ในประเทศไทย หากถูกตัดตอนจาก โมเดลธุรกิจแบบล้งจีน คือเข้ามาซื้อกิจการดักลูกค้าในไทย

ปัจจุบันแม้ อิทธิพล การเคลื่อนตัวเข้ามาของทุนจีนในบ้านเรายังไม่มากพอจะก่อกระแส “กลัวจีน” เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นประเทศเพื่อนบ้าน  แต่ในอนาคตไม่แน่  หากรัฐบาลยังมอง ”ล้งจีนเป็นเรื่องปกติ  ไม่ควบคุม ไม่ตรวจสอบ ปล่อยให้ ทุนจีน หรือ ทุนจากชาติอื่น  ที่ใช้วิธีเลี่ยงกฎหมาย จ้างโนมีนี บังหน้า และเข้ามายึดครองตลาดแย่งธุรกิจคนไทยเหมือนที่เป็นเช่นทุกวันนี้